xs
xsm
sm
md
lg

"ตู้ปันสุข" จากคำปรามาส สู่เทรนด์ใหม่การปันน้ำใจช่วยผู้ยากไร้ช่วงโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตู้ใส่สิ่งของต่างๆ เพื่อให้และแบ่งปันแก่ผู้ยากไร้
โรคระบาดโควิด-19 ที่ประเทศไทยเผชิญกันอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ยังคงส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาในหลายๆ ด้าน อย่างเช่นเรื่องการดำรงชีวิตของผู้คน มีผู้คนตกงาน ไม่มีรายได้ และทำให้ต้องใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างลำบากยากแค้น

ชาวบ้านมาหยิบสิ่งของจากตู้ปันสุข (ภาพจากเฟซบุ๊ก Supakit Bank Kulchartvijit)
แต่ถึงแม้ในยามวิกฤตเช่นนี้ คนไทยก็ยังมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมชาติด้วยกันเสมอ อย่างที่เมื่อมีการจัดทำโครงการ "ตู้ปันสุข" ขึ้นมาก จากแนวความคิดของนายสุภกฤษ กุลชาติวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและเจ้าของเพจ รู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ ได้ผุดไอเดียโครงการ "ตู้ปันสุข" ซึ่งเป็นโครงการดีๆ ที่นำมาจากโครงการ Pantry of Sharing จากประเทศฝรั่งเศส โดยไอเดีย “ตู้ปันสุข” ให้ชาวบ้านนำอาหารมาแบ่งปันใส่ตู้กับข้าว เพื่อแบ่งปันสำหรับบุคคลที่ยากไร้และขาดแคลนในช่วงโควิด-19 ที่กำลังระบาด โดยได้ทำตู้ปันสุขทั้งหมด 5 ตู้ แล้วนำไปตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ได้แก่ ตู้ที่ 1 สุขุมวิท 71 ตู้ที่ 2 ภายในตลาดบางคอแหลม ตู้ที่ 3 เพชรเกษม 54 ตู้ที่ 4 วิภาวดี 60 และตู้สุดท้าย บ้านแลง จังหวัดระยอง

ชาวบ้านมาหยิบของแล้วขอบคุณผู้มีน้ำใจ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Supakit Bank Kulchartvijit)
เมื่อได้มีการทำโครงการ “ตู้ปันสุข” นี้แล้วนำไปตั้งตามจุดต่างๆ โดยเริ่มแรกการตั้งตู้นี้ โดนดูถูก ปรามาส จากชาวเน็ตหลาย ๆ คน ว่าทำแบบนี้ของหายหมดยกตู้แน่นอน คนต้องกวาดของเกลี้ยงตู้ หรือจะโดนกวาดเอาไปขาย หรืออาจถูกคนยกไปทั้งของทั้งตู้ แต่เมื่อมีการนำตู้ไปจัดตั้งตามจุดต่างๆ กลับไดรับบทพิสูจน์ที่ว่าคนไทยยังมีน้ำใจต่อกัน และได้รับคำชื่นชมจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมาก มีผู้ใจบุญร่วมนำสิ่งของมาใส่ในตู้ปันสุขกันเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ยากไร้และขาดแคลนสิ่งของต่างๆ ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนผู้ที่มาหยิบสิ่งของจาก “ตู้ปันสุข” ไปใช้นั้นต่างก็หยิบไปใช้ตามความต้องการอย่างรู้จักพอเพียง และกล่าวขอบคุณถึงผู้ที่มีน้ำใจบริจาคสิ่งของต่างๆ มาให้



ด้านจังหวัดกระบี่นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ได้ร่วมระดมสมองคณะผู้บริหาร ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือชาวกระบี่ที่เดือดร้อนจากมาตรการ Lockdown จึวเกิดเป็นโครงการ “ตู้กับข้าวชาวกระบี่” สะพานบุญระหว่างผู้ให้และผู้รับ เริ่มครั้งแรกวันที่ 16 เมษายน 63 จำนวน 8 อำเภอ 211 จุด จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 30 วัน และเตรียมเพิ่มตู้กับข้าวชาวกระบี่ทุกหมู่บ้าน 389 แห่ง โดยให้เงินตั้งต้นค่าอาหาร 1,000 บาททุกหมู่บ้าน ผ่านผู้จัดการตู้กับข้าว ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ที่เดือดร้อน ตกงานให้อิ่มท้อง เนื่องจากไม่มีใครตอบได้ว่า การระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่

