สถิติใหม่ ยอดเขาเอเวอเรสต์สูง 8,848.86 เมตร สูงขึ้นกว่าเดิม 86 ซม. ด้านจีน-เนปาล จับมือร่วมประกาศความสูงใหม่ของยอดเขาสูงที่สุดในโลก หลังมีความเห็นขัดแย้งกันมายาวนาน
หลังจากที่มีข้อขัดแย้งด้านความสูงมายาวนานของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก วันนี้ประเทศจีนกับเนปาลได้ข้อยุติในเรื่องความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว
ภายหลังที่มีข้อโต้เถียงกันอย่างยาวนานล่าสุดทั้งสองประเทศได้ยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์แล้ว โดยทั้ง 2 ประเทศจับมือกันประกาศความสูงใหม่ของยอดเขาเอเวอเรสต์ คือ 8,848.86 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 86 ซม.
ความสูงนี้ถือเป็นสถิติใหม่ของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก และเป็นความสูงเดียวกันทั้งจากของจีนและเนปาล หลัง 2 ประเทศ มีความเห็นขัดแย้งในเรื่องของความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์มายาวนาน
โดยจีนได้เคยระบุว่ายอดเขาเอเวอเรสต์สูง 8,844.43 เมตร จากการวัดในปี 2005
ขณะที่เนปาลเคยระบุว่ายอดเขาเอเวอเรสต์สูง 8,848 เมตร จากการสำรวจเมื่อปี 1954 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทั่วโลกนิยมนำไปอ้างอิง
ทั้งนี้ตัวเลขความสูง 8,848 เมตรของเนปาลนั้น ได้รวมหิมะที่ปกคลุมยอดเขาเข้าไปด้วย ส่วนตัวเลข 8,844.43 เมตรของจีน อ้างอิงความสูงเฉพาะยอดเขาที่เป็นหินเท่านั้น
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศหลายสำนักได้รายงานถึงข้อตกลงครั้งใหม่ระหว่างจีนกับเนปาล ในการประกาศความสูงใหม่ของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ตกลงร่วมกันในความสูงเดียวตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังได้ร่วมมือกันปกป้องสิ่งแวดล้อมบริเวณยอดเขา และทำการศึกษาวิจัยร่วมกันอีกด้วย
ยอดเขาเอเวอเรสต์ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาหิมาลัย และเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก เกิดขึ้นจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียนและเปลือกโลกอินเดีย
ยอดเขาแห่งนี้เป็นยอดเขาใหม่ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่แสนปี จึงยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปีละไม่กี่เซนติเมตร เนื่องจากการที่แผ่นเปลือกโลกยังคงชนกันอยู่
ยอดเขาเอเวอเรสต์ถือเป็นจุดแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเนปาลและทิเบต โดยชาวทิเบตเรียกยอดเขาแห่งนี้ว่า “ยอดเขาโชโมลังมา” (Mount Qomolangma)หรือ “จูมู่หลั่งหม่า” (珠穆朗玛) ซึ่งมีความหมายว่า มารดาแห่งสวรรค์ ส่วนชาวเนปาลเรียกยอดเขานี้ว่า “สครมาตา” มีความหมายว่า มารดาแห่งท้องสมุทร
ในอดีตนักสำรวจเรียกยอดเขาแห่งนี้ง่ายๆ ว่า ยอดที่สิบห้า (Peak XV) ส่วนชื่อ “เอเวอเรสต์” ที่เรียกขานกันไปทั่วโลกนั้นตั้งขึ้นภายหลังเพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์จอร์จ อีฟเรสต์ นักสำรวจประเทศอินเดีย
สำหรับความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์นั้น เมื่อ ค.ศ.1952 รัฐนาถ สิกทาร์ (Radhanath Sikdar) นักคณิตศาสตร์และนักสำรวจจากเบงกอล (Bengal) เป็นคนแรกที่ประกาศว่าเอเวอเรสต์คือยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก จากการคำนวณทางตรีโกณมิติ โดยอาศัยข้อมูลที่วัดด้วยกล้องส่องแนว (theodolite) ในที่ที่ไกลจากยอดเขาไป 150 ไมล์ ณ ประเทศอินเดีย
มาในช่วงทศวรรษ 1950 การวัดทำได้แม่นยำขึ้น และได้ความสูง 29,028 ฟุต หรือ 8,848 เมตร ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ใช้อ้างถึงโดยทั่วไป และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเนปาล
อย่างไรก็ดี จากการติดตั้งเครื่องมือที่ยอดเขาของทีมสำรวจสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1999 และวัดความสูงด้วย GPS พบว่าความสูงที่แท้จริงของยอดเขาเอเวอเรสต์ในขณะนั้นคือ 29,035 ฟุต หรือ 8,850 เมตร
ส่วนใน ค.ศ.2005 ทางการจีนได้ส่งคณะเดินทางสำรวจเพื่อคำนวณความสูงของยอดเขา พบว่ายอดเขาเอเวอเรสต์มีความสูง 8,844.43 เมตร (29,017 ฟุต 2 นิ้ว) และอาจมีการคลาดเคลื่อนจากการวัดเล็กน้อย
กระทั่งล่าสุดความสูงของยอดเยาเอเวอเรสต์ได้สร้างสถิติใหม่ที่ระดับความสูง คือ 8,848.86 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของจีนและเนปาล อันเป็นความสูงหนึ่งเดียวของยอดเขาเอเวอเรสต์ในการอ้างอิงครั้งใหม่