ข้อมูลวิชาการเผยข้อเท็จจริง “เห็ดดาวดิน” ไม่ได้หายาก 1 ใน 10 ของโลก ตามที่สื่อหลายสำนักเสนอข่าว หากแต่สามารถพบได้ทุกภาคทั่วไทย โดยในบ้านเราพบ 2 สกุล คือ สกุลเห็ดดาวดิน และสกุลเห็ดเผาะ ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจพบเจอเห็ดดาวดินได้ไม่ยากตามอุทยานแห่งชาติหรือตามป่าอนุรักษ์
จากกรณีมีชาวบ้าน ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ได้พบเห็ดประหลาดรูปร่างคล้ายดาวผุดในสวนหลังบ้าน ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็น “เห็ดดาวดิน” ทำให้สื่อหลายสำนักนำเสนอข่าวเรื่องการพบดังกล่าว ด้วยพาดหัวคล้าย ๆ กันว่า เห็ดดาวดิน เป็นเห็ดสุดหายาก 1 ใน 10 ของโลก หรือที่หนักข้อสุดก็คือ เห็ดดาวดินเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกกันไปเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา ได้มีรายงานการค้นพบเห็ดดาวดินมาทุกปี นับตั้งแต่การค้นพบเห็ดดังกล่าวที่พิจิตรในปี 2561
เรื่องนี้ ทางเพจ “กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้” ภายใต้การดูแลของ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาโพสต์ข้อมูลวิชาการ ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเห็ดดาวดินว่า การที่สื่อหลายสำนักระบุว่า เห็ดดาวดินเป็น 1 ใน 10 เห็ดหายากที่สุดในโลก เป็นคำกล่าวที่เกินจริง เพราะในเมืองไทยสามารถพบเห็ดชนิดนี้ได้ทุกภาคทั่วไทย โดยในบ้านเราพบเห็ดชนิดนี้ใน 2 สกุลด้วยกัน คือ สกุลเห็ดดาวดิน และสกุลเห็ดเผาะ
นอกจากนี้เพจดังกล่าวได้โพสต์รูปเห็ดดาวดินจำนวนมาก พร้อมระบุชนิด และสถานที่ค้นพบต่าง ๆ ทั่วไทย อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นต้น
สำหรับข้อมูลวิชาการ และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเห็ดดาวดินที่ทางเพจ กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ ได้โพสต์นำเสนอให้ความรู้ มีดังนี้
เนื่องจากวันนี้มีประเด็นที่ถูกสนใจในโลกออนไลน์ 2 เรื่อง คือ "ชาวบ้านฮือฮา เจอเห็ดประหลาด นักวิชาการชี้ เป็นเห็ดหายาก 1 ใน 10 ของโลก" และ "ทำความรู้จัก "เห็ดดาวดิน" เป็นเห็ดที่หายาก 1 ใน 10 ของโลก" นั้น ทางกลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ จึงขอออกมาเสนอข้อมูลทางวิชาการของเห็ดดาวดินให้สังคมได้ทราบข้อเท็จจริงของเห็ดกลุ่มนี้กัน ลองมาทำความรู้จักกับเห็ดกลุ่มนี้กันเลยนะครับ
เห็ดดาวดิน (Earthstars) เป็นชื่อเรียกของเห็ดกลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือ เมื่อเป็นดอกอ่อนมีลักษณะกลมถึงเกือบกลมอาจจะมีก้านขนาดเล็กหรือไม่มีก็ได้ แต่เมื่อแก่เต็มที่แล้วเปลือกหรือผนังด้านนอกจะฉีกขาดออกเป็นแฉกคล้ายกับดอกไม้หรือดาว อันเป็นที่มาของชื่อกลุ่มเห็ดดาวดินนั่นเอง และภายในบริเวณกึ่งกลางรอยแฉกมีก้อนกลม ๆ อยู่ตรงกลางภายในเต็มไปด้วยหน่วยสืบพันธุ์ หรือที่เรียกว่า สปอร์ (spores) บรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก
เห็ดดาวดินในประเทศไทยพบอยู่ด้วยกัน 2 สกุลใหญ่ ๆ คือ สกุลเห็ดดาวดิน (Geastrum) และสกุลเห็ดเผาะ (Astraeus)
สกุลเห็ดดาวดิน (Geastrum) อุทัยวรรณและคณะ (2556) ได้รวบรวมรายชื่อเห็ดสกุลนี้ในประเทศไทยซึ่งมีรายงานอย่างน้อย 12 ชนิด ได้แก่
1. เห็ดดาวดิน Geastrum drummondii Berk.
