"เขื่อนลำตะคอง" ชื่อนี้คุ้นเคยกันดีสำหรับคนโคราช หรือคนที่เดินทางขึ้นล่องผ่านภาคกลาง-ภาคอีสานบ่อยๆ เพราะหากใช้เส้นทางถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ช่วงอำเภอสีคิ้วก็จะได้ชมทิวทัศน์ของเขื่อนลำตะคองระหว่างเดินทางไปด้วย โดยที่นี่เป็นเขื่อนดินที่สร้างเสร็จมาตั้งแต่ พ.ศ.2512 ได้ใช้กักเก็บน้ำสำหรับการเกษตรและการอุปโภค บริโภค รวมถึงช่วยลดความรุนแรงของอุทกภัย ที่ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนก็กำลังสูงทีเดียวเป็นผลจากพายุที่พัดเข้าภาคอีสานหลายลูกในช่วงนี้
ครั้งนี้เราไม่เพียงเดินทางผ่านเท่านั้น แต่ยังได้แวะเวียนเข้ามาชมวิวลำตะคองอย่างใกล้ชิด และยังได้มาทำความรู้จักกับ "โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา" เนื่องจากครั้งนี้เราเดินทางมากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่ได้จัดกิจกรรม "เที่ยวอุ่นใจ ไปกับน้อง ENGY" โดยพาผู้โชคดีจากร่วมกิจกรรมจำนวน 30 คน มาท่องเที่ยวในเส้นทางโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 17-18 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ผ่านการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ตั้งเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยนอกจากผู้ร่วมเดินทางจะได้ชมความสวยงามของธรรมชาติตลอดเส้นทางแล้ว ยังได้เยี่ยมชมภายในโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาอีกด้วย
หลายๆ คนอาจเคยผ่านตาแต่ยังไม่เคยรู้จักหรือแวะเข้าไปที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาแห่งนี้ โดยที่ตั้งของโรงไฟฟ้าจะอยู่ก่อนถึงศูนย์บริการทางหลวงลำตะคองไม่ไกล สำหรับชื่อโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 มีความหมายว่า โรงไฟฟ้าลำตะคองเป็นที่พัฒนาแสงไฟด้วยน้ำ
ความพิเศษของโรงไฟฟ้าแห่งนี้คือการเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ตัวโรงไฟฟ้ามองไม่เห็นจากด้านบนเพราะอยู่ลึกลงไปใต้พื้นดินถึง 350 เมตร โดยอยู่ใต้ถนนมิตรภาพนั่นเอง
โรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองมาผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะเป็นการนำกระแสไฟฟ้าที่คงเหลือในระบบในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ นำมาสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคองขึ้นไปกักเก็บสำรองไว้ในอ่างพักน้ำตอนบนบริเวณเขายายเที่ยง แล้วจึงปล่อยน้ำลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามาเติมในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เรียกได้ว่าเป็นดัง "พาวเวอร์แบงค์" ให้แก่ประเทศก็ว่าได้ เพราะถือเป็นแหล่งพลังงานสำรองขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สามารถส่งไฟฟ้ามาเติมให้ทั้งภาคอีสาน ภาคกลาง ไปจนถึงภาคเหนือ และยังเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าเพราะมีการใช้น้ำหมุนเวียนในอ่างเก็บน้ำลำตะคองโดยน้ำไม่สูญหายไปไหน โดยการผลิตกระแสไฟฟ้ายังทำได้ตลอดปีแม้ในช่วงหน้าแล้ง โดยหากน้ำในเขื่อนมีมากกว่า 10% ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้ (ที่ผ่านมาปี 2548 ถือว่าแล้งมากที่สุด แต่ก็ยังมีน้ำในเขื่อนมากกว่า 10%)
วันนี้เนื่องจากเรามาเป็นหมู่คณะ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ลงไปในอุโมงค์ใต้ดินเพื่อชมบรรยากาศและการทำงานของเหล่าเจ้าหน้าที่ในโรงไฟฟ้า รวมถึงได้ฟังการอธิบายถึงการทำงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้อย่างละเอียด แต่สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ผ่านมาในเส้นทางนี้ก็สามารถแวะเที่ยวชมโรงไฟฟ้าได้เช่นกัน แม้จะไม่ได้ลงมาชมในอุโมงค์ด้านล่าง แต่ก็สามารถมานั่งชมวิวเขื่อนลำตะคอง มาแวะกินข้าวที่ร้านอาหารของโรงไฟฟ้า หรือแวะจิบกาแฟที่ร้านกาแฟคุณสายชลได้ด้วย
สำหรับ "ร้านกาแฟคุณสายชล" นี้อยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้าลําตะคองชลภาวัฒนา มีความพิเศษตรงที่ใช้ผลผลิตกาแฟอาราบิก้าแท้ 100% ปลอดสารพิษจากชุมชนดงมะไฟ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งได้รับการรับรองเป็นสินค้า GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยปลูกอยู่ที่เทือกเขาอีโต้ที่ระดับความสูง 400-700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้กาแฟที่นี่มีกลิ่นหอมรสชาติกลมกล่อม และมีระดับสารคาเฟอีนเพียง 1% ใครอยากชิมสามารถแวะเข้ามาได้ที่ร้านกาแฟคุณสายชล ในโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาได้เลย จะสนับสนุนซื้อเมล็ดกาแฟไปชงที่บ้านก็ได้เช่นกัน
แน่นอนว่ามาถึงลำตะคองแล้วจะไม่ไปเยือนทุ่งกันหันลมบนเขายายเที่ยงที่กำลังฮิตก็คงจะไม่ได้ ทุ่งกันหันลมที่ว่านั้นอยู่บนเขาบริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลําตะคองชลภาวัฒนา ดังที่เล่าให้ฟังไปตอนต้นว่าการทำงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้คือการสูบน้ำขึ้นไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขา แล้วปล่อยน้ำลงมาเพื่อผลิตไฟฟ้า ดังนั้นจุดเที่ยวชมอีกแห่งหนึ่งของเราจึงอยู่ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้
