จังหวัดเพชรบูรณ์ จัดงาน “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” ในระหว่างวันที่ 15-20 ก.ย. 63 ณ วัดไตรภูมิ วัดโบสถ์ชนะมาร และพุทธยานเพชบุระ ภายในงานมีกิจกรรมไฮไลท์ พิธีอุ้มพระดำน้ำหนึ่งเดียวในโลก ร่วมด้วยการแสดงแสง เสียง การแสดงทางวัฒนธรรม คอนเสิร์ต การแข่งขันพายเรือทวนน้ำ คาราวานสินค้า และเทศกาลอาหารอร่อย นับเป็นอีกหนึ่งประเพณีดี ๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย
“ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สืบสานกันมากว่า 400 ปี ถือเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่มีตำนานที่มาอันสุดทึ่งเกี่ยวเนื่องกับ “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมะขามหวาน
พระพุทธมหาธรรมราชา พระพระพุทธรูปคู่เมืองเพชรบูรณ์
พระพุทธมหาธรรมราชา (องค์จริง) ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดไตรภูมิ” ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ ศิลปะลพบุรี (ศิลปะขอม) ปกติแล้วพระพุทธรูปปางนี้เรียกขานกันทั่วไปว่า “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” แต่เฉพาะองค์ที่อัญเชิญมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์มีการตั้งชื่อใหม่ว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา”
พระพุทธมหาธรรมราชา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยชาวเพชรบูรณ์เชื่อกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้พระราชทานพระพุทธมหาธรรมราชา ให้แก่ “พ่อขุนผาเมือง” พระราชบุตรเขย เมื่อครั้งทรงอภิเษกสมรสกับ “พระนางสิงขรมหาเทวี” พระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าหลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นมาแล้ว ได้อัญเชิญองค์พระไปประดิษฐานที่อโรคยศาลหรือโรงพยาบาล ที่ได้สร้างไว้ตามรายทางราชมรรคา
พระพุทธมหาธรรมราชา จมน้ำหายไป
เรื่องราวตำนานขององค์พระพุทธมหาธรรมราชายังมีปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม สรุปความได้ว่า หลังจากพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาว (พ่อขุนบางกลางท่าว) ยกทัพไปตีสุโขทัยคืนจากขอม “สบาดโขลญลำพง” ได้สำเร็จแล้ว พ่อขุนผาเมืองเดินทางกลับมายัง “เมืองราด” ซึ่งเป็นเมืองที่พ่อขุนผาเมืองเคยปกครองก่อนยกทัพไปตีสุโขทัย (สันนิษฐานว่าปัจจุบันอยู่ที่บ้านห้วยโปร่ง ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์)
ความนี้เมื่อทราบถึงพระนางสิงขรมหาเทวี พระนางทรงโกรธแค้นอย่างมาก เนื่องจากพ่อขุนผาเมืองได้ยกทัพไปตีเมืองของพระราชบิดา จึงจุดไฟเผาเมืองราดจนไหม้เป็นจุล และหนีไปกระโดดน้ำตายที่แม่น้ำป่าสัก
ส่วนองค์พระพุทธมหาธรรมราชานั้น เมื่อเมืองราดถูกเผา ก็ได้มีการอันเชิญท่านหนีไฟมาตามลำน้ำสักที่คดเคี้ยว ครั้นพอมาถึงแถวเมืองเพชรบูรณ์แพก็แตก แล้วองค์พระพุทธรูปก็จมน้ำหายไป เหตุการณ์นี้สันนิษฐานว่า เกิดก่อนสมัยสุโขทัย เมื่อราว 800 ปีที่แล้ว
ตำนานสุดทึ่ง พระพุทธรูปผุดในลำน้ำ
หลังเหตุการณ์พระนางสิงขรมหาเทวีเผาเมืองราด กาลเวลาล่วงเลยมาถึงในช่วงกลางสมัยกรุงศรีอยุธยา ณ ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งในยามปกติจะมีปลาแหวกว่ายอยู่เป็นจำนวนมากให้ชาวบ้านได้จับมาเป็นอาหาร แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันนั้นนอกจากปลาจะหายไปจนชาวบ้านจับไม่ได้แล้ว กลับเกิดฝนฟ้าคะนอง ในลำน้ำสักมีน้ำวนเกิดขึ้น จากนั้นได้มีพระพุทธรูปผุดขึ้นมาในลำน้ำสัก
หลังจากนั้นชาวบ้านได้อัญเชิญพระพุทธรูปผุดจากน้ำขึ้นมา แล้วนำไปมอบให้เจ้าเมืองเพื่อให้เก็บรักษาไว้ที่วัดไตรภูมิ ซึ่งก็คือ “พระพุทธมหาธรรมราชา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์นับจากอดีตมาถึงปัจจุบันนั่นเอง
