xs
xsm
sm
md
lg

สุขใจ สักการะ “พระธาตุผาเงา” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงแสน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Youtube :Travel MGR

พระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์
วัดพระธาตุผาเงา ตั้งอยู่ที่ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย บนฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับประเทศลาว มีพื้นที่ทั้งหมด 743 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาเล็กๆ ทอดยาวลงมาตั้งแต่บ้านจำปี ผ่านบ้านดอยจัน และมาสิ้นสุดที่บ้านสบคำ แต่ก่อนชาวบ้านเรียกดอยลูกนี้ว่า "ดอยคำ" แต่ต่อมาช่วงหลังๆ ชาวบ้านเรียกว่า "ดอยจัน"

ความเป็นมาของวัดแห่งนี้ มาจากชื่อของพระธาตุผาเงา ที่ตั้งอยู่บนหินก้อนใหญ่ ส่วนคำว่าผาเงาหมายถึง เงาของก้อนผา ก้อนหินก้อนนี้มีขนาดใหญ่ทรงคล้ายเจดีย์ เวลาพระอาทิตย์ส่องผ่านก้อนหินทำให้เกิดเงาขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า พระธาตุผาเงา แต่ในสมัยก่อนนั้นวัดมีชื่อเดิมว่า “วัดสบคำ” ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงได้พังทลายจากแรงกระแสน้ำ ทำให้วัดถูกพัดพังทลายลงเกือบหมดวัด คณะศรัทธาจึงได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ซึ่งไกลจากที่เดิม

ทางเดินขึ้นไปยังพระบรมธาตุ
ภายในวัดมีพระธาตุอยู่ 3 องค์คือ พระธาตุผาเงาตั้งอยู่บนยอดหินผา ต่อมาคือพระธาตุจอมจัน เหลือแต่ซากองค์พระเจดีย์สูงประมาณ 5 เมตร ในบริเวณพื้นที่นั้นทางวัดได้สร้างโบสถ์ขึ้นมาหลังหนึ่ง ถัดจากพระธาตุจอมจันขึ้นไปบนยอดเขา เป็นที่ตั้งของพระธาตุเจ็ดยอด ซึ่งเหลือแต่ซากฐานสูง 5 เมตร ต่อมาสร้างพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ขนาดใหญ่ครอบองค์พระธาตุไว้ แต่ยังคงมองเห็นซากพระธาตุเจ็ดยอดได้

พระเชียงแสนสิงห์หนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2519 ได้มีการปรับพื้นที่บริเวณวัดใหม่ให้เรียบร้อย จึงมีการขุดยกตอไม้ขนาดใหญ่ออกได้พบอิฐโบราณก่อเรียงกันไว้ เมื่อยกอิฐออกจึงพบกับหน้ากากก่อกั้นไว้ พอยกหน้ากากออกจึงพบพระพุทธรูป ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุได้วิเคราะห์ว่าน่าจะมีอายุประมาณ 700 – 1,300 ปี

ภายในพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์
ส่วนพระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงานั้น เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำวัดและมีอายุเก่าแก่มากถึง 700-1,300 ปี ขุดพบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2519 เมื่อคณะศรัทธาได้ปรับพื้นที่หมดเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มขุดและยกตอไม้ขนาดใหญ่ออก พบว่าใต้ตอไม้นั้นมีอิฐโบราณก่อเรียงไว้ เมื่อยกอิฐออกก็พบหน้ากาก (แผ่นทึบ) ก่อกั้นไว้ พอยกหน้ากากออกจึงได้พบพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม คณะศรัทธาจึงได้พร้อมใจกันตั้งชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “หลวงพ่อผาเงา” และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่จากวัดสบคำ มาเป็นวัดพระธาตุผาเงา ตั้งแต่ขณะนั้นเป็นต้นมา

บริเวณพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์
นอกจากนี้ภายในพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ มีภาพเขียนฝาผนังพระราชประวัติพระนางจามเทวี ด้านนอกสามารถเดินรอบได้ลักษณะคล้ายป้อมปราการ สามารถมองเห็นภูมิทัศน์ประเทศลาวและพม่าได้ขนาดกว้าง 40 เมตร ความยาว 40 เมตร ความสูง 39 เมตร

