xs
xsm
sm
md
lg

ใส่กิโมโนเดินเล่น "คาวาโกเอะ" เที่ยวย้อนยุคสไตล์เอโดะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook : Travel @ Manager
โกดังเก่าที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นร้านค้าขายของที่ระลึก บ้างก็เป็นร้านขนม
มาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแล้วแสนจะประทับใจกับบรรยากาศอันแสนทันสมัย เทคโนโลยีสุดล้ำที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายให้มากมาย แต่บางครั้งก็อยากจะเห็นญี่ปุ่นในมุมมองย้อนยุค อยากเห็นบ้านเรือนโบราณดูบ้าง ต้องไปที่ไหนดีล่ะ?

ขอแนะนำ “เมืองคาวาโกเอะ” (Kawagoe) ในจังหวัดไซตามะ เพราะที่นี่ยังมีบรรยากาศของเมืองเก่าที่มีกลิ่นอายของสมัยเอโดะ (ชื่อเรียกโตเกียวในอดีต) จนชาวญี่ปุ่นเองเรียกเมืองคาวาโกเอะว่า “โคะเอโดะ” (Koedo) หรือเอโดะน้อยนั่นเอง
แต่งชุดกิโมโนมาเดินเล่นน่ารักๆ
การเดินทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุดจากโตเกียวสามารถนั่งรถไฟสาย Tobu Tojo Line จากสถานีอิเคะบุคุโระ (Ikebukuro) มาถึงสถานีคาวาโกเอะในเมืองไซตามะ ใช้เวลาราว 30 นาทีเท่านั้น เหมือนเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวนนทบุรีอย่างไรอย่างนั้น โดยในเมืองคาวาโกเอะมีสถานที่ท่องเที่ยวกระจายตัวอยู่ห่างๆ กัน หากจะเดินชมให้ครบทุกที่อาจจะไม่ไหว แต่ก็สามารถใช้บริการรถนำเที่ยวเมืองโคะเอโดะที่เป็นรถบัสหน้าตาย้อนยุคที่จะพาเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ทั่ว จะซื้อเป็นตั๋ววันราคา 500 เยน หรือเลือกขึ้นเป็นเที่ยว เที่ยวละ 200 เยน หรือจะเป็น Loop Bus รถที่วิ่งวนในย่านท่องเที่ยวก็มีตั๋ววันให้บริการราคา 300 เยน

หรือถ้าอยากเดินเที่ยวชมเมืองไปเรื่อยๆ และเลือกเที่ยวเฉพาะบางแห่งก็ขอแนะนำให้เดินมายังย่านเมืองเก่า หรือ “ย่านคุระซึคุริ” (Kurazukuri) ซึ่งอยู่ทางเหนือของสถานีรถไฟ มีระยะทางจากสถานีคาวาโกเอะประมาณ 1.7 ก.ม. ใช้เวลาเดินประมาณ 20 นาที
สองข้างทางมีบ้านเรือนที่เป็นโกดังเก่าให้เห็น
คาวาโกเอะในอดีตเป็นย่านชุมชนการค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองเทียบได้กับเมืองเอโดะ (ชื่อเรียกโตเกียวในอดีต) ทำให้บริเวณนี้มีโกดังเก็บสินค้า (Kura) อยู่หลายแห่ง จนเป็นที่มาของชื่อย่านคุระซึคุริ (Kurazukuri) ที่เรียกกันทุกวันนี้ จริงๆ แล้วในย่านการค้าของเอโดะเองก็มีลักษณะเช่นนี้ แต่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ค.ศ.1923 และความเสียหายจากสงครามทำให้บ้านเรือนสไตล์คุระซึคุริสูญหายไปจากโตเกียว หากอยากจะชมก็ต้องมาที่คาวาโกเอะแทน จนทำให้คาวาโกเอะกลายเป็น “โคะเอโดะ” หรือเอโดะน้อยอย่างที่กล่าวไปนั่นเอง

