สกสว. ดันกาดวัฒนธรรมไทยลื้อสู่อีเวนต์ชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจ และธุรกิจของชุมชนในรูปแบบใหม่ นำร่องตลาดวัฒนธรรมไทลื้อ อ.เชียงคำ จ.พะเยา
หลังจากจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ชุมชนต้องดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่แตกต่างจากอดีต หรือ "New Normal" ปรากฎการณ์ดังกล่าวนับเป็นความท้าทายของการกลับมาเปิด “ตลาดวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นตลาดที่เกิดจากงานวิจัยที่นำ “ทุนทางวัฒนธรรม” แปลงเป็น “ทุนเชิงเศรษฐกิจ” ซึ่งการกลับมาตลาดวัฒนธรรมชุมชน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นความพยายามในฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจ และธุรกิจของชุมชนในรูปแบบใหม่อีกด้วย
นายปณิธาน ประมูล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นักวิจัยผู้ประสานงานโครงการในพื้นที่ กล่าวถึงการทำงานตลาดวัฒนธรรมชุมชนไทลื้อว่า เป็นโครงการวิจัยการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชนผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยศิลปากร ทุน “แผนงานพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 (SIP)” ผ่าน สกสว. พื้นที่ทางวัฒนธรรมชุมชนไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยมี รศ.ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร เป็นหัวหน้าโครงการ และ ดร.ธนภณ วัฒนกุล เป็นนักวิจัยหลัก
“คณะวิจัยได้ทำประชาคมระดมสมองกับคนในพื้นที่โดยมีตัวแทนชุมชนทั้ง 5 หมู่บ้านเข้าร่วม โดยใช้แผนที่ทางวัฒนธรรม(Culture Mapping) เข้ามาพูดคุยเพื่อให้คนในชุมชนเห็นชุดข้อมูลหรือทุนทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน และเป็นการสร้างพื้นที่ สร้างโอกาสให้คนในชุมชนเกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการรับรู้และเห็นสถานะในปัจจุบันของทุนทางวัฒนธรรรมชุมชนของตัวเอง เพื่อสามารถนำทุนที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์”
นายปณิธาน เปิดเผยว่า ตลาดวัฒนธรรมไทลื้อ เป็นตลาดเชิงวัฒนธรรม 1 ใน 18 พื้นที่ทางวัฒนธรรมชุมชน ที่โครงการฯ ดำเนินการในลักษณะของการไปกระตุ้นให้เกิดประชาคมวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง ด้วยการศึกษาสำรวจและลงพื้นที่ชุมชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์และส่งเสริมทุนทางศิลปวัฒนธรรมชุมชน รวมทั้งประวัติศาสตร์ของพื้นที่ นำไปสู่แผนที่ทางวัฒนธรรมชุมชนที่ชี้ให้เห็นถึงฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่า
สำหรับการทำงานวิจัยดังกล่าวเป็นการสร้างคุณค่าจากทุนทางวัฒนธรรมชุมชนเป็น “ทุนเชิงเศรษฐกิจ” โดยมีประชาคมวัฒนธรรมในพื้นที่เป็นกลไกขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นำไปสู่การจัดพื้นที่ “ตลาด” ในรูปแบบ“ตลาดวัฒนธรรม” ตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นนั้น ๆ
“ในพื้นที่ชุมชนมีตลาดประจำทั้งตอนเช้า และตอนเย็นเป็นตลาดสดมีของขายทั่วไป ส่วนเรื่องการจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมทางอำเภอจะมีเทศกาลงานสืบสานตำนานไทลื้อ ซึ่งมีการจัดประจำทุกปีต่อเนื่องมากว่า 20 ครั้ง เป็นลักษณะงานประจำปี เป็นรูปแบบงานอีเวนต์จัดในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนพฤษภาคม
“การทำงานวิจัยครั้งนี้ คณะผู้วิจัยนำโจทย์ตรงนี้มาทำงานด้วยการร่วมคิดร่วมออกแบบกับชุมชน เพื่อให้งานอีเวนต์ เหล่านี้กลายเป็นวิถีวัฒนธรรมชุมชนที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เริ่มจากการสร้างความถี่ในการจัดงานจากปีละ 1 ครั้ง ขยับขึ้นมาเป็นเดือนละ 1 ครั้ง แล้วขยับมาเป็นอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
