“ประวิตร” รักษามรดกไทยไว้ให้ลูกหลาน ประชุม คกก.สั่งเร่งโครงการอนุรักษ์-พัฒนา “กรุงรัตนโกสินทร์-เมืองเก่า” สืบสานวัฒนธรรม-วิถีชีวิต ส่งเสริมการท่องเที่ยว รองรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เมื่อ 9 ก.ย. 63 พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาโครงการที่สำคัญเพื่อเร่งขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าของจังหวัดต่างๆ ตามแผนงานซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวังหลัง เขตบางกอกน้อย กทม. ตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ ระยะทางประมาณ 550 ม. และเห็นชอบโครงการก่อสร้างอาคารปฏิบัติงานพิพิธภัณฑ์ และอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของรัฐ โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมที่มีชุมชนและโบราณสถานตั้งอยู่บริเวณโดยรอบ และเห็นชอบการปรับปรุงท่าเรือโดยสารท่าเตียน และท่าช้าง ภายใต้โครงการปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งได้เห็นชอบโครงการแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนา บริเวณเมืองเก่า ได้แก่ เมืองเก่าจันทบุรี, เมืองเก่าสตูล, เมืองเก่าลพบุรี และเมืองเก่าบุรีรัมย์
พล.อ.ประวิตรได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ และพัฒนาสถานที่ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่าต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกำชับให้คณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนแผนงานให้มีความคืบหน้า อย่างเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสะท้อนถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เพื่อสืบสานความเป็นไทยไว้เป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน ได้มีความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย ทั้งนี้ยังสามารถใช้เป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
พล.อ.ประวิตรยังได้ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงวัฒนธรรม, กทม. และจังหวัดที่มีเมืองเก่าได้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างการตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นคุณค่าโบราณสถาน ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน ได้ให้การสนับสนุนโครงการที่ผ่านความเห็นชอบแล้วควบคู่กันไป เพื่อให้การอนุรักษ์และพัฒนาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และมีความยั่งยืน ตลอดไป