xs
xsm
sm
md
lg

นักสำรวจจีนไต่ระห่ำวัดความสูง "ยอดเขาเอเวอเรสต์" ครั้งใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักสำรวจชาวจีนกับภารกิจวัดความสูงของยอดเขาโชโมลังมา (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)
สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของประเทศจีนรายงานว่า นักสำรวจชาวจีนกว่า 30 คนออกเดินทางจากเบสแคมป์ที่ความสูง 500 เมตรซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอติ้งรื่อ เขตปกครองตนเองทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2563 เพื่อขึ้นสู่ยอดเขาโชโมลังมา (Mount Qomolangma) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อยอดเขาเอเวอเรสต์ (Mount Everest)ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ภารกิจนี้เป็นภารกิจเพื่อวัดความสูงของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกซ้ำอีกครั้ง โดยทีมสำรวจดังกล่าวประกอบด้วยนักปีนเขาและนักสำรวจมืออาชีพจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีน โดยจะติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและพยายามมุ่งหน้าสู่ยอดเขาให้ได้ในเวลาที่เหมาะสมที่สุด

สำหรับ ยอดเขาโชโมลังมา หรือ ยอดเขาเอเวอเรสต์ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาหิมาลัย และเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงราว 8,848 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนและแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ยอดเขาแห่งนี้เป็นยอดเขาใหม่ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่แสนปี จึงยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ปีละไม่กี่เซนติเมตร เนื่องจากการที่แผ่นเปลือกโลกยังคงชนกันอยู่

ยอดเขาเอเวอเรสต์ถือเป็นจุดแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเนปาลและทิเบต โดยชาวทิเบตเรียกยอดเขาแห่งนี้ว่า "โชโมลังมา" หรือ "จูมู่หลั่งหม่า" (珠穆朗玛) มีความหมายว่า มารดาแห่งสวรรค์ ส่วนชาวเนปาลเรียกยอดเขานี้ว่า "สครมาตา" มีความหมายว่า มารดาแห่งท้องสมุทร

ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกที่หลายคนอยากไปให้ถึง (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)
ในอดีตนักสำรวจเรียกยอดเขาแห่งนี้ง่ายๆ ว่า ยอดที่สิบห้า (Peak XV) ส่วนชื่อ "เอเวอเรสต์" ที่เรียกขานกันไปทั่วโลกนั้นตั้งขึ้นภายหลังเพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์จอร์จ อีฟเรสต์ นักสำรวจประเทศอินเดีย

ในด้านความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์นั้น เมื่อ ค.ศ.1952 รัฐนาถ สิกทาร์ (Radhanath Sikdar) นักคณิตศาสตร์และนักสำรวจจากเบงกอล (Bengal) เป็นคนแรกที่ประกาศว่าเอเวอเรสต์คือยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก จากการคำนวณทางตรีโกณมิติ โดยอาศัยข้อมูลที่วัดด้วยกล้องส่องแนว (theodolite) ในที่ที่ไกลจากยอดเขาไป 150 ไมล์ ณ ประเทศอินเดีย

เส้นทางสู่ยอดเขาโชโมลังมาจากฝั่งทิเบต (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)
มาในช่วงทศวรรษ 1950 การวัดทำได้แม่นยำขึ้น และได้ความสูง 29,028 ฟุต หรือ 8,848 เมตร ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ใช้อ้างถึงโดยทั่วไป และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเนปาล อย่างไรก็ดี จากการติดตั้งเครื่องมือที่ยอดเขาของทีมสำรวจสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1999 และวัดความสูงด้วย GPS พบว่าความสูงที่แท้จริงของยอดเขาเอเวอเรสต์ในขณะนั้นคือ 29,035 ฟุต หรือ 8,850 เมตร

ส่วนใน ค.ศ.2005 ทางการจีนได้ส่งคณะเดินทางสำรวจเพื่อคำนวณความสูงของยอดเขา พบว่ายอดเขาเอเวอเรสต์มีความสูง 8,844.43 เมตร (29,017 ฟุต 2 นิ้ว) และอาจมีการคลาดเคลื่อนจากการวัดเล็กน้อย

และล่าสุดในปีนี้ ค.ศ.2020 หรือ พ.ศ.2563 คณะสำรวจชาวจีนก็ได้ออกเดินทางเพื่อไปวัดความสูงของยอดเขาโชโมลังมา หรือยอดเขาเอเวอเรสต์อีกครั้ง ซึ่งความสูงที่วัดได้นั้นจะมีการรายงานต่อไป

คณะสำรวจกับเส้นทางที่ต้องผ่าน (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)

ยอดเขาโชโมลังมา หรือเอเวอเรสต์ยามอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)

ยอดน้ำแข็งรูปทรงแปลกตาบนธารน้ำแข็งระหว่างเส้นทาง (ภาพ : สำนักข่าวซินหัว)

......................................................


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น