ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เมื่อน้ำนองเต็มตลิ่ง ใครๆ ก็ทราบดีว่าเป็นวันลอยกระทง อันเป็นประเพณีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อขอขมาพระแม่คงคา
แต่ในวันเดียวกันนั้น คนทางภาคเหนือจะมีประเพณี “ตั้งธรรมหลวง” หรือ “เทศน์มหาชาติ” ที่ถือเป็นงานบุญใหญ่และจะจัดขึ้นในวันเกี๋ยงเป็ง (วันเพ็ญเดือนหนึ่ง นับแบบล้านนา) หรือวันยี่เป็ง (วันเพ็ญเดือนสอง) ซึ่งแต่ละพื้นที่จะนับเดือนแตกต่างกันไป โดยจะจัดขึ้นตามวัดต่างๆ มีพุทธศาสนิกชนมาร่วมฟังเทศน์มหาชาติมากมาย โดยเชื่อว่าใครได้ฟังครบทั้ง 13 กัณฑ์จะได้ไปสวรรค์ ไม่ตกสู่อบายภูมิ
และสำหรับงานเทศน์มหาชาติของชาวไทลื้อแห่ง “วัดร้องแง” ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ก็ยิ่งมีความพิเศษน่ารักกว่าวัดไหนๆ เพราะที่นี่จะทำ “ดอกไม้พันดวง” ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องบูชาเนื่องในงานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทลื้อที่สืบทอดกันมายาวนาน ดังนั้นในวันเพ็ญเดือนสิบสองที่เพิ่งผ่านมาเราจึงไม่ได้ไปลอยกระทงที่ไหน แต่ตั้งใจมาร่วมงานบุญเทศน์มหาชาติ มาทำดอกไม้พันดวงกับชาวไทลื้อในชุมชนบ้านร้องแงแห่งนี้
"ดอกไม้พันดวง"
จิรันธนิน อุตรชน และเหรียญ สุทธหลวงไวยาวัจกรและปราชญ์ชาวบ้านแห่งวัดร้องแง รวมถึงวรวุฒิ เนตรทิพย์ ผู้ใหญ่บ้านร้องแง ร่วมกันเล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาของชาวไทลื้อแห่งชุมชนบ้านร้องแง รวมถึงวัดร้องแงว่า ชาวบ้านร้องแงมีเชื้อสายชาวไทลื้อที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา ราว พ.ศ.2310 โดยการนำของเจ้าหลวงพญาลิน มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลำน้ำฮ่องแง หรือร่องน้ำซึ่งมีต้นมะแงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก (ต้นไม้ลักษณะคล้ายต้นส้ม) คำว่าฮ่องแงต่อมาได้เพี้ยนเป็น “ร้องแง”และกลายเป็นชื่อที่เรียกกันมาจนปัจจุบัน
วัดร้องแงถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชน ทั้งยังมีวิหารไม้ที่งดงามโดดเด่นตามแบบศิลปะไทลื้อ ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจและความภาคภูมิใจของชาวบ้านร้องแงมาโดยตลอด
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชุมชนแห่งนี้คือ “ประเพณีเทศน์มหาชาติ” ซึ่งเป็นการแสดงธรรมเรื่องมหาชาติ หรือ “เวสสันดรชาดก” ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 28 โดยแสดงไว้เป็นคาถาภาษาบาลี นับได้ 1,000 คาถา จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “คาถาพัน”
ชาวไทลื้อจึงได้ทำ “ดอกไม้พันดวง” หรือ “ดอกไม้ปันโดง” ขึ้นเพื่อบูชาพระคาถาพัน โดยจิรันธนินเล่าว่าชาวบ้านร้องแงได้ทำดอกไม้พันดวงขึ้นทุกปีในช่วงงานบุญเทศน์มหาชาติตั้งแต่เขาจำความได้ ชาวบ้านจะทำดอกไม้พันดวงก่อนวันเกี๋ยงเป็ง หรือก่อนวันเพ็ญเดือนหนึ่ง 1 วัน ทำขึ้นบ้านละ 1 อัน แต่เดิมทำที่บ้านใครบ้านมัน แต่ช่วงหลังนี้จะนำดอกไม้มาทำรวมกันที่วัด โดยจะนำไม้ไผ่มาสานเป็นตะแกรง เรียกว่า “แตะ” หรือ “แต๊ะ” ตามสำเนียงคนเหนือ มีทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยมหรือจะสร้างสรรค์เป็นรูปดาวหรือรูปทรงสวยงามใดๆ ก็แล้วแต่ฝีมือ
จากนั้นก็จะนำดอกไม้สารพัดชนิดที่ปลูกอยู่ตามบ้านมาใส่ในแตะจนเต็ม ไม่จำกัดว่าเป็นดอกอะไร มีกลิ่นหรือไม่ เท่าที่เห็นก็คือดอกไม้ธรรมดาที่เราคุ้นเคยกัน เช่น ดอกบานไม่รู้โรย ดอกทองอุไร ดอกหงอนไก่ ดอกไม้เล็กดอกไม้น้อยก็สามารถนำมาใส่ได้หมด อุปมาเหมือนมีดอกไม้เป็นพันดอก ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาประดับต้อนรับพระเวสสันดรเมื่อเสด็จกลับคืนสู่พระนคร