2. เห็ดดาวดิน G. fimbriatum Fr.
3. เห็ดดาวดิน G. lageniforme Vitt.
4. เห็ดดาวดิน G. minus (Pers.) G. Cunn. (ชื่อปัจจุบัน G. quadrifidum DC. ex Pers.)
5. เห็ดดาวดินจิ๋ว หรือ เห็ดดาวดินขอนไม้ (G. mirabile Mont.) พบได้ทั่วประเทศไทย
6. เห็ดดาวดิน G. nanum Pers. (ชื่อปัจจุบัน G. schmidelii Vittad.)
7. เห็ดดาวดิน G. pectinatum Pers.
8. เห็ดดาวดินชมพูหม่น (G. rufescens Pers.)
9. เห็ดดาวดินกลม (G. saccatum Fr.) พบได้ทั่วประเทศ
10. เห็ดดาวหาง (G. stipitatum Solms) (ชื่อปัจจุบัน G. schweinitzii (Berk. & M.A. Curtis) Zeller)
11. เห็ดดาวดินปลอกคอ (G. triplex Jungh.)
12. เห็ดดาวดินใหญ่ (G. velutinum Morgan)
เห็ดสกุลนี้ดำรงชีวิตเป็นเห็ดผู้ย่อยสลาย (saprophytic mushrooms) มักพบกระจายอยู่ตามพื้นที่ที่มีความชื้นสูงและมีเศษซากอินทรีย์วัตถุที่กำลังย่อยสลาย (humus) ทับถมกันอย่างหนาแน่น สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ข้อมูลการนำมาบริโภคส่วนมากไม่มีรายงานว่ารับประทานได้หรือไม่
การกระจายของเห็ดสกุลนี้พบได้ทั่วไปตามป่าเขตอบอุ่น (temperate zone) และป่าเขตร้อน (tropical zone) ทั่วโลกมีรายงานทั้งหมด 97 ชนิด (Catalogue of life, 2019) เท่ากับว่าประเทศไทยพบเห็ดสกุลนี้ถึง 12.37 เปอร์เซ็นต์ของชนิดที่มีรายงานทั่วโลก ซึ่งถึงว่ามีจำนวนมากพอสมควรเลยทีเดียว
การจัดลำดับอนุกรมวิธาน
อาณาจักรเชื้อรา (Kingdom of Fungi)
ไฟลัม Basidiomycota
ชั้น Agaricomycetes
อันดับ Geastrales
วงศ์ Geastraceae
สกุล Geastrum
สกุลเห็ดเผาะ (Astraeus) ในประเทศไทยมีรายงานอย่างน้อย 3 ชนิด (Phosri et al., 2004; 2014)
1. เห็ดเผาะฝ้าย (Astraeus asiaticus C. Phosri et al.)
2. เห็ดเผาะหนัง (A. odoratus C. Phosir et al.)
3. เห็ดเผาะสิรินธร (A. sirindhorniae Watling et al.)
