xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก "วันนริศ" ชมศิลปกรรมงามเลื่องชื่อ ฝีมือ "นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม”
28 เมษายน ของทุกปีถือเป็น “วันนริศ” หรือวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ที่ทรงได้รับยกย่องให้เป็น “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าจิตรเจริญ ประสูติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2406

ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงสนพระทัยในศิลปกรรมแขนงต่างๆ มาโดยตลอด ทรงโปรดการทอดพระเนตรงานศิลปะต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง เช่น งานจิตรกรรมฝาผนังและตามบานประตูของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมักจะทรงวาดภาพต่างๆ ที่ทรงโปรดอยู่เสมอ
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หนึ่งในสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของพระองค์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดงานฉลองกรุงเทพมหานครครบ 100 ปี รวมทั้งฉลองพระแก้วมรกตขึ้นใน พ.ศ.2423 จึงโปรดฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งทรุดโทรมมากไปพร้อมกัน พระองค์เจ้าจิตรเจริญในขณะนั้นอายุเพียง 17 ชันษา ทรงได้รับมอบหมายใหดูแลการซ่อมหอพระคันธารราษฎร์ทั้งภายในและภายนอก ซ่อมและทำซุ้มพระเจดีย์ลังกา และซ่อมรูปยักษ์หน้าพระอุโบสถคู่หนึ่ง

ในครั้งนั้นได้ตรัสเล่าว่า “...การซ่อมวัดพระแก้ว ครั้งนั้นสนุกเพลิดเพลินเหลือเกิน ด้วยบรรดาช่างฝีมือดีทั้งหลายทุกประเภทมาประชุมพร้อมกันหมด ได้เห็นวิธีการทำงาน ได้ฟังเขาคุยกัน ถกเถียงกัน ได้ช่วยพระอาจารย์ต่างๆ เขียนภาพ ในที่สุด ได้ทรงเขียนภาพมัจฉชาดกที่ผนังในหอพระคันธารราษฎร์ ซึ่งทรงเป็นนายด้านด้วยฝีพระหัตถ์เอง แล้วอาสาช่วยประดับมุกเช็ดหน้าพระทวารพระพุทธปรางค์ 1 วง ทั้งทรงรับแต่งโคลงรามเกียรติ์ด้วย เมื่อเสร็จงานแล้ว จึงทรงได้ความรู้ความชำนาญมาก เหมือนได้เข้าโรงเรียนการช่างที่ดีที่สุด” (จากบทความ “พระประวัติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศราฯ” โดยหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ ในหนังสือ บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม 2)
สิงห์สลักหินอ่อนก็เป็นฝีมือการออกแบบของพระองค์
การทรงงานในครั้งนั้นถือเป็นการสะสมประโยชน์ทางความรู้เกี่ยวกับงานช่างต่างๆ ซึ่งตรงกับความสนพระทัยของพระองค์อยู่แล้วด้วย จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทรงสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปกรรมอันงดงามสืบต่อมาอีกหลายชิ้น

"วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม" เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของพระองค์ พระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตรได้รับการยกย่องว่าเป็น "สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย" พระองค์ได้ทรงฝากฝีมือในการสร้างวัดนี้ไว้หลายสิ่งด้วยกัน อาทิ พระอุโบสถที่ทรงออกแบบให้เป็นทรงจตุรมุข มีหลังคาซ้อนลดหลั่น 4 และ 5 ชั้นด้วยกัน
พระพุทธรูปปางต่างๆ รอบระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร
ทั้งยังใช้วัสดุสมัยใหม่ (ในขณะนั้น) ในการก่อสร้างอย่างหินอ่อนที่สั่งมาจากประเทศอิตาลีมาใช้ปูผนังและพื้นพระอุโบสถ รวมทั้งยังมีการสั่งทำกระจกสี (Stained Glass) ที่ทำลวดลายเป็นรูปเทพนม แทนการทำหน้าบันปูนปั้นแบบโบราณ ซึ่งนอกจากจะสวยงามแล้วก็ยังเป็นการเพิ่มแสงสว่างภายในพระอุโบสถได้ด้วย

ส่วนสิงห์สลักหินอ่อนสองตัวที่นั่งคุมเชิงอยู่หน้าบันไดที่หลายคนคงจะจำกันได้นั้น ก็เป็นฝีมือการออกแบบของสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ระเบียงคดรอบพระอุโบสถที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูปปางและสมัยต่างๆ ก็เป็นฝีมือของพระองค์เช่นกัน พื้นระเบียงคดปูด้วยหินอ่อน เสากลมจำนวน 64 ต้น ก็เป็นเสาหินอ่อนทั้งต้น นอกจากนั้นสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น ศาลาหน้าพระอุโบสถ พระที่นั่งทรงธรรม ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือการออกแบบของนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามนี้ทั้งสิ้น
พระที่นั่งวิมานเมฆอันงดงามเลื่องชื่อ
อีกหนึ่งผลงานทางสถาปัตยกรรมที่งดงามเลื่องชื่อคือ “พระที่นั่งวิมานเมฆ” ในพระราชวังดุสิต (ปัจจุบันยังไม่เปิดให้เข้าชม) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่สวนและนาระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมไปจรดคลองสามเสนด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างเป็นอุทยานสถานและพระราชทานนามว่า "สวนดุสิต"

