xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมิติ “อุทยานแห่งชาติยุคใหม่” พัฒนาทันสมัย ก้าวไกลสู่สากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol ของอุทยานแห่งชาติตาดหมอก (ภาพ : เพจอุทยานแห่งชาติตาดหมอก)
หากย้อนเวลากลับไปสัก 20-30 ปีก่อน เราจะนึกถึงภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ผืนป่า เดินแบกเป้ สะพายปืน ฝ่าดงพงไพรออกลาดตระเวนตรวจตราคลอบคลุมทุกตารางนิ้ว เพื่อสำรวจร่องรอยสัตว์ป่า รวมทั้งปราบปรามการกระทำผิดของผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาและได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบลาดตระเวนให้ทันสมัย โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งในประเทศไทยเรียกระบบนี้ว่า “การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ” หรือที่เรียกกันว่า “สมาร์ท พาโทรล” (smart patrol ) คือระบบการเดินลาดตระเวนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพในการป้องกัน ปราบปราม และการจัดการพื้นที่ โดยการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อวางแผนลาดตระเวน การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประมวลผลในมาตรฐานเดียวกันทุกที่

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า เมื่อปี 2561 ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาการค้าสัตว์ป่า ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นไทยได้นำเอาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ สมาร์ท พาโทรล มาใช้ทำงานเพื่อการลาดตระเวนป่า และมีผลชี้วัดออกมาคือปริมาณสัตว์ในป่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นทางสถานทูตอังกฤษได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปถ่ายทำสารคดีในอุทยานแห่งชาติตาพระยา โดยใช้ระบบสมาร์ทพาโทรล ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อุทยานแห่งชาติจากทั่วโลกที่ได้รับเกียรติในการนำมาเสนอในที่ประชุมดังกล่าว

“ขณะนี้เราเดินมาถูกทางแล้ว แม้แต่คณะวนศาสตร์เราเพิ่งได้มีการลงนาม MOU เกี่ยวกับสมาร์ท พาโทรลเข้าไปอยู่ในหลักสูตร ซึ่งผมเชื่อว่าการลาดตระเวนเชิงคุณภาพนี้จะช่วยเหลือได้เต็มอัตราและเต็มพื้นที่ โดยจะสามารถช่วยลดปัญหาการบุกรุกป่าได้”

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ผืนป่าออกลาดตระเวนทุกตารางนิ้ว (ภาพ : เพจอุทยานแห่งชาติตาดหมอก)
ขณะเดียวกันคาดว่าภายในปีนี้จะครบทุกพื้นที่ สำหรับในการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยติดตาม และคอยให้คำแนะนำตลอด รวมถึงมีอุปกรณ์เครื่องมือหลายหลากหลาย ที่ช่วยลดการบุกรุกการตัดไม้ อย่างเช่น การนำเทคโนโลยีระบบกล้องเอ็นแคป (NCAPS) มาใช้โดยติดตั้งซุกซ่อนกล้องไว้ตามจุดเสี่ยงต่างๆในพื้นที่อุทยาน

เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่าและการกระทำผิดในเขตอุทยานแห่งชาติ (ภาพ : เพจอุทยานแห่งชาติตาดหมอก)
“การติดตั้งกล้องเอ็นแคปนี้เรียกได้ว่าเป็นมาตรการจับก่อนตัด เพราะว่าเวลามีผู้ลักลอบเข้าไปในพื้นที่ เราก็จะสามารถเห็นได้ทันที โดยที่ผู้ลักลอบคนนั้นจะมิอาจรู้ตัวได้ ซึ่งคนที่จะรู้ตำแหน่งการติดตั้งกล้องนั้นก็คือคนติดตั้งกล้องและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำศูนย์เท่านั้น ว่ามีกล้องติดอยู่ตรงไหนบ้าง โดยจะมีการส่งสัญญาณมาที่ศูนย์ จากนั้นทางศูนย์ก็จะส่งไปที่หน่วยเพื่อแจ้งพิกัดว่าบริเวณนี้มีภัยคุกคาม ปัจจุบันมีการติดตั้งกล้องเอ็นแคปในหลายพื้นที่อุทยาน และจะพยายามติดตั้งในพื้นที่ที่ล่อแหลมให้ได้มากที่สุด ที่มีเกี่ยวข้องกับการตัดไม้การบุกรุกการล่าสัตว์”

ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่ออีกว่า ทางอุทยานฯ ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นอันดับแรก โดยก่อนปฏิบัติงานต่างๆ นั้น เจ้าหน้าที่ทุกคนจะต้องมีการตรวจสุขภาพ เหมือนกับเจ้าหน้าที่ที่ไปดับไฟป่า เพราะถ้าหากตรวจพบว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพก็จะมีการปรับลดบทบาทลง เนื่องจากปีที่ผ่านมาเราสูญเสียบุคลากร ทั้งข้าราชการ บุคลาการ ลูกจ้างจิตอาสา ซึ่งไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก เพราะถ้าเป็นต้นไม้เมื่อตายแล้ว เราสามารถปลูกขึ้นมาใหม่ได้ แต่ถ้าชีวิตคนเป็นอะไรไปแล้วเราไม่สามารถกู้คืนชีวิตเขากลับมาได้อีกเลย

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างเข้มข้น (ภาพ : เพจอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน)
“นอกจากที่เราได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นอันดับต้นๆ แล้ว ขณะนี้เราเร่งรัดการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ให้กับอุทยานแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติทางทะเล และฝึกอบรมเพิ่มความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีความรู้เรื่องของการ CPR พื้นฐาน ซึ่งต่อไปนี้จะเร่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความรู้เรื่องนี้ และเราได้สั่งซื้อรถกู้ภัยไปในหลายพื้นที่อุทยานแล้ว โดยเฉพาะอุทยานที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยจะเตรียมเอาไว้ให้ครบทุกอุทยาน เพื่อพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบๆ สามารถขอความร่วมมือเราได้ ซึ่งเรายินดีพร้อมช่วยเหลือทุกคนไม่ว่าจะทั้งทางบกหรือทางทะเล”

ผู้มาใช้บริการอารยสถาปัตย์ ใน อช.เจ็ดสาวน้อย (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
สำหรับในส่วนของโครงการอารยสถาปัตย์ หรือการออกแบบสภาพสิ่งแวดล้อมของสถานที่และสิ่งของรอบตัว เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้คนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น คนทั่วไป เด็ก คนชรา และผู้พิการ เพื่อให้ใช้งานด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกปลอดภัย ขณะนี้ทางอุทยานฯ ได้เริ่มนำร่องเปิดใช้บริการเพื่อคนพิการ ใน 2 แห่งแรกของเมืองไทย คือ ที่ “อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย” และ “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่”

เส้นทางลาดเลาะลำน้ำ (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
เหตุที่เลือกนำร่องในอุทยานฯ ทั้ง 2 แห่ง นอกจากเพื่อให้ผู้พิการสามารถท่องเที่ยวได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหวนานาชาติ (IWAS World Games 2020) ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แต่เดิมนั้นมีกำหนดจัดในเดือน ก.พ. 63 แต่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19

ทางลาดอารยสถาปัตย์เพื่อผู้พิการใน อช.น้ำตกเจ็ดสาวน้อย (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
“ตอนนี้ทางอุทยานฯ กำลังหาแนวทางในการทำเส้นทางรถเข็นเพื่อให้ไปถึงบริเวณด้านหน้าของน้ำตก ว่าจะสามารถออกแบบได้ไหมหรือจะออกแบบอย่างไร เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าไปถึงภายในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวได้ เนื่องจากการทำเส้นทางดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะทั้งสองข้างทางเป็นเส้นทางธรรมชาติ มีโขดหิน ซึ่งเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด”
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR

กำลังโหลดความคิดเห็น