“NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” เผยภาพพร้อมข้อความให้ความรู้ในเรื่องสีของดาวตก ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี พร้อมเชิญชวนดู ฝนดาวตกเจมินิดส์ ในคืนวันที่ 13 ธ.ค. และให้สังเกตสีของฝนดาวตก บริเวณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน จ.เชียงใหม่
วันนี้ (9 ธ.ค.) เพจ “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความให้ความรู้ในเรื่องสีของดาวตก ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี โดยระบุข้อความว่า “ดาวตก เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่างๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ
แสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก จะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี เช่น อะตอมแคลเซียม (Ca+) ให้แสงสีออกโทนม่วง อะตอมแมกนีเซียม (Mg) ให้แสงสีฟ้าเขียว อะตอมโซเดียม (Na) ให้แสงสีส้มเหลือง อะตอมเหล็ก (Fe) ให้แสงสีเหลือง ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน (O) และไนโตรเจน (N) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง ดังนั้น สีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงของอะตอมแต่ละชนิด
สำหรับ ฝนดาวตกเจมินิดส์ ในคืนวันที่ 13 ธันวาคมที่จะถึงนี้ คาดว่า มีอัตราการตกมากถึง 150 ดวง/ชั่วโมง แถมไม่มีแสงของดวงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสดีมากๆ ที่จะได้นอนดูและสังเกตสีของฝนดาวตก จะนอนดูที่บ้านหรือมาดูกับ NARIT ที่อ่างเก็บน้ำห้วยลาน จ.เชียงใหม่ ก็ได้ หรือใครไม่สะดวกมาเชียงใหม่เรามีจัดอีกสองที่ ฉะเชิงเทรา และ นครราชสีมา”