ไม่เพียงเป็นของบูชาและเครื่องประดับเท่านั้น เพราะเมื่อทำดอกไม้พันดวงเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะรวบรวมมาไว้ในวิหาร ก่อนที่พระสงฆ์จะสวดปลุกเสก จากนั้นแต่ละคนก็ช่วยกันนำดอกไม้พันดวงขึ้นแขวนไว้รอบวิหารเบื้องหน้าพระประธาน และจะแขวนไว้อย่างนั้นตลอดทั้งปีจนงานเทศน์มหาชาติเวียนมาอีกครั้ง เท่ากับว่าดอกไม้พันดวงก็จะได้ผ่านพิธีสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวิหาร จึงเรียกได้ว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งได้เช่นกัน
อีกทั้งกลิ่นของดอกไม้นานาชนิดเหล่านั้นก็จะอบอวลอยู่ในวิหาร ไม่ว่ายามเป็นดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้ง ทำให้ผู้คนที่เข้ามาสวดมนต์ไหว้พระในวิหารได้กลิ่นหอมที่ช่วยให้จิตใจสงบได้ ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง จิรันธนิน กล่าว
“ข้าวพันก้อน”
เมื่อเสร็จจากการทำดอกไม้พันดวงแล้ว ในวันต่อมาซึ่งเป็นวันเกี๋ยงเป็งนั้น ชาวบ้านจะตื่นมาที่วัดแต่เช้ามืด เพื่อมานึ่งข้าวเหนียวเตรียมทำ “ข้าวพันก้อน” เพื่อบูชาพระคาถาพันเช่นเดียวกัน โดยเมื่อหุงข้าวเสร็จแล้วทุกคนก็จะช่วยกันปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนใส่กระบุงใหญ่ให้ครบ 1,000 ก้อน ก่อนจะยกขึ้นมาไว้ในวิหาร ผ่านพิธีสวดของพระสงฆ์ แล้วนำไปตั้งไว้หน้าพระประธาน
ชาวบ้านที่มาทีหลังก็จะนำข้าวเหนียวที่เตรียมมาจากบ้านใส่บาตรพระ แล้วขึ้นมาจุดเทียน ถวายเทียนคู่ดอกไม้คู่เพื่อบูชากัณฑ์เทศน์ แล้วนั่งฟังเทศน์มหาชาติที่จะเทศน์ต่อเนื่องไปตลอดวันจนครบ 13 กัณฑ์
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งในวันนี้ก็คือ ในตอนค่ำก็จะเป็นพิธีการจุด “สีสาย” ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ใหญ่ของครอบครัว โดยจิรันธนินเล่าว่า สีสายจะเป็นเส้นเชือกฝ้ายความยาวราว 1 วา ที่นับเส้นตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงอย่างวัว ควาย ไก่ หมู หมา แมว หรือแม้แต่ทรัพย์สินอย่างรถยนต์ ชาวบ้านจะเตรียมเชือกชุบน้ำมันมาจากบ้าน แล้วนำมาที่วัดเพื่อจุดไฟเผาพร้อมๆ กัน เหมือนเป็นการเผาทุกข์โศกโชคร้ายทิ้งไป บ้างก็แขวนไว้กับเชือกแล้วจุดไฟ บ้างก็วางบนพื้นหญ้าแล้วเผาตามแต่สะดวก
การจุดนั้นจะจุดกันระหว่างการเทศน์กัณฑ์สุดท้ายคือกัณฑ์นครกัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องราวเมื่อพระเวสสันดรจะเสด็จกลับคืนสู่พระนคร ชาวบ้านจะโปรยข้าวสารจำลองการต้อนรับพระเวสสันดร ในวันนั้นยังมีฝนตกพรำราวกับเป็นฝนห่าแก้วในเรื่องราวพระเวสสันดรอีกด้วย
ทุกขั้นตอนในงานบุญนี้ชาวบ้านร้องแงต่างแต่งตัวสวยงามตามแบบชาวไทลื้อมาร่วมด้วยช่วยกันด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้งานประเพณีที่มีความน่ารักเรียบง่ายอยู่แล้วกลับยิ่งน่าประทับใจมากขึ้นอีก
สำหรับในปีนี้ใครมีแผนจะมาท่องเที่ยวเมืองน่าน ก็อย่าลืมมาชมความงาม มารับอากาศเย็นๆ ที่เมืองปัว และอย่าพลาดมาเยือน “วัดร้องแง” เพื่อชมวิหารแบบไทลื้ออันงดงามจนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายในวิหารยังมีของดีคือธรรมาสน์ไม้เก่าแก่คู่วัดทรงโบราณแบบดั้งเดิมของล้านนาที่หาชมได้ยาก และมีสัตตภัณฑ์ (บันไดแก้ว) หรือเชิงเทียนไม้เก่าแก่ของวัดที่งดงามมากอีกด้วย
และแน่นอนว่าสามารถชม “ดอกไม้พันดวง” ที่จะแขวนไว้ที่วัดไปตลอดทั้งปี และหากใครอยากมาร่วมหรือชมงานประเพณีน่ารักๆ ของชาวไทลื้อบ้านร้องแงแห่งนี้ ก็เตรียมตัวไว้ในวันลอยกระทงปีหน้าได้เลย
ผู้ที่ต้องการหรือกำลังวางแผนมาเที่ยวจังหวัดน่าน สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับที่เที่ยว ที่กิน ที่พักในจังหวัดน่านได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานน่าน โทร.0 5471 1217, 0 5471 1218