xs
xsm
sm
md
lg

“จิ๋นซีฮ่องเต้” จักรพรรดิโลกไม่ลืม ผู้เป็นมหาราชและทรราช ในร่างเดียวกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)

Facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิโลกไม่ลืมแห่งแผ่นดินจีน
“จิ๋นซีฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา”

นี่คือชื่องานนิทรรศการระดับโลก ที่เป็นครั้งแรกในเมืองไทยกับการนำโบราณวัตถุทรงคุณค่าระดับโลก นำโดยหุ่นทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ ของจริง ตัวจริง มาจัดแสดงเป็นเวลาถึง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. - 15 ธ.ค. 62 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

งานนี้ใครสนใจก็สามารถไปเที่ยวชมกันได้ตามวันเวลาดังกล่าว ซึ่งโบราณวัตถุหลายชิ้นในนิทรรศการนี้ มีความสำคัญในระดับโลกเลยทีเดียว

สำหรับ “จิ๋นซีฮ่องเต้” ผู้เป็นจักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนนั้น ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 ยอดฮ่องเต้ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลแห่งดินแดนมังกร และนี่ก็คือเรื่องราวโดยสังเขปของจิ๋นซีฮ่องเต้ผู้สร้าง 2 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้
กองทัพทหารดินเผาอันเกรียงไกรของจิ๋นซีฮ่องเต้ที่บางส่วนจะมาอวดโฉมที่เมืองไทย
จิ๋นซีฮ่องเต้” หรือ “ฉินสื่อหวงตี้” มีข้อมูลระบุว่าเดิมท่านชื่อ “อิ๋งเจิ้ง” (แซ่-อิ๋ง, ชื่อ เจิ้ง) ชาติกำเนิดของอิ๋งเจิ้งมีที่มาไม่แน่ชัด บางข้อมูลบอกว่าท่านอาจเป็นบุตรของ “จื่ออี้” (อี้เหริน) ชาวแคว้นฉินซึ่งถูกจับมาเป็นตัวประกันที่แคว้นจ้าว ขณะที่ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่า อิ๋งเจิ้ง เป็นบุตรชายของพ่อค้าคนหนึ่งที่ต่อมาเติบโตเป็นเสนาบดีคนสำคัญของแคว้นฉิน ชื่อ “หลี่ปู้เหว่ย” กับมารดาที่เป็นนางสนมชื่อ “เจ้าจี

อิ๋งเจิ้งถือกำเนิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 283 หรือ 260 ปีก่อนคริสตกาล ในปลายยุคจ้านกว๋อ หรือยุคสงคราม (ยุคที่ 2 ของสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก) ยุคนี้ประเทศจีนยังไม่รวมเป็นหนึ่ง หากแต่แตกเป็นเสี่ยง ๆ จากการทำศึกสงครามยืดเยื้อกินเวลายาวนานกว่า 500 ปี

แผ่นจีนในยุคนั้นแบ่งออกเป็น 7 รัฐใหญ่ๆ คือ หาน จ้าว เว้ย ฉู่ เยียน ฉี และ "รัฐฉิน" โดยรัฐฉินที่อยู่ฝั่งตะวันตกเป็นรัฐที่ทุรกันดาร และล้าหลังที่สุด

กระทั่งเมื่ออิ๋งเจิ้งใช้ความสามารถก้าวขึ้นมาครองบัลลังก์ตั้งแต่วัยเยาว์ (13-14 ปี) ท่านได้ปลดผู้สำเร็จราชการ (หลี่ปู้เหว่ย) ออกจากตำแหน่ง แล้วคุมอำนาจการปกครองแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมดควบคู่ไปกับการพัฒนารัฐฉินที่เคยล้าหลังให้เป็นรัฐที่เจริญและเรืองอำนาจ

นอกจากนี้จิ๋นซีฮ่องเต้ยังได้เปิดรับคนดีมีความสามารถไม่จำกัดถิ่นกำเนิด มาช่วยปฏิรูปกฎหมาย การปกครอง และเศรษฐกิจจนแคว้นฉินรุ่งเรืองและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ

จากนั้นอิ๋งเจิ๋งได้ใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ทำลายความสามัคคีของรัฐที่ทรงอำนาจที่สุด 6 รัฐในสมัยนั้นลง แล้วผนวกรัฐต่าง ๆ ทีละรัฐเข้ากับรัฐฉิน
อนุสาวรีย์จิ๋นซีฮ่องเต้ เมืองซีอาน
ภายในชั่วเวลาสิบปี คือ ตั้งแต่ปีที่ 231-221 ปีก่อนคริสตศักราช อิ๋งเจิ๋งสามารถรวมจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ พร้อมๆกับสถาปนารัฐฉิน (ปีที่ 221 ถึงปีที่ 206 ก่อนคริสตศักราช ) ขึ้นโดย อิ๋งเจิ้ง ผู้เป็นกษัตริย์รัฐฉิน ได้เปลี่ยนพระนามพระองค์ว่า“ฉินสื่อหวงตี้” (จิ๋นซีฮ่องเต้) ที่นำคำว่า“หวง”ที่แปลว่า กษัตริย์ รวมเข้ากับคำว่า“ตี้”ที่แปลว่า จักรพรรดิ

เมื่อรวม 2 คำแล้ว แปลว่า“องค์ปฐมจักรพรรดิกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฉิน” ทั้งนี้เพื่อจะให้สืบต่อราชบัลลังก์อยู่ในราชวงศ์ฉินติดต่อกันไปตลอด ไปถึงองค์ที่หมื่น ๆ แต่ว่าจริงๆ ราชวงศ์ฉินอยู่ได้เพียง 15 ปี แต่อย่างไรก็ดี คำว่า“หวงตี้” (ฮ่องเต้) ก็ได้เป็นคำที่กษัตริย์จีนใช้เรียกตัวเองตลอดมา 2,000 กว่าปี

ในช่วงที่จิ๋นซีฮ่องเต้ปกครองแผ่นดินจีน ด้านหนึ่งพระองค์คือมหาราชที่ได้สร้างความเจริญให้กับแผ่นดินจีนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวขึ้นในประเทศ ด้วยการรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้กับพระองค์ แล้วแบ่งเขตการปกครองในประเทศออกเป็น 36 มณฑล

การกำหนดให้ใช้ตัวอักษรภาษาจีน เป็นอย่างเดียวกันหมดทั่วประเทศ แม้ว่าภาษาพูดจะผิดเพี้ยนกันแต่ว่าภาษาเขียนนั้นใช้เหมือนกัน

การกำหนดใช้กฎหมายอย่างเป็นเอกภาพทั่วประเทศ

การกำหนดให้ใช้เงินตราอย่างเดียวกัน

การกำหนดให้ใช้มาตราชั่ง ตวง วัดอย่างเดียวกัน
กำแพงเมืองจีน 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก (ภาพ MGR/China)
และที่โดดเด่นที่สุดก็คือการเชื่อมกำแพงเมืองตามแค้วนต่างเพื่อป้องกันการรุกรานของเผ่าซงหนู จนกลายเป็น "กำแพงเมืองจีน" 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองจีนแล้ว กำแพงเมืองจีนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของแดนมังกรอีกด้วย

แต่ถึงแม้ว่าจิ๋นซีฮ่องเต้จะรวมจีนเข้าเป็นปึกแผ่น และสร้างความเจริญความยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง

แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์คือทรราชที่หลายคนยากจะลืมเลือนเช่นกัน เพราะว่าพระองค์กลับสร้างความยิ่งใหญ่บนความลำบากของไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีอย่างโหดหินถึง 2 ใน 3

นอกจากนี้ยังเกณฑ์ประชาชนจำนวนมาก (รวมแล้วเป็นล้านคน) ไปเป็นทหารบ้าง ไปเป็นกรรมกรบ้าง เพื่อใช้สร้างพระราชวัง สร้างกำแพง สร้างสุสาน ทำให้ประชาชนต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก

เท่านั้นยังไม่พอ กฎหมายในสมัยฉิน ยังได้กำหนดโทษไว้เฉียบขาดมาก หากผู้ใดกระทำผิดจะต้องถูกลงโทษทั้งครอบครัว

ประชาชนในสมัยฉินจึงอยู่กันด้วยความหวาดระแวง และเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ด้วยเหตุนี้ทำให้พวกนักศึกษาสำนักขงจื๊อพากันไม่พอใจ พวกเขาจึงเลือกต่อสู้กับระบบการปกครองของจิ๋นซีฯด้วยการพูด และเขียนบทความ บทกวีถากถางเยาะเย้ยตำหนิติเตียนการปกครองสมัยนั้น ซึ่งก็สร้างความขุ่นเคืองพระทัยต่อจิ๋นซีฯเป็นอย่างยิ่ง พระองค์จึงมีคำสั่งให้เผาหนังสือต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ บทรวมกวีนิพนธ์ บทร้อยแก้ว โดยเฉพาะหนังสือของสำนักขงจื๊อเสียให้หมดสิ้น