จากนั้นจึงได้สร้างพระที่นั่งถาวรองค์แรกขึ้นคือพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเดิมคือพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ตั้งอยู่ที่พระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชัง แต่ได้รื้อมาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่พระราชวังดุสิต การก่อสร้างได้สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้กำกับการออกแบบ
ตัวพระที่นั่งสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้กำกับการออกแบบ
พระที่นั่งวิมานเมฆมีลักษณะของสถาปัตยกรรมตามแบบตะวันตก ตัวอาคารสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง มีการวางผังตัวอาคารเป็นรูปตัวแอล (L) งดงามตามแบบตะวันตกด้วยลวดลายตามหน้าต่างและช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง
พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร อีกหนึ่งผลงานการออกแบบของพระองค์
“วัดราชาธิวาสวิหาร" หรือชื่อเดิมคือวัดสมอราย ก็เป็นผลงานการออกแบบของพระองค์เช่นกัน วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้ปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้ง มีการรื้อสิ่งก่อสร้างเก่าๆ หลายอย่างทิ้งไป และสร้างใหม่ขึ้นทดแทน รวมถึงพระอุโบสถหลังใหม่ที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบ

พระองค์ทรงออกแบบให้พระอุโบสถนี้มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมขอม มีเสาพาไลโดยรอบ ตรงส่วนด้านบนเรียกซุ้มบันแถลงทั้งสองด้านประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรไว้ ส่วนด้านในพระอุโบสถ จะพบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระองค์ทรงเป็นผู้ออกแบบลายซุ้มพระประธานซึ่งเป็นตราพระราชลัญจกรแบบประยุกต์ของรัชกาลที่ 1-5 และทรงออกแบบภาพเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดกด้วย โดยผู้วาดคือจิตรกรชาวอิตาเลียนชื่อ นายริโกลิ คนเดียวกับที่เขียนภาพบนโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เทคนิคแบบเฟรสโก้ หรือเขียนสีลงบนปูนขณะที่ยังหมาดอยู่
ซุ้มพระประธานซึ่งเป็นตราพระราชลัญจกรแบบประยุกต์ของรัชกาลที่ 1-5
นอกจากงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ในวัดราชาธิวาสฯ แล้ว พระองค์ยังทรงออกแบบพระพุทธรูป "พระนิพพานทรงญาณ" โดยพระเทพรจนา (สิน) เป็นผู้ปั้นและหล่อขึ้นเพื่อเป็นพระประจำวันประสูติในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล) ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวัดราชาธิวาส

พระนิพพานทรงญาณเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางทรงพระสุบิน ศิลปะประยุกต์แบบกรีก ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกในความงามที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ มีพระวรกายคล้ายคนธรรมดา ห่มจีวรพลิ้วไหวเป็นริ้วบางเบาคล้ายผ้าจริง พระเนตรหลับพริ้มงดงามยิ่งนัก ปัจจุบันพระนิพพานทรงญาณประดิษฐานอยู่ ณ ตึกไชยันต์ โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส
พระนิพพานทรงญาณ พระพุทธรูปหล่อสำริดปางทรงพระสุบิน ศิลปะประยุกต์แบบกรีก
ผลงานของพระองค์ยังมีอีกมากมาย อาทิ การออกแบบพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ออกแบบอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 และออกแบบพระเมรุเจ้านายหลายพระองค์ เช่น พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระเมรุสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้น รวมไปถึงงานจิตรกรรมและการออกแบบ อาทิ แบบธง แบบพระราชลัญจกร เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญที่ระลึก ตาลปัตรและลายพัดต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังทรงมีความสามารถด้านดนตรี ทรงเล่นเครื่องดนตรีไทยได้หลายชนิด ทรงพระนิพนธ์เพลงไว้หลายเพลง ที่รู้จักกันดีก็คือเพลงเขมรไทรโยค ยังมิรวมถึงงานวรรณกรรม อาทิ โคลงประกอบภาพจิตรกรรมพระราชพงศาวดาร โคลงประกอบเรื่องรามเกียรติ์ และพระนิพนธ์สำคัญคือ จดหมายเวรตอบโต้กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จนสามารถรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือ "สาส์นสมเด็จ" ที่ทรงแสดงความรู้ด้านต่างๆ ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ให้เราได้ศึกษากันสืบมา

สิ่งเหล่านี้คือผลงานแห่งชีวิตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่องค์การยูเนสโกเล็งเห็นความสำคัญและทรงยกย่องพระองค์ให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” เมื่อปี 2506 เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา

แต่เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์ทรงเป็น "นายช่างใหญ่" ของชาวไทย และได้ทรงฝากผลงานชิ้นเอกไว้ในแผ่นดินไทยจนทุกวันนี้

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


กำลังโหลดความคิดเห็น