ปัจจุบันนี้เรายังคงเห็นสภาพบ้านเรือนทั้งสองฟากฝั่งถนนในย่านคุระซึคุริที่มีระยะทางยาวประมาณ 700 เมตรยังคงสภาพของโกดังร้านค้าในอดีต สังเกตได้จากหลังคาสีดำที่ทำด้วยกระเบื้อง ส่วนตัวอาคารสร้างจากดินเหนียวเพื่อให้ทนไฟ ซึ่งโกดังเหล่านี้มีหลงเหลือให้ชมอยู่ประมาณ 30 หลัง โดยสร้างขึ้นหลังจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เมืองคาวาโกเอะ โดยเราสามารถเข้าไปชมเรื่องราวของการก่อสร้างโกดังสไตล์คุระซึคุริเหล่านี้ได้ที่ "พิพิธภัณฑ์คุระซึคุริ" ซึ่งเดิมเคยเป็นร้านค้าส่งยาสูบ
เดินเล่นเลือกซื้อของที่ระลึกกัน
โกดังเหล่านี้แทรกตัวอยู่กับบ้านเรือนยุคปัจจุบันที่ออกแบบให้สอดคล้องกับบรรยากาศเก่าๆ รอบข้าง และระหว่างสองฟากฝั่งก็จะมีตรอกซอกซอยให้เราได้เดินลัดเลาะเข้าไปเที่ยวชมได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโกดังเหล่านี้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นร้านค้าร้านขายของที่ระลึกและร้านขายอาหาร/ขนมให้เราได้เดินเลือกซื้อและเลือกชิมได้อย่างเพลิดเพลิน

