xs
xsm
sm
md
lg

5 ธันวา “วันดินโลก” พระอัจฉริยภาพจากจอมปราชญ์แห่งดิน ในหลวงรัชกาลที่ ๙

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน

ในหลวง ร. ๙ จอมปราชญ์แห่งดิน
“...ดินแข็งอย่างนี้ใช้การไม่ได้ แต่ถ้าเราทำแนวหญ้าแฝกที่เหมาะสม มีฝนลงมา ความชื้นก็จะอยู่ในดิน รากแฝกมันลึกมาก ถึงให้เป็นเขื่อนกั้นแทนที่จะขุด พืชจะเป็นเขื่อนมีชีวิต แล้วในที่สุด เนื้อที่ตรงนั้นก็จะเกิดเป็นดินผิว เราจะปลูกอะไรก็ได้ ปลูกต้นไม้ก็ได้ ปลูกผักปลูกหญ้าอะไรก็ได้ทั้งนั้น...”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2535

วันดินโลก

คนไทยภาคภูมิใจที่สุดอย่างหามิได้ที่ได้เกิดในผืนแผ่นดินไทย ใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก

ในหลวง ร. ๙ ทรงปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องดินแก่ราษฎร
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และยังทรงเป็นจอมปราชญ์ในหลากหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความเป็นปราชญ์ด้าน “ดิน” โดยพระราชกรณียกิจจำนวนมากของพระองค์ท่าน ต่างมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม ยังผลให้การพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงดินเสื่อมโทรมและดินที่มีปัญหา ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เกษตรกรโดยทั่วหน้า

ด้วยพระปรีชาสามารถทรงเป็นจอมปราชญ์แห่งดิน สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (The International Union of Soil Science) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม (The humanitarian Soil Scientist) สดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และกำหนดวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) โดยมีองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ร่วมสนับสนุนอีกทางหนึ่ง

สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ทูลเกล้าถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม” แด่ในหลวง ร.๙
จอมปราชญ์แห่งดิน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการสร้างสมดุลให้สภาพแวดล้อม จึงทรงให้ความสำคัญกับดินเช่นเดียวกับน้ำ พระองค์ท่านทรงริเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เพื่อพลิกฟื้นผืนดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีสภาพที่ดีขึ้น สามารถใช้เพาะปลูกทำการเกษตรได้ โดยทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดิน เป็นกรณี ตามสภาพปัญหาของพื้นที่นั้นๆ

สำหรับแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาเรื่องดินของในหลวง แบ่งเป็น 6 หมวดหลักๆ ได้แก่

-ดินทราย : ต้องเพิ่มกันชนให้ดิน

ดินทราย มีลักษณะโปร่งน้ำ รากพืชผ่านไปได้ง่าย ในฤดูแล้งน้ำในดินจะไม่เพียงพอ ทำให้พืชที่ปลูกใหม่มักจะตาย เพราะดินร้อนและแห้งจัด ต้องแก้ด้วยการเพิ่มความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุที่จะทำหน้าที่เสมือนกันชนให้แก่ดิน โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ถือเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องดินทรายที่มีแร่ธาตุน้อย

เขาหินซ้อน ต้นแบบด้านการแก้ปัญหาดินทราย เพื่อใช้ในการเพาะปลูก(ภาพ จากเพจวันดินโลก 60)
พระองค์ท่านจึงได้ให้แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหา ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อนำน้ำไปใช้พัฒนาการเกษตร ชะลอการไหลของน้ำ เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดินและฟื้นฟูสภาพป่าไม้ มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินที่มีธาตุอาหารสะสมอยู่

หลังจากดำเนินงานแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ฯเขาหินซ้อนฯ จากเดิมที่มีปัญหาเรื่องดิน(ทราย)เสื่อมโทรม ได้กลายมาเป็นพื้นที่สีเขียวสามารถปลูกพืชต่างๆได้เป็นอย่างดี

-ดินเป็นหิน กรวด และแห้งแล้ง : ต้องยึดดินและช่วยให้ชื้น

ดินเป็นหิน กรวด มีลักษณะเดียวกับดินทราย หน้าดินถูกชะล้างเหลือแต่ หิน กรวด พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้

ฝายชะลอน้ำที่ห้วยฮ่องไคร้
โครงการต้นแบบการที่แก้ปัญหาในเรื่องนี้คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยแก้ปัญหาด้วย การสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำหลัก ปรับปรุงดินโดยให้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ รวมถึงการปลูกหญ้าแฝกขวางแนวลาดเท เพื่อป้องกันดินถูกชะล้าง พังทลาย

หลังการแก้ปัญหา ปัจจุบันศูนย์ฯห้วยทรายฯ ที่เคยเป็นสภาพเสื่อมโทรมได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวที่สามารถทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี

-ดินถูกชะล้าง : ช่วยเหลือด้วยกำแพงที่มีชีวิต

ดินถูกชะล้าง คือ ดินที่มีหน้าดินอุดมสมบูรณ์ แต่ถูกกระแสน้ำและลม พัดพาเอาหน้าดินที่มีแร่ธาตุอาหารต่อการเจริญเติบโตของพืชไป

หญ้าแฝกช่วยยึดดิน แก้ปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง
การแก้ปัญหาในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ใช้กำแพงที่มีชีวิต นั่นก็คือหญ้าแฝก โดยโครงการพระราชดำริต่างๆจะมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยยึดดินและแก้ปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง

สำหรับโครงการตัวอย่างในการพัฒนาหญ้าแฝก คือโครงการพัฒนาดอยตุง(พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ซึ่งใช้การปลูกหญ้าแฝกเป็นเขื่อนตามธรรมชาติ ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ไม่ให้ดินเลื่อนไหล อีกทั้งยังช่วยกรองตะกอนดินที่น้ำพัดพามา นอกจากนี้ยังไม่ต้องสร้างแนวกำแพงโดยวิธีทางวิศวกรรม ช่วยให้หยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก และยังมีสภาพกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม

ผลสำเร็จจากโครงการนี้ ทำให้สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาอีกครั้ง

หญ้าแฝก กำแพงธรรมชาติมีชีวิต
-ดินพรุ หรือ ดินเปรี้ยว : ต้องทำให้กินโกรธ โดยแกล้งดิน

ดินพรุ เป็นพื้นดินที่มีสภาพน้ำขัง มีสภาพความเป็นกรดอย่างรุนแรง ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้

การแก้ปัญหาในสภาพดินพรุ ดินเปรี้ยว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้พระอัจฉริยะภาพ คิดค้นวิธีการที่เรียกว่า“แกล้งดิน” ขึ้น โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อให้ดินปล่อยแร่ธาตุที่เป็นกรดออกมา กลายเป็นดินที่มีกรดจัด เปรี้ยวจัด จากนั้นจึงใช้น้ำชะล้างดินควบคู่ไปกับปูน ซึ่งทรงเรียกว่า “ระบบซักผ้า” เมื่อใช้น้ำจืด ชะล้างกรดในดินไปเรื่อยๆ ความเป็นกรดจะค่อยๆจางลง จนสามารถใช้เพาะปลูก ทำการเกษตรได้

ศูนย์ฯพิกุลทอง ประสบผลสำเร็จอย่างสูงในโครงการแกล้งดิน
ความสำเร็จที่เด่นชัดในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ดินเป็นกรดจัด คือโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.นราธิวาส

นอกจากนี้ที่ศูนย์ฯพิกุลทอง ยังได้มีการจัดทำสร้าง“พิพิธภัณฑ์ดิน”ขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในแหล่งศึกษาเรียนรู้ในเรื่องดินที่สำคัญของเมืองไทย โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับดินในจังหวัดนราธิวาส

แกล้งดิน(ศูนย์ฯพิกุลทอง) อีกหนึ่งความสำเร็จจากพระอัจฉริยะภาพของในหลวง ร.๙
-ดินเค็ม : ต้องล้างความเค็มออก

ดินเค็ม คือดินที่มีเกลืออยู่ในดินเป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้ใช้ระบบชลประทานในการล้างเกลือที่ผิวดิน ให้เกลือเจือจางจนสามารถใช้สอยได้

โครงการที่เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือ โครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มบริเวณห้วยบ่อแดง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร

พิพิธภัณฑ์ดิน ศูนย์ฯพิกุลทอง
และนี่ก็คือส่วนหนึ่งในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ซึ่งการทรงงานหนักของพระองค์ท่านนั้นก็เพื่อพสกนิกรชาวไทยทุกคน

เป็นการทรงงานหนักเพื่อลูกๆทุกคนในประเทศนี้

ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป

การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดที่ศูนย์ฯพิกุลทอง ให้สามารถปลูกผักกูดได้
....................................................................................................

หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจากหนังสือ “จอมปราชญ์แห่งดิน” โดย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.)
....................................................................................................


สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น