“ปัจจุบันสามารถทำได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการและให้ชุมชนเห็นว่างานวัฒนธรรมหรือกิจกรรมทางวัฒนธรรมสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนได้ทุกวัน ขณะที่ในมุมของนักท่องเที่ยวที่เคยมาเที่ยวงานประจำปีของไทลื้อ เขาก็สามารถมาเที่ยวได้งานวัฒนธรรมชุมชนได้ทุกวันเช่นกัน”
ทั้งนี้ตลาดวัฒนธรรมไทลื้อเป็นการบริหารงานโดยภาคประชาสังคมไทลื้อ อ.เชียงคำ จ.พะเยา โดยมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลหย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ได้แก่ บ้านธาตุสบแวน หมู่ที่ 1และหมู่ที่ 2 ,บ้านหย่วน หมู่ที่ 3 ,บ้านมางหมู่ที่ 4 และบ้านดอนไชยหมู่ที่ 5 , ร่วมกับภาคีอื่น ๆ เช่น อบต.เชียงคำ, อบต.หย่วน , มหาวิทยาลัยพะเยา โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชนสามารถขายสินค้าที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนของตัวเอง เช่น อาหารไทลื้อ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือการแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนไทลื้อ เปิดตลาดตั้งแต่เวลา 16.00-19.00 น.วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยหมุนเวียนไปทั้ง 5 หมู่บ้าน
สำหรับพื้นที่ในการจัดตลาด ทางชุมชนจะใช้จุดสำคัญของหมู่บ้าน เช่น ลานวัฒนธรรมชุมชน ลานวัดในชุมชน หรือ ศูนย์สินค้าโอทอป เพื่อหนุนเสริมให้สถานที่ดังกล่าวเกิดความคึกคักขึ้น โดยพ่อค้าแม่ค้าในตลาดแต่งกายชุดไทลื้อและนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนหรืองานหัตถกรรมชุมชนมาขาย พร้อมทั้งมีดนตรีพื้นบ้าน ศิลปะการแสดง การสาธิตการทอผ้า ทำกับข้าว ทำขนมดั้งเดิมของชาวไทลื้อ ให้ผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวได้ชมด้วย
“ร้านค้าที่เข้าร่วมกว่า 70 ร้านค้า โดยในช่วงปลดล็อคที่ผ่านมาเริ่มมีคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายซื้อของมากขึ้น ส่วนมาตรการในการรับมือโควิด-19 จะมีการตรวจวัดอุณหภูมิจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยให้ผู้ซื้อและผู้ขายสวมหน้ากากตลอดเวลา มีบริการเจลล้างมือ มีการเว้นระยะห่างของการขายสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการที่เราตั้งไว้ทุกตลาด และเพื่อเป็นการคืนกำไรแก่ผู้บริโภคทางตลาดมีโปรโมชั่น คือ คนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดสามารถหยิบสินค้าในชุมชนที่อยู่ตรงโต๊ะปันสุขฟรี คนละ1 ชิ้น เป็นส่วนที่ผู้ขายแต่ละร้านรวบรวมมาวางไว้ ทั้งผักผลไม้ อาหาร งานหัตถกรรม หรือของที่มีในชุมชน ใครมีอะไรก็เอามาวางไว้ตรงกลางเป็นการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชน”
อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจและเก็บข้อมูลการทำงานที่ผ่านมา พบว่า ตลาดวัฒนธรรมสามารถสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ครัวเรือนละ 1,000-2,000 บาทต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มหัตถกรรมที่มีรายได้เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มดังกล่าวต้องรอตลาดภายนอก งานประจำปี หรือนักท่องเที่ยวขาจรเท่านั้น
โดยนายปณิธานยอมรับว่า เมื่อเห็นตัวเลขรายได้การเพิ่มขึ้นของแต่ละครัวเรือนทำให้ผู้วิจัยเห็นถึงศักยภาพของตลาดวัฒนธรรมชุมชน โดยต้องการยกระดับผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์คล้ายกันให้เป็นวิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในอนาคต