xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนแห่ชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ส่งท้ายปี 63

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” เผยภาพ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ช่วงคืน 13 - รุ่งเช้า 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนให้ความสนใจร่วมชมจำนวนมาก

วันนี้ (14 ธ.ค. 2563) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยบรรยากาศชมฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 13 ธันวาคม ชาวไทยทั่วประเทศสนใจติดตามชมฝนดาวตกกันคึกคัก จุดสังเกตการณ์หลักที่อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ประชาชนนับพันร่วมโต้รุ่ง นอนนับดาวตก ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เริ่มเห็นตั้งแต่ก่อนสองทุ่ม เป็นลูกไฟสว่างพาดผ่านทัองฟ้า หอดูดาวภูมิภาคโคราช ฉะเชิงเทราคนแน่นขนัดเช่นกัน

สดร. จัดกิจกรรม “โต้ลม ห่มหนาว นอนนับดาว...ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืน 13 - รุ่งเช้า 14 ธันวาคม 2563 ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ประชาชนมาร่วมชมกันคึกคักแต่หัวค่ำ ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ต่างจับจองพื้นที่รอชมฝนดาวตก และพากันส่องวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ อาทิ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี กาแล็กซีแอนโดรเมดา เนบิวลานายพราน พร้อมฟังบรรยายการดูดาวเบื้องต้น ดาวตกดวงแรกปรากฏให้เห็นในเวลา 19:49 น. ลักษณะเป็นลูกไฟขนาดใหญ่พาดผ่านท้องฟ้าเรียกเสียงฮือฮาดังก้องทั่วบริเวณอ่างเก็บน้ำ จากนั้นมีดาวตกปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่เฝ้ารอชมต่างส่งเสียงเฮกันเป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกันกับที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา มีประชาชนสนใจมาร่วมชมกันอย่างคับคั่งเช่นกัน

สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกโคจรเข้าตัดกับสายธารเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่ทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) มีศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-17 ธันวาคม ของทุกปี และจะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงวันที่ 13-14 ธันวาคม เฉลี่ยประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง












กำลังโหลดความคิดเห็น