xs
xsm
sm
md
lg

“สุนทรภู่” กลับมามีชีวิตอีกครั้งที่วัดเทพธิดาราม! ร่วมตามรอยมหากวีศรีรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัดเทพธิดาราม วัดที่สุนทรภูเคยจำพรรษา และที่ตั้งพิพิธภัณฑ์สุนทรภู่
26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 "มหากวีศรีรัตนโกสินทร์" ได้ถือกำเนิดขึ้น

"สุนทรภู่" หรือ “เด็กชายภู่” ได้ถือกำเนิดลืมตาขึ้นมาดูโลก เมื่อเวลาประมาณ 2 โมงเช้า (แปดโมงเช้า) วันจันทร์ เดือน 8 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329

"เกิดวังหลัง โตวังหลวง บวชวัดหลวง ตายวังหน้า"
คือคำบรรยายสั้นๆ เกี่ยวกับชีวิตของท่านสุนทรภู่ กวีเอกของไทย ประโยคดังกล่าวหมายถึงว่า ท่านเกิดในย่านวังหลัง (บริเวณย่านโรงพยาบาลศิริราชปัจจุบัน) เมื่อโตขึ้นได้ทำงานรับราชการเป็นนักปราชญ์ประจำราชสำนักที่วังหลวง อีกทั้งยังได้บวชเรียนที่วัดหลวง (วัดเทพธิดาราม) จากนั้นในบั้นปลายของชีวิตได้ทำงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าในรัชกาลที่ ๔) ในตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นมาคนไทยต่างรู้จักกันดีในนาม “สุนทรภู่” มหากวีศรีรัตนโกสินทร์

สุนทรภู่ กวีเอกของไทยและของโลก
หลังจากท่านสุนทรภู่ถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อ พ.ศ.2398 ต่อมาเป็นเวลากว่า 131 ปี โลกจึงได้ยกย่องท่านให้เป็นบุคคลสำคัญ โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้ท่านสุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรมเมื่อ พ.ศ.2529 ถือเป็นหนึ่งในกวีเอกของโลก และมหากวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่บทกลอนของท่านยังทรงอิทธิพลต่อคนไทยมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ปัจจุบัน ในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุก ๆ ปี ถือเป็น “วันสุนทรภู่” ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกแด่ยอดมหากวีผู้นี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญด้านวรรณกรรมของเมืองไทย และในวันนี้เราจะพาไปตามรอยท่านสุนทรภู่ในสถานที่ที่มีความสำคัญในชีวิตของท่านซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ พร้อมๆ กัน

อนุสาวรีย์สุนทรภู่วัยเด็กที่วัดศรีสุดาราม
“วัดชีปะขาว” แหล่งเล่าเรียนในวัยเด็ก

สุนทรภู่เกิดในย่านบางกอกน้อย และในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม ท่านได้ศึกษาวิชาความรู้ที่ “วัดชีปะขาว” หรือ “วัดศรีสุดารามวรวิหาร” (ปัจจุบันอยู่ในซอยบางขุนนนท์) และวัดแห่งนี้เป็นทั้งที่เรียน ที่เล่น และที่ทำงานของสุนทรภู่ ดังมีปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณ ตอนหนึ่งว่า

"วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ แรกเรียน
ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน หว่างวัด ปะขาวเฮย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้างกลางสวน"


ปัจจุบันภายในวัดศรีสุดารามได้สร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ในวัยเด็กขึ้น ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังรูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) หันหน้าออกสู่คลองบางกอกน้อย เพื่อเป็นที่ระลึกว่าท่านได้เคยเล่าเรียนและใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ ณ ที่แห่งนี้

ด้านหน้ากุฏิสุนทรภู่ ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ ภายในวัดเทพธิดาราม

บริเวณหมู่กุฏิที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์
สุนทรภู่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ณ “พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่” วัดเทพธิดาราม

“วัดเทพธิดาราม” เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญในชีวิตของท่านสุนทรภู่ที่ยังคงมีร่องรอยของท่านหลงเหลืออยู่มากที่สุด โดยเป็นวัดที่ท่านบวชในช่วงเกือบจะบั้นปลายชีวิตเมื่ออายุได้ 54 ปี และจำพรรษาอยู่ถึง 3 ปี ที่นี่ยังคงมีกุฎิสุนทรภู่ที่ยังเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ของท่านเมื่อยังบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ อีกทั้งกุฏิปัจจุบันยังได้ทำเป็น “พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่” ที่แม้มีขนาดเล็กแต่น่าทึ่งด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย

“พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่” เพิ่งปรับปรุงใหม่ได้ราวๆ 3 ปี โดยใช้พื้นที่ของกลุ่มกุฏิเก่าของวัดเทพธิดารามซึ่งท่านเคยจำพรรษาอยู่มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยแบ่งออกเป็น 4 โซนด้วยกัน ได้แก่ “มหากวีสามัญชน” เป็นจุดต้อนรับจุดแรกที่เราจะได้ชมวิดีทัศน์ชีวิตคร่าวๆ ของท่านสุนทรภู่