ตู้แบ่งสุข ตั้งอยู่ที่วัดศรีคุณเมือง (บ้านเหล่า) เมืองอุดรธานี
จากการทำโครงการ “ตู้ปันสุข” นี้ขึ้นมาแล้วได้รับกระแสตอบรับที่ดี จึงทำให้มีผู้คนที่มีน้ำใจอีกเป็นจำนวนมากได้ร่วมกันจัดทำตู้ใส่สิ่งของเพื่อแบ่งปันให้กับผู้ยากไร้ในอีกหลายๆ ที่ อย่างเช่นที่ คณะสงฆ์วัดศรีคุณเมือง (บ้านเหล่า) เมืองอุดรธานี ได้จัดทำ “ตู้แบ่งสุข” โดยได้มีการยกตู้กับข้าวไปตั้งไว้ด้านหน้าทางเข้าวัด ตรงข้ามตลาด ซึ่งสิ่งของที่นำมาใส่ในตู้ก็ได้มาจากการที่พระสงฆ์เมื่อออกบิณฑบาตแล้วมีสิ่งของที่เหลือ ก็จะนำสิ่งของจากการบิณฑบาตมาใส่ตู้ เพื่อส่งต่อให้กลุ่มคนที่ยากลำบากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้กินอิ่ม

สิ่งของหลากหลายอย่างที่ใส่ในตู้แบ่งสุข
ครั้นเมื่อมีการประชาสัมพันธ์ลงสื่อออนไลน์และมีการแชร์ต่อกันเป็นวงกว้าง ชาวบ้านรู้ข่าวต่างก็นำอาหาร ผลไม้ น้ำดื่ม สิ่งของต่างๆ มากมายมาเติมใส่ตู้ เพื่อแบ่งปันให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน ซึ่งได้มีการเขียนข้อความว่า ตู้แบ่งสุข คณะสงฆ์วัดศรีคุณเมือง หยิบแต่พอดี หากมีก็แบ่งปั่น

ตู้เติมใจให้กัน ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ถนนพระราม 5 (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Army times Thailand)
ทางด้านเฟซบุ๊กเพจ Army times Thailand ก็ได้เผยแพร่เรื่องราวที่ทางโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้จัดทำ “ตู้เติมใจให้กัน” แล้วนำไปตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนฯ ถนนพระราม 5 เพื่อแบ่งปันอาหารให้ผู้ยากไร้ระหว่างวิกฤตโควิด-19 ให้ประชาชนที่ขาดแคลนสามารถนำไปบริโภคได้ โดยได้เขียนข้อความไว้ว่า “หยิบแต่พอดี ถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน”

ตู้แบ่งปันตั้งอยู่ที่สี่แยกหยี่เต้ง จังหวัดภูเก็ต (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจเหยี่ยวข่าว ภูเก็ต Newshawk Phuket)
อีกทั้งทางเฟซบุ๊กเพจเหยี่ยวข่าว ภูเก็ต Newshawk Phuket โดยคุณสุชาติ คงเมือง ได้ลงภาพข้อมูลเรื่องราวของการทำตู้แบ่งปันเช่นเดียวกัน โดยได้มีการทำเอาตู้แบ่งปันสิ่งของที่จัดทำขึ้น ไปตั้งอยู่ที่สี่แยกหยี่เต้ง จังหวัดภูเก็ต โดยหวังให้ตู้แบ่งปันนี้เป็นส่วนช่วยเติมพอได้หายหิว โดยที่ตู้มีการเขียนข้อความไว้ว่า เชิญหยิบฟรี หยิบแต่พอดี ถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน

