กรมทรัพยากรธรณี เผยความลับ “หินนิ้วมือ” จ.พังงา เป็นแร่ควอตซ์ยุคเพอร์เมียน ถือเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ธรรมชาติสรรค์สร้าง ที่เหมาะต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา
จากกรณีชาวเน็ตแห่แชร์ หินรูปร่างประหลาดบนเกาะคอเขา หมู่ 2 บ้านนอกนา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ที่มีรูปลักษณะคล้ายนิ้วมือคน จนถูกเรียกขานว่า “หินนิ้วมือ” ล่าสุดทาง กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลทางวิชาการของหินดังกล่าว
โดยนายปรัชญา บำรุงสงฆ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี สำนักทรัพยากรธรณี เขต 4 และคณะ ได้ประสานงานกับสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพังงา และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว
สำหรับผลการของการตรวจสอบพบว่า หินที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายนิ้วมือ มีเล็บติด สีขาว ขนาดกว้างยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร สามารถยืนยันได้ว่า “หินนิ้วมือ” เป็นกรวดชนิดแร่ควอตซ์ (Quatz) สีขาว สะสมตัวแบบทุติยภูมิในหินตะกอนชนิดหินทรายเนื้อปนกรวด หมวดหินเกาะเฮ กลุ่มหินแก่งกระจาน ยุคเพอร์เมียน
โดยกรวดที่พบในหินทรายประกอบด้วยแร่ควอตซ์ แร่เฟลด์สปาร์ หินทรายแป้ง และหินแกรนิต ซึ่งในพื้นที่โดยรอบสามารถพบกรวดที่มีลักษณะตามธรรมชาติแบบต่าง ๆ ปะปนในเนื้อหินอยู่ทั่วไป
ดังนั้น “หินนิ้วมือ” ดังกล่าว คือ “แร่ควอตซ์สีขาว” ที่มีคุณสมบัติคงทนต่อการกัดกร่อนสูงและเกิดขึ้นเองโดยกระบวนการทางธรรมชาติ
ขณะที่ในส่วนของพื้นที่ที่พบ “หินนิ้วมือ” นั้นมีความเหมาะสมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ทางธรณีวิทยาต่อไป เนื่องจากมีภูมิประเทศที่โดดเด่นและมีลักษณะธรณีวิทยาที่น่าสนใจสำหรับการศึกษา สำรวจ และค้นหาเพิ่มเติมในอนาคต
สำหรับยุคเพอร์เมียน เป็นยุคสุดท้ายของมหายุคพาลีโอโซอิก อยู่ในช่วงประมาณ 295 – 248 ล้านปี ก่อนที่เปลือกโลกทวีปจะรวมตัวกันเป็นทวีปขนาดใหญ่ หรือมหาทวีปชื่อ “แพนเจีย”(Pangaea)
ยุคนี้ในทะเลมีแนวประการัง และไบโอซัวร์ ส่วนบนบกเกิดการแพร่พันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ที่สำคัญคือในปลายยุคเพอร์เมียนได้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ (Mass extinction) ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งบนบก และในทะเลหายไปร้อยละ 96 ของสปีชีส์ นับเป็นการสิ้นสุดมหายุคพาลีโอโซอิก
###################
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เพจ ตนข่าว แปลงยาว คนข่าวจิตอาสา-Cr:Mongkhol Lunsopha