อย่างไรก็ดีหนึ่งปีหลังจากนั้น จู่ ๆ พระพุทธมหาธรรมราชาได้หายไปใน ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ผู้คนต่างออกค้นหา แต่ทว่าก็มาเจอ กระทั่งมีคนบอกว่าให้ไปลองดูบริเวณที่ที่พบท่านครั้งแรก (ปัจจุบันคือวังมะขามแฟบ) ก็ปรากฏว่าเห็นพระพุทธมหาธรรมราชากำลังลอยดำผุดดำไหว้อยู่ในน้ำ ชาวบ้านจึงไปอัญเชิญท่านกลับมาประดิษฐานยังที่เดิม
จากนั้นชาวเมืองเพชรบูรณ์ตกลงกันว่า ทุกวันสารทไทย (เดือน 10) จะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ไปดำน้ำ ณ บริเวณที่เคยพบเจอท่าน ซึ่งคนเพชรบูรณ์ก็ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาโดยตลอดเป็นเวลากว่า 400 ปีแล้ว
ทั้งนี้ชาวเมืองเพชรบูรณ์ต่างเชื่อกันว่า การได้จัดพิธีอุ้มพระดำน้ำ จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้างอกงาม พืชผลทางการเกษตรเจริญสมบูรณ์ โดยผู้ที่จะทำพิธีอุ้มพระดำน้ำจะต้องเป็นระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเปรียบได้กับเจ้าเมืองในสมัยโบราณ
สำหรับเรื่องนี้ ได้มีผู้รู้ให้ข้อสังเกตว่า นี่คือกุศโลบายของคนโบราณที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจ เป็นจุดรวมใจเพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง รวมถึงให้ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังทำให้คนได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
อุ้มพระดำน้ำ ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก
พิธีอุ้มพระดำน้ำในอดีต เริ่มจากประเพณีท้องถิ่น ก่อนยกระดับเป็นงานระดับเทศบาล ระดับจังหวัด โดยมีการประชาสัมพันธ์ ปรับรูปแบบให้อลังการขึ้นสมบูรณ์แบบขึ้น จนมาถึงงานในระดับประเทศกับ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ หนึ่งเดียวในโลก” ซึ่งในอนาคตจะมีการผลักดันให้งานนี้ก้าวไกลต่อไปในระดับอาเซียน
ปัจจุบันทางเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ได้ย้ายสถานที่อัญเชิญองค์พระในพิธีอุ้มพระดำน้ำ มาประกอบพิธีที่ท่านำหน้าวัดโบสถ์ชนะมารแทน เนื่องจากบริเวณวังมะขามแฟบอันเป็นจุดที่พบพระพุทธมหาธรรมราชา มีสภาพตื้นเขิน ไม่สามารถนำเรือเข้าไปทำพิธีได้
สำหรับในปีนี้ 2563 ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ มีกำหนดจัดงาน “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” แบบ New Normal ขึ้นในระหว่างวันที่ 15-20 กันยายน 2563 ในบริเวณ 3 จุดหลัก คือ วัดไตรภูมิ วัดโบสถ์ชนะมาร และพุทธยานเพชบุระ
ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ ดังนี้
15 กันยายน : พิธีรำถวายพระพุทธมหาธรรมราชา ที่พุทธอุทยานเพชบุระ
16 กันยายน : พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีพุทธาภิเษกเหรียญ และ พิธีบวงสรวงเทพยดา ที่วัดไตรภูมิ , อัญเชิญพระ แห่รอบเมืองเพชรบูรณ์ และ พิธีเปิดงาน ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ที่หน้าหอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย
17 กันยายน : พิธีอุ้มพระดำน้ำ ที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร (ไฮไลท์)
18-19 กันยายน : การแข่งขันพายเรือทวนน้ำ ที่ท่าน้ำหน้าวัดไตรภูมิ
18-20 กันยายน : การแสดงสภาวัฒนธรรม เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ที่วัดไตรภูมิ
17-20 กันยายน : การแสดงแสง เสียง ที่พุทธอุทยานเพชบุระ
15-20 กันยายน : เทศกาลอาหารอร่อย ที่พุทธอุทยานเพชบุระ
11-20 กันยายน : คาราวานสินค้า และ คอนเสิร์ต ที่ถนนข้างศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์และสิ่งน่าสนใจในงาน ประเพณีอุ้มพระดำน้ำที่มีที่มาจากตำนานอันชวนทึ่งของการปรากฏอีกครั้งของพุทธมหาธรรมราชาในล้ำนักสัก ซึ่งสำหรับผู้คนที่มาร่วมงานนี้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ศรัทธา ย่อมได้รับอานิสงส์ผลบุญจากจิตใจที่มุ่งมั่น มุ่งทำความดีกลับไป