ตู้แบ่งปัน เชิญเติม ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย
ด้านอาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ได้นำ “ตู้แบ่งปัน เชิญเติม” ไปตั้งเอาไว้ที่บริเวณประตูทางเข้าวิทยาลัยฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธานำอาหารแห้งและของใช้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมาใส่ให้ผู้ยากไร้-คนได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 เปิดหยิบใช้ตามสะดวก โดยมีการเขียนข้อความเอาไว้ด้วยว่า ให้เลือกนำไปใช้แต่พอดี เพื่อแบ่งปันให้คนอื่นๆ ที่ประสบกับความลำบากในช่วงนี้ด้วย

ชาวบ้านนำของมาใส่ตู้แบ่งปัน เชิญเติม
เมื่อนำตู้เปล่าซึ่งเป็นตู้อะลูมิเนียมติดกระจกใสมาตั้งก็มีผู้ใจบุญนำอาหารแห้ง น้ำดื่ม ของใช้ต่างๆ เช่น เจลแอลกอฮอล์ ข้าวสาร อาหาร ขนม นม น้ำดื่ม รวมถึงผลไม้ ฯลฯ มาใส่ไว้ในตู้เป็นจำนวนมากจนเต็มตู้ต่อเนื่อง และผู้ที่เดินทางสัญจรผ่านไปมารวมถึงแรงงานที่ทำงานก่อสร้างแล้วเสร็จ และผู้ยากไร้ที่ทราบข่าว ต่างพากันไปเปิดตู้หยิบเอาอาหารและของใช้ต่างๆ ภายในตู้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน บางรายพากันมาแบบครอบครัวพ่อแม่ลูกเพราะขาดแคลนข้าวปลาอาหาร ซึ่งตู้แบ่งปัน เชิญเติม ดังกล่าวไม่มีคนเฝ้าเพื่อรับของหรือแจกจ่าย แต่เป็นการบริจาคและรับโดยสมัครใจ แต่ได้เลือกสถานที่ตั้งเป็นประตูทางเข้าวิทยาลัยที่มียามรักษาการณ์อยู่ที่ตู้ยามคอยดูแลให้อยู่ห่างๆ เท่านั้น

ชาวเพชรบุรีมีน้ำใจช่วยกันทำตู้ปันสุข สู้ภัยโควิด-19
ทางด้านคนจังหวัดเพชรบุรีอย่าง นายธีรวัฒน์ รัตนสิงห์ นายวสันต์ อาทร (หมูแผ่นดินไทย) นายธีพงศ์ ครึกครื้น และกลุ่มเพื่อนๆ ได้นำตู้แช่เก่าที่ไม่ได้ใช้งานมาปรับเปลี่ยน ตั้งที่แยกต้นมะม่วง ต.ต้นมะม่วง อ.เมือง จ.เพชรบุรี

ตู้ปันสุข สู้ภัยโควิด-19 ตั้งอยู่ที่บริเวณศาลารอรถหน้าศูนย์อีซูซุเก่า จ.เพชรบุรี
ภายในมีสิ่งของเครื่องใช้ เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำดื่ม ข้าวสาร แป้งกระป๋อง ปลากระป๋อง มาม่า และขนมสำหรับเด็กๆ ที่มีผู้ใจบุญร่วมบริจาคจำนวนมากมาใส่ไว้เต็มตู้ เพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนมาเปิดหยิบของในตู้ไปใช้กินและใช้ในครอบครัวได้เลย โดยขอให้หยิบไปแต่พอดี เผื่อแผ่คนข้างหลังด้วย

จังหวัดอุดรธานีนำตู้กับข้าวออกมาตั้งไว้บริเวณด้านหน้าจวน
ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ก็ได้นำตู้กับข้าวออกมาตั้งไว้บริเวณด้านหน้าจวน พร้อมกับเอาสิ่งของอุปโภค เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำเปล่า มะม่วง และข้าวสาร ใส่ไว้จนเต็ม เตรียมไว้รอให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากทุกสถานการณ์มาหยิบไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการประทังชีวิตในช่วงนี้ และจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ตู้ปันสุขของจังหวัดอุดรธานี

