xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ทุ่ม 842 ล้าน นำร่องผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แห่งแรกใน SEA ที่เขื่อนสิรินธร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กฟผ.ทุ่ม 842 ล้านบาท นำร่องเริ่มโครงการ ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ทุ่นลอยน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร 46 เมกะวัตต์ คาดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบกลางปี 2564 นี้ พร้อมเดินหน้าต่อที่เขื่อนอุบลรัตน์อีก 24 เมกะวัตต์ วางยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับมอบหมายให้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำตามเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. มีกำลังผลิตรวมทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2582 โดยนำร่องโครงการแรก ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

นายนิคม โกเอี่ยม หัวหน้าหน่วย ประสานงานและบริหารทั่วไป โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อฟอ.) จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี” ให้สื่อมวลชนได้ติดตามความคืบหน้าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงแผนงานการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบของ กฟผ. ณ พื้นที่โครงการ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

นายนิคม โกเอี่ยม หัวหน้าหน่วย ประสานงานและบริหารทั่วไป โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร กล่าวว่า โรงฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ถือเป็นแห่งแรกและโครงการนำร่องของประเทศไทย ทั้งเป็นโครงการแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) ที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ

พื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะใช้พื้นที่บนผิวน้ำเขื่อนสิรินธร รวมพื้นที่ทั้งหมด 450 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนผิวน้ำไม่ถึง 1% ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด กำลังผลิตไฟฟ้าได้วันละ 45 เมกะวัตต์ เสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของเขื่อนสิรินธรที่ผลิตได้ 36 เมกะวัตต์

“หลักการทำงาน จะผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) โดยรวม 2 พลังงานคือ พลังงานแสดงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ และพลังน้ำ จากเขื่อนสิรินธร มีระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) มาบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทั้งสองชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ในวันที่สภาพอากาศไม่อำนวยแสงแดดไม่พอ ทำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง”นายนิคม กล่าวและว่า




โครงการนี้ กฟผ.ได้ผู้รับเหมาหรือคู่สัญญาโครงการนี้ ในวงเงิน 842 ล้านบาท เริ่มติดตั้งเมื่อ 16 ธ.ค. 62 คาดว่าจะแล้วเสร็จและปล่อยกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ 16 ธ.ค. 63 นี้ แต่ประสบปัญหาการระบาดโควิด-19 ซึ่งกระทบผู้ผลิตวัสดุหลักที่ประเทศจีนหยุดผลิตไป 2-3 เดือน ไม่สามารถส่งมอบวัสดุได้ตามกำหนด ความคืบหน้าล่าสุดกว่า 57.5% อยู่ระหว่างเร่งติดตั้ง คาดว่าจะสามารถเปิดจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในกลางปี 64 นี้

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร จะเป็นโครงการต้นแบบ นำไปขยายผลสู่ การติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ในเขื่อนของกฟผ.แห่งอื่นทั่วประเทศ ลำดับต่อไปจะติดตั้งที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ 24 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้กฟผ.มีระบบการจัดการที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งจากพลังน้ำ และพลังแสงอาทิตย์ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

นายนิคมกล่าวต่อว่า สำหรับแผงโซลาร์เซลล์เป็นชนิดดับเบิลกลาส เป็นแผ่นกระจกทั้งด้านบนและล่าง ทนความชื้นได้ดี ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ มีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม การติดตั้งไม่กระทบกับพื้นที่เกษตรชุมชนรอบข้าง เพราะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุภาวะโลกร้อน


ทั้งนี้ จากการวิจัยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดเล็ก ที่บริเวณสันเขื่อนสิรินธร พบว่าไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบนิเวศใต้น้ำ เช่น สาหร่ายชนิดต่างๆ รวมถึงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังลดการระเหยของน้ำได้ ซึ่งการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการมากขึ้นในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น