เห็ดสกุลนี้ดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกับรากของพืชในรูปแบบเอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhizal mushrooms) กับพืชบางวงศ์ เช่น วงศ์ยางนา (Dipterocarpaceae) วงศ์ก่อ (Fagaceae) วงศ์สนเขา (Pinaceae) เป็นต้น พบกระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับเห็ดเผาะหนังและเห็ดเผาะฝ้ายยังถูกจัดว่าเป็นเห็ดเศรษฐกิจระดับชุมชนกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย
การกระจายของเห็ดสกุลนี้พบได้ทั่วไปตามป่าเขตอบอุ่น (temperate zone) และป่าเขตร้อน (tropical zone) ทั่วโลกมีรายงานทั้งหมด 11 ชนิด (Catalogue of life, 2019) เท่ากับว่าประเทศไทยพบเห็ดสกุลนี้ถึง 27.27 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถึงว่ามีจำนวนชนิดที่มากเมื่อเทียบกับชนิดที่มีรายงานอยู่ทั่วโลก
การจัดลำดับอนุกรมวิธาน
อาณาจักรเชื้อรา (Kingdom of Fungi)
ไฟลัม Basidiomycota
ชั้น Agaricomycetes
อันดับ Boletales
วงศ์ Diplocystidiaceae
สกุล Astraeus
สำหรับเห็ดหรือจุลินทรีย์กลุ่มอื่น ๆ ยังไม่มีการจัดการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์อย่างมีระบบ (IUCN Red List) ที่มากเพียงพอเหมือนกับที่ใช้ในการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ ส่งผลให้การบ่งบอกว่าเห็ดหรือจุลินทรีย์ชนิดพันธุ์ใดหายากหรือง่ายอาจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและประสบการณ์ของนักวิจัยในแต่ละสาขาเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบัน IUCN (2020) ได้พยายามประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์เห็ดและราซึ่งมีข้อมูลอยู่เพียง 135 ชนิดจากที่คาดว่าทั้งโลกน่าจะมีชนิดพันธุ์เห็ดรามากกว่า 120,000 ชนิด (Mueller and Schmit, 2006) ซึ่งถือว่าเป็นเพียงร้อยละ 0.11 เท่านั้นเอง และมีรายงานเห็ดสกุลดาวดินในบัญชีรายชื่อดังกล่าวเพียง 2 ชนิด คือ Geastrum hungaricum Hollós และ G. pouzarii V. J. Staněk ซึ่งไม่พบในประเทศไทย โดยให้สถานะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ (Data Deficient: DD) ส่วนสกุลเห็ดเผาะไม่มีปรากฏในบัญชีดังกล่าวเลย
ดังนั้นหากจะกล่าวว่าเห็ดดาวดินเป็น 1 ใน 10 ของเห็ดที่พบได้ยากอาจเป็นคำกล่าวที่ออกจะเกินจริงไปเสียหน่อย แต่หากท่านผู้อ่านมีโอกาสได้เข้าไปเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่น ๆ ลองสังเกตดี ๆ อาจพบเห็ดกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นสีสันให้กับการเดินป่าได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
1) อุทัยวรรณ แสงวณิช พูนพิไล สุวรรณฤทธิ์ อัจฉรา พยัพพานนท์ เจนนิเฟอร์ เหลืองสะอาด อนงค์ จันทร์ศรีกุล และ บารมี สกลรักษ์. 2556. บัญชีรายการทรัพย์สินชีวภาพ เห็ด. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), กรุงเทพฯ.
2) Catalogue of Life. 2019. Catalogue of Life – 2019 Annual Checklist. Available Source: http://www.catalogueoflife.org/annual-checklist/2019/, June 29, 2020.
3) IUCN. 2020. The IUCN Red List of Threatened Species. Version 2020-1. Available Source: https://www.iucnredlist.org/search/list…, June 29, 2020.
4) Mueller, G. M. and J. P. Schmit. 2006. Fungal biodiversity: what do we know? What can we predict?. Biodiversity and Conservation 16: 1–5. doi:10.1007/s10531-006-9117-7
5) Phosri, C., R. Watling, M. P. Martin and A. J. S. Whalley. 2004. The genus Astraeus in Thailand. Mycotaxon 89: 453 – 463.
6) Phosri, C., R. Watling, N. Suwannasa, A. Wilson and M. P. Martin. 2014. A new representative of star-shaped fungi: Astraeus sirindhorniae sp. nov. from Thailand. PLoS ONE. 9(5): e71160
##########################################
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เพจ กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้