สำหรับตู้ปันสุข ตู้แบ่งสุข หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ขณะนี้ในพื้นที่อุดรธานีพบว่าประชาชนผู้มีจิตเป็นกุศลได้นำออกมาตั้งไว้แล้วหลายจุดเช่น หน้าวัดบ้านเหล่า หน้าร้านอาหารเช้าราชาไข่กระทะ หน้า บ.เอ็งจุ่งฮวด (ข้างทุ่งศรีเมือง) และหน้าโรงเรียนอุดรคริสเตียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นไวรัลดีๆ ที่ชาวอุดรธานีกำลังทำตามต่อๆ กัน


ส่วนชาวพิษณุโลกหลายรายก็ได้ตระเวนนำเครื่องอุปโภค-บริโภค มาเติมเต็มตู้ส่งต่อ ตู้ปันน้ำใจ ที่เริ่มติดตั้งหลายจุดในตัวเมือง เพื่อแบ่งเป็นอาหารและน้ำใจให้ผู้ขัดสนขดแคลน ขณะที่ผู้รับก็ทยอยมารับไม่ขาดสาย ต่างขอบคุณน้ำใจที่มีให้กัน พร้อมกับเขียนป้ายให้ผู้รับ “หยิบไปแต่พอดี เหลือมาแบ่งปัน” เพื่อเหลือเผื่อให้บุคคลอื่นที่ขัดสนสามารถมารับของได้ตลอดโดยจังหวัดพิษณุโลกได้นำร่องตั้ง 12 ตู้ทั่วตัวเมืองพิษณุโลก ดังนี้ 1. ตู้หน้าร้านดอกไม้พฤกษชาติ1 ลังวัดใหญ่ 2. ตู้หน้าโรงพยาบาลสัตว์กิตติคุณ บึงพระจันทร์ 3. ตู้หน้าร้านรังนกน้อยในไร่ส้ม ตรงข้ามโรงแรมไพลิน 4. ตู้หน้าร้านคานาอัน 5. ตู้หน้าบ้าน สส.อ๋อง ตรงข้าม รร. อู่ทอง 6. ตู้หน้าบ้านท่านรอง ผวจ.ไพบูลย์ 7. ตู้หน้าร้านสวยบิวตี้ วัดอรัญญิก 8. ตู้หน้าสำนักงานป้องกันควบคุมโรค( หัวรอ ) 9. ตู้หลังวัดคูหาสวรรค์ 10. ตู้ตลาดร่วมใจ 11. ตู้ชุมชนเทพารักษ์ 12. ตู้ย่านศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก และตู้ปันน้ำใจหน้าสภ.เมืองพิษณุโลก และจะมีการเพิ่มจุดตู้ส่งต่อพิษณุโลกขึ้นมาอีกอย่างต่อเนื่อง


แต่เมื่อมีตู้แบ่งปันสิ่งของออกมาตั้งในหลากหลายที่แล้ว แม้ว่าในหลายที่ผู้คนจะมีความเข้าใจในเจตนาการแบ่งปันที่ดี คือให้หยิบแต่พอใช้ และเหลือแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นบ้าง ถึงกระนั้นก็ยังมีบางพื้นที่ที่เมื่อมีการนำตู้ไปตั้งแล้วกลับโดยผู้คนมาหยิบจนหมดเกลี้ยง โดยไม่ได้อ่านข้อความที่เขียนไว้ อย่างเช่นที่ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อมีการนำตู้กับข้าวมาวางไว้ พร้อมจัดชุดข้าวสารอาหารแห้งมาวางไว้ให้ พร้อมเขียนข้อความเอาไว้ว่า “โครงการแบ่งปัน ตู้กับข้าว กรุณาหยิบพอประมาณ ฟรีครับ” ซึ่งชาวบ้านที่รู้ข่าวต่างพากันมาหยิบของกันคนจะเป็นจำนวนมากต่อคน ทำให้ของที่เตรียมมาไว้ให้หมดจากตู้เพียงในระยะเวลาไม่ถึง 1 นาที ทำให้คนที่มาทีหลังไม่ได้ของ ไม่ได้รับการแบ่งปันนี้ เรียกว่าก็คงต้องขอความร่วมมือผู้มาหยิบของ โปรดเข้าใจเจตนาที่ดีของโครงการ และมีจิตคิดแบ่งปันผู้อื่นด้วยเหมือนกัน





กำลังโหลดความคิดเห็น