คงเหลือไว้ก็พวก ตำราทางการแพทย์ เกษตรกรรมและตำราอื่น ๆ

จากนั้นไม่นานจิ๋นซีฯก็ได้จับนักศึกษาสำนักขงจื๊อฝังทั้งเป็นเสีย 400 กว่าคน อันเป็นอาชญากรรมที่ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้
สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก
นอกจากนี้การที่จิ๋นซีฮ่องเต้เชื่อในเรื่องความเป็นอมตะและชีวิตหลังความตาย นับตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์ ด้านหนึ่งได้บังคับเกณฑ์ไพร่พลราว 5 แสนคน ไปสร้างกำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันการรุกรานของเผ่าซ่งหนู ซึ่งปัจจุบันกำแพงเมืองจีนถูกยกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก

ส่วนอีกด้านหนึ่งนำแรงงานกว่า 7 แสนคน ไปก่อสร้างพระราชวังและ “สุสานจิ๋นซีฮ๋องเต้” ที่เป็นมากกว่าสุสานฝังพระศพทั่วไป เพราะที่นี่เป็นสถานที่ที่เตรียมไว้สำหรับการใช้ชีวิตหลังความตายในปรโลก ซึ่งสุสานจิ๋นซีได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก

ครั้นเมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้สิ้นพระชนม์ลงในปีที่ 208 ก่อนคริสต์ศักราช จึงทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่าง ๆ รุนแรงขึ้นและก็รวดเร็วขึ้นด้วย โดยขบถชาวนาครั้งใหญ่ที่นำโดยเฉินเซิ่ง อู๋กว่าง ได้อุบัติขึ้นเป็นคณะแรกในประวัติศาสตร์จีน จากนั้นก็ลุกลามไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ราชวงศ์ฉินถูกขบถชาวนาโค่นลงในปีที่ 206 ก่อนคริสต์ศักราช รวมเวลาที่ปกครองประเทศได้เพียง 15 ปีเท่านั้น

ณ วันนี้ จิ๋นซีฮ่องเต้อำลาจากโลกไปกว่า 2 พันปีแล้ว เรื่องราวทั้งด้านมืดและด้านสว่างของฮ่องเต้องค์นี้ได้ถูกนักประวัติศาสตร์จารึกไว้อย่างเที่ยงธรรม ว่า จิ๋นซีฮ่องเต้เป็นจักรพรรดิที่เป็นทั้งมหาราชและทรราชในคนเดียวกัน แต่ว่าพระองค์ก็ถือเป็น 1 ใน 10 ฮ่องเต้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองจีนที่โลกไม่มีวันลืมตลอดกาล
รถม้าศึกสำริด โบราณวัตถุสำคัญที่จะมาจัดแสดงที่เมืองไทย
....................................................................................................

นิทรรศการ “จิ๋นซี ฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา” มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15 กันยายน - 15 ธันวาคม 2562 เวลา 09.00 น. - 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ - อังคาร) ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

ภายในงานแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาการก่อนการรวมชาติ 2. จิ๋นซีฮ่องเต้ 3. สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ มหาอาณาจักรใต้พิภพ และ 4. สืบสานความรุ่งโรจน์

สำหรับไฮไลท์สำคัญของงานนี้คือ การนำโบราณวัตถุอายุกว่า 2,200 ปี จาก 2 สุสานดังของเมืองจีน คือสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ และ สุสานราชวงศ์ฮั่น จำนวน 86 รายการ 133 ชิ้น โดยมีโบราณวัตถุชั้นเยี่ยม 17 รายการ มาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชมกัน นำโดยหุ่นทหารดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้

ทั้งนี้หลังจากมีพิธีเปิดในช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2562 กรมศิลปากรจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการเป็นกรณีพิเศษ 2 วันคือ วันจันทร์ที่ 16 และ วันอังคารที่ 17 กันยายน หลังจากนั้นตั้งแต่วันพุธที่ 18 กันยายน จนถึง 15 ธันวาคม 2562 จะเปิดให้เข้าชมตามวันทำการปกติคือ วันพุธ - วันอาทิตย์ (ปิดเฉพาะวันจันทร์ และวันอังคาร) ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 022241333 และ 022241402 หรือที่ เฟซบุ๊ก National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
....................................................................................................

10 เรื่องเด็ด “สุสานจิ๋นซี” สิ่งมหัศจรรย์จากซีอานสู่กทม.

“ห้ามเซลฟี่-ถ่ายภาพเคลื่อนไหว” เปิด 10 ข้อปฏิบัติการเข้าชมนิทรรศการ “จิ๋นซีฮ่องเต้”

น่าทึ่ง! “วิหารเซียน” ชลบุรี มีหุ่นทหารจิ๋นซีโชว์ตัวนอกจีนแห่งแรกในโลก
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager



กำลังโหลดความคิดเห็น