จุดชมวิว
บริเวณด้านล่างของวัดจะมีพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน เกิดขึ้นโดยกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองเชียงแสนวัดพระธาตุผาเงา ของกลุ่มแม่บ้านสบคำ เมื่อปีพ.ศ. 2529 พระครูไพศาลรัตนาภิรัต พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะอำเภอเชียงแสน ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสน และทราบว่าในอดีตเคยมีการทอผ้าลวดลายสวยงามแต่สูญหายไป ต่อมาสืบทราบว่าผ้าทอเชียงแสนยังมีการทออยู่ที่จังหวัดราชบุรี ท่านจึงนำสมาชิกกลุ่มทอผ้าไปศึกษาลายผ้า และนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อนำไปฝึกทอผ้าที่อำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน

ผ้าพื้นเมืองภายในพิพิธภัณฑ์
หลังจากนั้นกลุ่มแม่บ้านได้ไปดูงานทอผ้าในแหล่งต่างๆ พบอีกว่าที่บ้านยางอำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรี มีชมรมไทยวนที่อพยพไปจากเชียงแสนและมีพิพิธภัณฑ์ไทยวน ทางวัดจึงได้เชิญช่างทอผ้าจากสระบุรี มาสอนและประยุกต์สร้างลายเชียงแสน เพื่อสร้างเอกลักษณ์และทอผ้ารวดเร็วขึ้น จึงทำให้เกิดผ้าทอล้านนาเชียงแสนขึ้น

ลวดลายขอพันเสา

ชมผ้าทอลายพื้นเมืองเชียงแสน
ต่อมาพระครูไพศาลพัฒนาภิรัตและคณะ ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้จัดให้มีการส่งเสริมการทอผ้าลายพื้นเมืองเชียงแสน ให้คงไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมชาวบ้านให้มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นนอกจากการทำนาทำไร่ ที่สำคัญคือเป็นการสืบทอดให้เยาวชนได้ศึกษาถึงความสำคัญและความงดงามเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาเชียงแสน ที่สืบทอดมาแต่เดิม

อีกหนึ่งลวดลายพื้นเมืองเชียงแสน
เอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าทอลายเชียงแสน คือเป็นผ้าทอมือโดยใช้กี่ในการทอ ใช้เส้นด้ายผ้าฝ้ายและไหมประดิษฐ์ ทอลวดลายคมเดิมของชาวเชียงแสนโบราณที่ค้นพบมีทั้งหมดจำนวน 5 ราย คือ ลายขอพันเสา ลายเสือย่อย ลายดอกมะลิ ลายกาแล และลายไข่ปลา ซึ่งได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือผ้าทอลายเชียงแสนมีการผสมผสานลวดลายทั้ง 5 มีเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังทอลายอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ ลายดอกแก้ว ลายผักแว่น ลายดอกรัก และ ลายกี่ตะกอ

ผ้าพื้นเมืองภายในพิพิธภัณฑ์

ชมการทอผ้าพื้นเมือง
การย้อมผ้าในสมัยก่อนจะย้อมจากวัสดุธรรมชาติแต่ในปัจจุบันนิยมย้อมด้วยสีสังเคราะห์เพราะว่าสะดวกกว่า เสื้อผ้าในสมัยก่อน หากเป็นภาพพื้นนิยมย้อมสีแดงสีดำสีเหลืองและสีเขียวเป็นหลัก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระเชียงแสนส่วนที่เป็นลายใช้สีสดใสเช่นสีฟ้า ชมพู น้ำเงิน เหลือง ปัจจุบันสีสังเคราะห์มีให้เลือกมากมาย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสมัยปัจจุบันจึงมีสีสันหลากหลายไปด้วย วัสดุธรรมชาติที่นิยมนำมาย้อมผ้าเช่น ต้นหอม ใบขนุน ใบหูกวาง ดอกอัญชัน เป็นต้น

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR

กำลังโหลดความคิดเห็น