xs
xsm
sm
md
lg

สงขลาสว่างไสว "จรัส Light สัญจร: สงขลาเมืองเก่า"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในย่านเมืองเก่าสงขลา ถือเป็นย่านที่มีบรรยากาศคลาสสิกเปี่ยมเสน่ห์ มีถนนสายเล็กๆ และมีอาคารบ้านเรือนที่เก่าแก่คลาสสิค ผสมผสานกับบ้านเรือนยุคใหม่ กลายเป็นเสน่ห์ของเมืองที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวน่ามาเยือน

ล่าสุดเมืองเก่าสงขลาก็ได้จัดนิทรรศการ ‘จรัส Light สัญจร: สงขลาเมืองเก่า’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ ‘จรัส: แสงสร้างสรรค์’ ริเริ่มและดำเนินการโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ผ่านงานศิลปะ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ตลอดปีพ.ศ.2562 ไปจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)


โครงการ จรัส Light สัญจร: สงขลาเมืองเก่า ครั้งนี้ ได้นำงานของศิลปิน 3 ท่าน คือ นพไชย อังคะวัฒนพงศ์, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ และกฤช งามสม ที่สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้พลังงานส่วนหนึ่งมาจากแผงโซล่าร์เซลล์ หลังจากได้เข้าร่วมในเทศกาล ‘จรัส Light’ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ มาจัดแสดงสัญจรที่สงขลาในครั้งนี้ รวมทั้งนำข้อมูลความรู้ และภาพถ่ายโดยช่างภาพอีกหลายท่านที่ร่วมกันขยายความเข้าใจและความสำคัญของพลังงานในอนาคตจากแสงอาทิตย์ ที่เคยจัดแสดงที่ห้อง จรัส LAB ที่หอศิลปกรุงเทพฯ ในปีที่ผ่านมา โดยโครงการจรัสLight สัญจร: สงขลาเมืองเก่า จะจัดแสดงที่บ้านสงครามโลก ถนนนครนอก และลานทางเดิน ท่าน้ำศักดิสิทธิ์พิทักษ์ สงขลา ระหว่างวันที่ 11 กันยายน - 11 ตุลาคม 2563 นี้

การใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เรื่องพลังงานและพลังงานทดแทน ที่กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านการได้มาซึ่งพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญในความมั่นคงและยั่งยืนของการใช้พลังงานไฟฟ้า อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ในสังคมโลก และเป็นที่ทราบกันดีว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหินและน้ำมันดิบ) จำนวนมหาศาลถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในกระบวนการผลิตไฟฟ้า และก็มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะเรือนกระจก นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ


จากโครงการนี้ หอศิลปกรุงเทพฯ หวังว่าจะสร้างแนวคิด ความตระหนักและทัศนคติที่ดีให้กับชุมชนในเรื่องการใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นจริง ผ่านกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อสร้างพื้นที่ตัวอย่างในการใช้พลังงานทางเลือกในชีวิตประจำวัน และเพื่อสร้างพื้นที่ตัวอย่างในการนำสุนทรียศาสตร์มาเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ (เก่า) กับ เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (ใหม่) และเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก เข้ากับเครือข่ายศิลปินและเครือข่ายชุมชนต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น