ขอแนะนำให้ชิมผลิตภัณฑ์จาก “มันหวาน” ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของเมืองคาวาโกเอะ มันหวานทั้งสีเหลืองและสีม่วงได้ถูกนำมาแปรรูปเป็นขนมและของกินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์ครีม โยกัง (เยลลี่ญี่ปุ่น) ชูครีม ฯลฯ เห็นร้านไหนแถวยาวๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นร้านดังร้านอร่อยแน่ๆ
มองเห็นหอระฆังในซอยนี้
เดินไปชิมไปไม่นานก็มองเห็นซอยเล็กๆ ที่ด้านในเป็นที่ตั้งของ "โทคิ โนะ คาเนะ" (Toki no Kane) หรือหอระฆังเก่าแก่ ซึ่งถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญของคาวาโกเอะ โดยหอระฆังนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยเอโดะเพื่อใช้ตีบอกเวลาในอดีต ต่อมาได้ถูกไฟไหม้ไปใน ค.ศ.1893 หอระฆังจึงถูกสร้างขึ้นมาใหม่และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ยังคงตีบอกเวลาเหมือนในอดีตคือตอน 06.00 น. 12.00 น. 15.00 น. และ 18.00 น. อีกทั้งด้านในยังมีศาลเจ้าเล็กๆ ให้เข้าไปสักการะกันด้วย
หอระฆังที่เป็นดังสัญญลักษณ์ของย่านคุระซึคุริ
ละลานตาด้วยขนมหวานชนิดต่างๆ ในตรอกขนมหวาน
เดินเล่นชิมขนมในตรอกขนมหวาน
อีกหนึ่งไฮไลต์ไม่ควรพลาดในย่านคุระซึคุริก็คือ “ตรอกขนมหวาน” (Kashiya Yokocho) ตรอกเล็กๆ ระยะทางราว 80 เมตรเท่านั้น แต่ภายในตรอกจะมีร้านขนมตั้งเรียงรายให้เลือกซื้อ เล่ากันว่าในยุคหนึ่งในอดีต ภายในตรอกขนมหวานแห่งนี้เป็นผู้ผลิตลูกกวาดและอมยิ้มรายใหญ่ ในสมัยโชวะตอนต้นมีร้านขายลูกกวาดมากกว่า 70 ร้าน แต่หลังสงครามและการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตทำให้หลงเหลือร้านขายขนมอยู่ราว 20 ร้าน ส่วนใหญ่เป็นขนมแบบญี่ปุ่นอย่างเซมเบ้ อมยิ้มและลูกอมหลากสีสัน บางอย่างหาซื้อได้เฉพาะที่คาวาโกเอะเท่านั้นเช่นขนมปังแท่งยาว
บ้านเรือนเก่าๆ มีให้เห็นระหว่างทาง
แวะชิมขนมท้องถิ่นมีให้เลือกหลายร้าน
ด้วยกลิ่นอายของอดีตที่อวลอยู่ใน “โคะเอโดะ” นี้ ทางเมืองคาวาโกเอะเขาจึงส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวแต่งชุดกิโมโนมาเดินเที่ยวกันเยอะๆ เพื่อสร้างบรรยากาศของเมืองให้มีสีสันในสไตล์ย้อนยุคมากขึ้น ซึ่งก็มีร้านเปิดบริการให้เช่าชุดใส่เดินเล่น และเท่าที่เห็นก็นับว่ามีคนใส่กิโมโนมาเดินเล่นถ่ายรูปกันไม่น้อย ใครมาเที่ยวจะมาลองแต่งตัวแบบญี่ปุ่นเดินเที่ยวคาวาโกเอะบ้างก็ไม่ต้องเขิน
โตโตโร่มายืนเรียกลูกค้าหน้าร้าน
วัดคิตะอินในยามซากุระบาน
และนอกจากจะมาเดินเที่ยวในย่านเมืองเก่าคุระซึคุริแล้ว ในเมืองคาวาโกเอะก็ยังมีที่เดียวอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น “วัดคิตะอิน” (Kitain) วัดเก่าแก่และสำคัญของเมืองคาวาโกเอะ ภายในวัดมีบรรยากาศที่ร่มรื่น มีวิหารหลังใหญ่ที่มีผู้คนเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเป็นจำนวนมากตลอดทั้งวัน เราสามารถเดินชมบริเวณวัดได้ฟรี แต่หากต้องการเดินชมอาคารเก่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทเอโดะ รูปปั้นหินนักบวชกว่า 500 รูปที่มีหน้าตาท่าทางที่แสดงอารมณ์ต่างกันไปก็ต้องเสียค่าเข้าชม 400 เยน
วัดคิตะอินเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่และสำคัญของเมืองคาวาโกเอะ
นอกจากนั้นก็ยังมี “วัดนาริตะซัง คาวาโกเอะ” ที่อยู่ไม่ไกลกัน เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยเอโดะ มีสถาปัตยกรรมที่สร้างจากไม้ละเอียดประณีตมากๆ และในวันที่ 28 ของทุกเดือนจะมีตลาดนัดขายของเก่ามาเปิดขายโดยคนในชุมชน สร้างสีสันและดึงดูดให้ผู้คนมาเยือนวัดนี้ได้ไม่น้อย

“ปราสาทคาวาโกเอะ” ก็เป็นอีกหนึ่งที่ที่อยากแนะนำ ปราสาทแห่งนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮอนมารุ โกะเท็น” (Honmaru Goten) มีความหมายว่าพระราชวังชั้นในสุด เนื่องจากเป็นอาคารเดียวที่หลงเหลืออยู่ของปราสาทคาวาโกเอะดั้งเดิม ภายในปราสาทมีพื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่นไปด้วยสวนแบบญี่ปุ่น และมีข้อมูลให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองคาวาโกเอะและปราสาทแห่งนี้ด้วย

ถ้าใครมาเที่ยวโตเกียวแล้วอยากหาสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ เพื่อมาชมบรรยากาศเก่าๆ สมัยเอโดะแล้วละก็ ขอแนะนำให้มาเที่ยว “เมืองคาวาโกเอะ” รับรองว่าต้องประทับใจ

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดการท่องเที่ยวของเมืองคาวาโกเอะได้ที่ http://www.koedo.or.jp/foreign/Thai/

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น