ส่วนต้อนรับที่นั่งชมวิดีทัศน์ประวัติสุนทรภู่

ยังคงมีข้าวของเครื่องใช้ของภิกษุภู่จัดแสดง
“แรงบันดาลใจไม่รู้จบ” มีข้อมูลไทม์ไลน์เรื่องราวในชีวิตของสุนทรภู่ซึ่งเป็นคน 4 แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑-๔ อีกทั้งยังมีผลงานชิ้นไฮไลท์อย่าง “สมุดไทยดำ” เรื่องพระอภัยมณี ตอนนางสุวรรณมาลีจะฆ่าตัวตาย เขียนด้วยลายมือของท่านสุนทรภู่เอง สมุดเล่มนี้ถูกพบที่กุฏิแม่ชีวัดเทพธิดารามเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันยังคงสภาพสมบูรณ์มาก

“มณีปัญญา”
ห้องนี้แสดงให้เห็นถึงนิสัยรักการเรียนรู้ ช่างสังเกต ชอบเดินทางและพบเจอเรื่องราวแปลกใหม่ของสุนทรภู่ ซึ่งกลายมาเป็นวัตถุดิบในการแต่งวรรณกรรมและบทกลอน ที่สะท้อนเรื่องราวทั้งด้านวิถีชีวิตวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมให้เราเห็นผ่านวรรณศิลป์

เทคโนโลยี AR ที่ทำให้สุนทรภู่กลับมามีชีวิต

นั่งชมท่านภิกษุภู่แต่งกลอน
ส่วนสุดท้าย “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” จัดแสดงในส่วนที่เป็นกุฏิที่ท่านเคยจำพรรษา มีข้าวของบางส่วนที่ท่านเคยใช้ อาทิ บาตร กาน้ำ ถ้วยชาม ปิ่นโต รวมถึงตั่งนอนและตาลปัตรของท่านด้วย

ส่วนที่ว่ามีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนั้น ในห้องต่างๆ จะมีจุดถ่ายรูปที่ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่ทำให้เราถ่ายรูปออกมาแล้วอยู่ในฉากเดียวกับพระภิกษุภู่ อาทิ ในโซนที่ 1 ผู้มาเยี่ยมชมจะได้ถ่ายภาพเหมือนกับมาเยี่ยมท่านภิกษุภู่พร้อมกับพระองค์เจ้าวิลาส หรือกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ผู้ที่ทรงให้ความช่วยเหลือสุนทรภู่มาโดยตลอด ส่วนในโซนที่ 4 จะได้ถ่ายภาพเหมือนเรากำลังนั่งดูท่านภิกษุภู่แต่งกลอนในกระดานชนวน หรือบริเวณด้านหน้ากุฏิที่ท่านออกมาเก็บใบชา เป็นต้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะเป็นคนถ่ายภาพให้เราได้ออกมาราวกับย้อนไปสู่สมัยที่ภิกษุภู่ยังคงมีชีวิตอยู่จริงๆ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 09.00-18.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงร่วมบริจาคตามศรัทธาให้ทางวัด ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองไปเที่ยวกันดู

วัดดุสิดาราม
ตามรอยนิราศสุนทรภู่

มาปิดท้ายด้วยการตามรอยผ่านนิราศของสุนทรภู่ โดยนิราศต่างๆ ที่ท่านแต่งนอกจากจะบอกเล่าถึงเส้นทางที่ดำเนินไปแล้ว ก็ยังบรรยายถึงสภาพแวดล้อมของสถานที่ที่ท่านผ่าน ซึ่งทำให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงชื่อบ้านนามเมืองและทำให้เราเห็นถึงบรรยากาศเมื่อครั้งอดีตอีกด้วย

เริ่มตั้งแต่ “วัดดุสิดารามวรวิหาร” หรือเรียกสั้นๆ ว่าวัดดุสิต ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี สุนทรภู่เคยกล่าวถึงวัดดุสิตในนิราศภูเขาทอง แต่บางคนอาจไม่ทราบเพราะท่านเรียกชื่อเดิมของวัดดุสิตว่า “วัดเสาประโคน” โดยเสาประโคนนั้นเป็นเสาที่ปักเพื่อกำหนดเขตของเมือง และที่วัดแห่งนี้ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ถือว่าอยู่ในเขตเมือง โดยมีเสาประโคนอยู่ใกล้กับพระอุโบสถคลองบางกอกน้อย

ชุมชนบ้านบุ
นอกจากนั้นก็คือที่ “ชุมชนบ้านบุ” ชุมชนเล็กๆ ริมคลองใกล้กับสถานีรถไฟธนบุรี ที่สุนทรภู่ระบุว่า “ยลย่านบ้านบุตั้งตีขัน” ในนิราศสุพรรณ เพราะที่นี่เป็นแหล่งทำ "ขันลงหิน” อันโด่งดังโดยปรากฏหลักฐานในเอกสารสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่าบรรพบุรุษของชาวบ้านเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่ได้อพยพมาตั้งหมู่บ้านในราชธานีใหม่ภายหลังจากเสียกรุง และได้ประกอบอาชีพเดิมคือเป็นช่างบุทำเครื่องทองลงหินหรือเครื่องทองสัมฤทธิ์ และสืบเชื้อสายถ่ายทอดวิชาช่างบุต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบันนั่นเอง
...........................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น