นายกฯ เปิดงานเกษตรสร้างชาติ ย้ำความเป็นไทย เร่งสร้างสินค้าตรงต่อความต้องการ หลังทั่วโลกประสบวิกฤตโควิด-19 วอนคนไทย “รวมไทยสร้างชาติ” เหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคอนาคตอาจเกิดขึ้นอีก ยอมรับปัญหาน้ำท่วมต้องเร่งบูรณาการ หากไม่แก้ปัญหาก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทุกปี
วันนี้ (27 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่อาคารเอ็กซิบิชัน ฮอลล์ 9-12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงปาฐกถาพิเศษ และเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เกษตรสร้างชาติ ครั้งที่ 2 และรวมพลคนเกษตรสร้างชาติ” โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ต้อนรับและกล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงเศรษฐกิจมหภาครวมถึงสร้างโอกาสให้แก่พี่น้องเกษตรกรพัฒนายกระดับสินค้าและแสดงศักยภาพผลิตสินค้าเกษตร เพื่อสินค้าเกษตรไทยพร้อมไปตลาดโลก
จากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราผูกติดกับเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความผันผวนตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศให้มีความทันสมัยการผลิตตรงกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตแหล่งผลิตอาหารของประชากรโลก ซึ่งปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงการแข่งขันและมีความขัดแย้งพอสมควร ทุกประเทศก็มุ่งหวังที่จะผลิตสินค้าภายในประเทศโดยเฉพาะสินค้าด้านการเกษตร สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบกลับมาที่ประเทศไทยในฐานะที่เราเป็นประเทศต้นทางผลิตพืชผลทางการเกษตร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีการคิดและทบทวนกันใหม่สร้างความเข้าใจซึ่งเราต้องมารวมไทยสร้างชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันทุกประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ด้านการเงินของประเทศก็มีปัญหา เพราะฉะนั้น เราต้องช่วยกันคิดว่าในวันข้างหน้าเราจะอยู่กันได้อย่างไร ต้องฝากให้ทุกคนช่วยกันคิด ดังนั้น การทำงานในที่ทำแค่กระทรวงเดียวจะต้องทำงานสอดประสานกัน การทำงานต้องคิดในกรอบกว้างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลข้าราชการกระทรวงต่างๆต้องคิดนอกกรอบ ถ้าคิดแต่จะทำเฉพาะในหน้าที่อะไรทำได้ก็ทำ อะไรทำไม่ได้ก็ไม่ทำเอาไว้ก่อน มันไม่ได้แล้วทุกอย่างจะไปไม่ได้เพราะเราทำงานเพื่ออนาคตซึ่งมีทั้งวิกฤตและโอกาส
“โรคระบาดไม่ได้เกิดครั้งนี้เพียงครั้งเดียว วันข้างหน้าอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ เราจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม โดยทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือและร่วมกันสานต่อจากอดีตปัจจุบันไปจนถึงอนาคต ไม่มีใครที่จะเดินหน้าไปถึงจุดนั้นได้โดยไม่มีการแก้ไขไม่มีทางเลย และการแก้ไขจะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งภาคประชาสังคมทุกคน และต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบว่าเรากำลังทำอะไรอยู่พอหรือไม่ และถ้าไม่พอจะทำอย่างไร ทุกคนต้องช่วยกันคิดเพราะรัฐบาลเองก็ต้องบริหารงบประมาณให้เกิดความเหมาะสมให้เป็นไปตามสัดส่วน แม้วันนี้สังคมจะเปลี่ยนไปแล้ว จากสังคมดั้งเดิม แต่ต้องไม่ทิ้งความเป็นอัตลักษณ์ของไทยในการดูแลพ่อแม่พี่น้อง การเคารพครูบาอาจารย์ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน”
นายกรัฐมนตรีกล่าวช่วงหนึ่งว่า การแก้ปัญหา การบูรณาการการจัดการเรื่องน้ำนั้นก็จะต้องมาพิจารณาในองค์รวมทั้งหมด อย่างเช่น กรณีน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือในขณะนี้ รัฐบาลมีความเสียใจและพยายามแก้ไขปัญหาอยู่เนื่องจากส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตร ตนมีความกังวลและห่วงในเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด พยายามที่จะแก้ไขปัญหาซึ่งมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง ในพื้นที่สุโขทัย พิษณุโลกในเวลานี้ก็รู้ดีถึงปัญหาซึ่งก็มีมายาวนานไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการดำเนินโครงสร้างขนาดใหญ่ เมื่อเราไม่สามารถทำอะไรได้ก็จะต้องเจอปัญหาลักษณะนี้เกือบทุกปี แต่วันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้พิจารณาหารือและมอบหมายให้ทางสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สนทช. ไปดำเนินงานมีแผนงานในทุกระดับทุกพื้นที่ทุกจังหวัดว่าจะทำอย่างไรให้มีปริมาณน้ำใช้ที่เพียงพอ ทำอย่างไรจะเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและการดำรงชีวิต และทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จำเป็นต้องสร้างเพิ่มเติม ขจัดปัญหาอุปสรรค ตรงไหนสร้างไม่ได้ เพราะอะไร ปัญหามาจากที่ดินส่วนของประชาชนใช่หรือไม่ และทำอย่างไรถึงจะมีความร่วมมือ เรื่องนี้ก็เห็นใจเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นของตัวเองไม่มาก