xs
xsm
sm
md
lg

ถึงมือ ป.ป.ช.แล้ว 5 พระชั้นผู้ใหญ่-กรรมการ มส.กินเงินทอนวัด มีเพิ่มล็อตใหม่ 19 เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) - ภาพจากแฟ้ม
ตำรวจ ปปป.ส่ง 4 สำนวนพระผู้ใหญ่ 5 รูปจากวัดดังกรุงเทพฯ เอี่ยวทุจริตเงินทอนวัดให้ ป.ป.ช.แล้ว นัด ผอ.สำนักพุทธฯ ให้ข้อมูลทุจริตเงินงบประมาณวัดล็อตใหม่อีก 19 เม.ย.นี้

ความคืบหน้า กรณี พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ยื่นร้องทุกข์ต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อกล่าวโทษต่อพระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป ในคดีทุจริตเงินทอนวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 แห่ง 4 คดี ประกอบด้วย 1.พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร 2.พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม กรรมการ มส. 3.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการ มส. และเจ้าคณะภาค 10 4.พระเมธีสุทธิกร (สังคม ญาณวฑฺฒโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และ 5.พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ในข้อหากระทำความผิดอาญาคดี ทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม

ล่าสุด ช่วงบ่ายวันนี้(16 เม.ย.) พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป.เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ บก.ปปป.ได้ส่งสำนวนทั้งหมด 4 สำนวน ที่มีพระชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้อง 5 รูปดังกล่าว ไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้นอำนาจการสอบสวนจึงอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.ที่จะต้องตรวจสอบต่อไป ส่วนกรณีของการฟอกเงินนั้น จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

สำหรับการดำเนินคดีทุจริตเงินทอนวัดครั้งนี้ ถือเป็นลอตที่ 3 มีทั้งหมด 10 วัด พ.ต.ท.พงศ์พร แจ้งความดำเนินคดีแล้ว 3 วัด ส่วนอีก 7 วัดนั้น ได้มีการประสาน ผอ.พศ.มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในวันที่ 19 เม.ย. ซึ่งจะเป็นคดีใหม่ บางประเด็นจะมีการเจาะลึกลงไปถึงงบประมาณในแต่ละวัดที่เหลือ ซึ่งไม่เกี่ยวกับ 4 สำนวนที่ส่งไปยัง ป.ป.ช.แล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการแจ้งความดำเนินคดีพระชั้นผู้ใหญ่ทั้ง 5 รูป เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา พ.ต.ท.พงศ์พรยังได้ระบุในข้อหาตอนหนึ่งว่า "การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-3 นอกจากกระทำผิดทางอาญาแล้ว ยังเข้าข่ายอาบัติปาราชิกตามพระธรรมวินัย ไม่สมควรครองสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นเจ้า คณะรอง และดำรงตำแหน่งกรรมการ มส." ซึ่งภายหลังจาก พ.ต.ท.พงศ์พร ให้ปากคำเสร็จ พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร รองผู้บังคับการ ปปป.ได้นำพนักงานสอบสวน พร้อมสำนวนคดี 4 แฟ้มใหญ่ ไปส่งให้ ป.ป.ช.ทันที

สำหรับคดีเงินทอนวัด เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีไปก่อนแล้ว 2 ล็อต ล็อตแรก บก.ปปป.ได้ส่งสำนวนการตรวจสอบกรณีการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณปฏิสังขรณ์วัด ไปให้สำนักงาน ป.ป.ช.ไต่สวนทั้งสิ้น 12 คดี อาทิ วัดในจังหวัดอำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา ลำพูน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดมูลความผิดนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการ พศ., นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการ พศ., น.ส.ประนอม คงพิกุล รองผู้อำนวยการ พศ. กับพวกฐานทุจริตงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด กรณีวัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับงบฯ อุดหนุนในปี 2557-2558

นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2561 ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด น.ส.ประนอม, นายพนม และข้าราชการ พศ. รวม 9 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต กรณีอนุมัติจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนแก่วัด 3 แห่ง ใน จ.สงขลา ยะลา นราธิวาส วัดละ 4 ล้านบาท เมื่อปี 2558

ส่วนล็อตที่ 2 มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 19 ราย เป็นการทุจริตเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด จำนวน 23 วัด ตั้งแต่ปี 2555-2560 ความเสียหายประมาณ 140 ล้านบาท แยกเป็น 21 สำนวน 33 แฟ้ม รวมเอกสารกว่า 13,000 แผ่น ซึ่ง บก.ปปป.ได้นำสำนวนยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2560


กำลังโหลดความคิดเห็น