อ่างพักน้ำตอนบน หรือที่เรียกกันว่าอ่างบนนั้นตั้งอยู่บนเขายายเที่ยง มีความจุประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถชมวิวได้ทั้งเขื่อนลำตะคองด้านล่าง และทิวทัศน์ของเขาเควสต้าที่มีรูปร่างคล้ายอีโต้บริเวณขอบที่ราบสูงโคราช และเนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดรับลมที่ดี ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจึงได้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 14 ต้น ทอดยาวไปตลอดแนวเขายายเที่ยง
นักท่องเที่ยวนิยมมาชมวิวทิวทัศน์ถ่ายรูปรับลมกันในช่วงเย็น ซึ่งบริเวณนี้จะมีจักรยานไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวราคาชั่วโมงละ 40 บาทต่อคัน ซึ่งเป็นจักรยานของกลุ่มจักรยานท่องเที่ยวบ้านเขายายเที่ยงเหนือ โดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาจำนวนมาซื้อจักรยานให้นักท่องเที่ยวเช่าสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และยังเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวที่เข้ากับบรรยากาศที่นี่มากอีกด้วย ดังนั้นใครผ่านมาอยากให้ลองแวะเที่ยวชมกัน
อีกหนึ่งจุดที่น่าแวะบนเขายายเที่ยงที่เกี่ยวพันกับโรงไฟฟ้าก็คือ "ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง" เป็น 1 ในศูนย์การเรียนรู้ 6 แห่ง ทั่วประเทศ ของ กฟผ. โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานเพื่อร่วมสร้าง “สังคมแห่งภูมิปัญญาด้านพลังงาน” โดยภายในศูนย์การเรียนรู้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 โซน ได้แก่ 1. โซน Plaza Nova สำหรับลงทะเบียนเป็นเหล่าผู้กล้าร่วมผจญภัยในโลกพลังงานร่วมกับหุ่นยนต์ H-bot มาสคอตประจำศูนย์การเรียนรู้ 2. โซน Lamtakong Energy Quest ถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลำตะคองผ่านภาพยนตร์แบบ 7 มิติ 3. โซน New Frontier สนุกสนานกับเกมที่จะให้ผู้เข้าชมได้สวมบทบาทเป็นกระแสลมในทุ่งกังหันลมยักษ์ เรียนรู้พลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าใต้ดินแบบ สูบกลับแห่งเดียวของไทย
4. โซน New Discovery เรียนรู้นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานแบบไฮโดรเจนจากกังหันลมสู่การผลิตไฟฟ้า 5. โซน EGAT Energy Quest ชมภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกถึงปัจจุบัน 6. โซน The Balance ร่วมประลองฝีมือการจัดสรรเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าผ่านโมเดลจำลองโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล และ 7. โซนม่วนซื่นลำตะคอง เรื่องราวการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าและลุ่มน้ำลำตะคองที่พึ่งพาอาศัยกัน ทั้งหมดนี้เข้าชมได้ฟรีตั้งแต่เวลา 09.00 -17.00 น. ปิดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทั้งสามจุดนี้แล้ว ทาง กฟผ. ยังได้แนะนำแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงที่น่าสนใจ คือที่ "ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก" ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่พลิกฟื้นเรือนจำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยที่นี่มีพื้นที่มากถึง 1,055 ไร่ และต้องการมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่า เปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดของผู้ต้องโทษให้กลับตัวเป็นคนดีด้วยการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การทำงานในร้านอาหาร ร้านกาแฟ โดยนักโทษที่อยู่ในทัณฑสถานแห่งนี้จะเป็นนักโทษชั้นดีเท่านั้น โดยจะจำแนกผู้ถูกคุมขังเป็น 3 แดน แดนหนึ่งเป็นผู้ที่ติดยาเสพติดโดยจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดหรือโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง แดน 2 เป็นส่วนที่คุมขังนักโทษที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และแดน 3 เป็นส่วนที่คุมขังนักโทษที่เหลือจำคุก 5 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี
สำหรับจุดท่องเที่ยวในทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริกมีจุดไฮไลท์ได้แก่ แปลงเกษตรอินทรีย์ไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมี ผลผลิตที่ได้จึงปลอดสารพิษ ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยขณะนี้ทางเรือนจำได้ขอหนังสือรับรองคุณภาพของพืชผักปลอดสารพิษ 9 ชนิดจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ และยังมีฟาร์มปศุสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาชีพ อาทิ การฝึกสุนัข โรงเรียนสอนควาย โรงเลี้ยง แพะ กวาง หมู วัว ซึ่งเราสามารถแวะเข้าไปให้อาหารสัตว์เหล่านี้ได้ด้วย รวมถึงมีห้องเรียนธรรมชาติ (สวนไผ่) จุดเด่นในสวนนี้คือน้ำไผ่บรรจุขวด ซึ่งเป็นน้ำจากยอดไม้ไผ่ที่เก็บในเวลากลางคืน
หรือจะแวะจิบกาแฟที่ร้าน Inspire by Princess ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 เป็นโครงการกำลังใจในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีฯ ที่เป็นร้านกาแฟน่ารักๆ และยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขาให้อิ่มแบบเบาๆ ริมบึงน้ำกันด้วย ทั้งนี้รายได้ต่างๆ ในกิจการเหล่านี้ก็จะนำไปปันผลให้ผู้ต้องโทษเพื่อเป็นทุนสำหรับสร้างอาชีพเมื่อพ้นโทษ
Facebook :Travel @ Manager
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager