หลายๆ ครั้งที่นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาผ่านมาแถวๆ สะพานพระราม 8 หากมองไปบนฝั่งก็จะเห็นอาคารสีเหลืองนวลที่สวยงาม ตั้งอยู่ด้านใน ฉันเองก็สงสัยมานานว่าอาคารแห่งนี้คือสถานที่ใด จนมีโอกาสดีได้มาเยือนในครั้งนี้
หลังจากปิดปรับปรุงไปพักใหญ่ “วังบางขุนพรหม” แห่งนี้ ก็ได้เปิดให้บริการอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชมความงดงามทั้งภายในและภายนอก โดยสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่ก่อนจะเข้าไปชม เรามาทำความรู้จักกับ “วังบางขุนพรหม” กันก่อนดีกว่า
“วังบางขุนพรหม” เป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้จัดซื้อที่ดินจากราษฎรเพื่อรวบรวมที่ดินให้เป็นผืนเดียวกัน และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมโยธาธิการดำเนินการออกแบบก่อสร้างวังบางขุนพรหม โดยมีทั้งหมด 2 ตำหนัก คือ “ตำหนักทูลกระหม่อม” (ตำหนักใหญ่) เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และ “ตำหนักสมเด็จ” ซึ่งเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
สำหรับตำหนักทูลกระหม่อมมีความโดดเด่นของรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะบาโรค ศิลปะเรเนอซองส์และศิลปะแบบร็อกโคโคที่มีความงามโดดเด่นไปด้วยลวดลายปูนปั้นอันละเอียดละออ โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน ผนังรับน้ำหนัก มีโครงสร้างหลังคาไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องว่าว หลังคาเป็นทรงมังซาร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นหลังคาสองชั้นซ้อนกันโดยมีความลาดของหลังคาแต่ละชั้นไม่เท่ากัน หลังคาชั้นล่างมีหน้าต่างเล็ก ๆ อย่างที่เรียกว่า ดอร์เมอร์ ยื่นออกจากหลังคาห่างกันเป็นระยะเท่า ๆ กัน
นอกจากนี้ยังมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ด้วยการตกแต่งผนังปูนปั้นอันวิจิตร นับเป็นอาคารที่มีลวดลายประดับงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ปูนปั้นเหล่านี้ล้วนเป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในสมัยต่างๆ กัน โดยออกแบบให้สอดคล้องกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
ในอดีตวังแห่งนี้เป็นสถานที่จัดงานสโมสรสันนิบาต ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นสถานที่ให้ครูชาวต่างชาติใช้จัดสอนวิชาต่างๆให้กับพระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวังอื่นๆ จนเรียกกันติดปากว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังบางขุนพรหมได้ถูกใช้เป็นสถานที่ราชการหลายครั้งด้วยกัน จนเมื่อปี พ.ศ.2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เช่าวังบางขุนพรหมเป็นที่ทำการ จนกระทั่งปรับปรุงให้มาเป็น “พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย” และมีการอนุรักษ์วังบางขุนพรหมให้ยังคงสวยงามจนถึงปัจจุบัน
ฉันเข้ามาถึงด้านหน้าของวังบางขุนพรหมแล้ว ก็เตรียมตัวเข้าไปด้านใน โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำชมและให้ความรู้ ชั้นล่างของวังจะพบกับโถงบันได เป็นบันไดหินอ่อน ผังของบันได้เป็นเส้นโค้งสอบเข้าหากัน ทำให้ฐานด้านล่างของบันไดมีความกว้างมากกว่าด้านบน มีการประดับประดาบันไดอย่างสวยงาม ว่ากันว่า บันไดของวังบางขุนพรหมเป็นบันไดที่ออกแบบได้อย่างงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ในยุคนั้นเลยทีเดียว
นอกจากโถงบันไดสวยงามแล้ว ที่ชั้นล่างยังมีห้องชมวิดิทัศน์ ที่จะจัดฉายเรื่องราวเกี่ยวกับวังบางขุนพรหมตั้งแต่เริ่มสร้างจนมาถึงปัจจุบัน
ขึ้นบันไดมาที่ชั้นสอง แล้วเริ่มเข้ามาชมตั้งแต่ห้องแรก “ห้องประวัติและการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย” ที่อธิบายประวัติความเป็นมา และบทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการทำความรู้จักกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้มากขึ้น และติดกันก็ยังมี “ห้องเชิดชูเกียรติ” ที่รวบรวมประวัติและของที่ระลึกจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ท่านแรกจนถึงปัจจุบัน
จากนั้นมาชมห้องที่งดงามที่สุดในวังบางขุนพรหม นั่นคือ “ห้องสีชมพู” ในอดีตเคยเป็นท้องพระโรงหลักสำหรับต้อนรับแขกสำคัญ ตลอดจนใช้ในการทำบุญเลี้ยงพระและพิธีการต่างๆ ด้านในห้องทาสีชมพู ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเดินลายทองทั้งที่ผนัง กรอบช่องเปิด และฝ้าเพดาน ด้านในมีพระบรมรูปเขียนสีน้ำมันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประดิษฐานเป็นภาพประธานของห้อง โดยห้องนี้ไม่ได้เปิดให้เข้าไปชมภายใน แต่สามารถมองผ่านกระจกจากภายนอกได้
ติดกับห้องสีชมพูคือ “ห้องสีน้ำเงิน” เดิมใช้เป็นห้องรับรองอาคันตุกะของหม่อมเจ้าประสงค์สม ชายา ปัจจุบันห้องนี้ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งพระราชทานแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ทางทิศใต้มี “ห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์” เป็นห้องที่ต่อเติมขึ้นภายหลังจากสร้างตำหนักใหญ่แล้วเสร็จ เดิมเป็นห้องบรรทมของหม่อมเจ้าประสงค์สม ชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต่อมา เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เป็นที่ทำการ ห้องนี้ก็ใช้เป็นห้องทำงานของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่พระองค์แรก จนถึงผู้ว่าการคนที่ 10
อีกห้องหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยก็คือ “ห้องบริพัตร” ภายในห้องนี้จะจัดแสดงพระประวัติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต รวมถึงของใช้ที่มีตราประจำพระองค์ และความสนพระทัยในด้านต่างๆ อาทิ เครื่องลายคราม หุ่นจำลองวงปี่พาทย์ โน้ตเพลงลายพระหัตถ์ เป็นต้น
จากบนชั้นสองของตำหนักใหญ่ จะสังเกตเห็นว่ามีทางเดินเชื่อมไปสู่อีกตำหนัก นั่นก็คือ “ตำหนักสมเด็จ” เดิมเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต รวมทั้งเป็นที่ประทับของฝ่ายในคือเจ้านายฝ่ายสตรีของวังบางขุนพรหม ลักษณะการก่อสร้างจึงงดงามอ่อนหวานแบบนวศิลป์ของเยอรมัน ภายในตกแต่งโดยเน้นการแกะสลักไม้ลวดลายพรรณพฤกษาและลายเรขาคณิต ปัจจุบันตำหนักสมเด็จไม่ได้เปิดให้เข้าชม
ชื่นชมภายในตำหนักแล้ว ก็ออกมาเดินชมบริเวณโดยรอบ ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และสะพานพระราม 8 ด้านหลังตำหนักใหญ่มีศาลาหลังคาโค้งตั้งอยู่ หากเข้าไปนั่งภายในแล้วคุยกัน จะได้ยินเสียงสะท้อนดังก้องไปมา เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นมีการสร้างศาลานี้ขึ้นเพื่อใช้เล่นดนตรี ทำให้ได้ยินเสียงดนตรีดังก้อง ปัจจุบันก็ยังเป็นจุดนั่งพัก และเป็นมุมถ่ายรูปที่สวยงามไม่น้อย
ใครที่สนใจจะมาชมความงดงามของวังบางขุนพรหมแบบฉัน สามารถเข้ามาชมได้ในวันเสาร์ โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำชมและบรรยายความรู้ หรือหากจะมาเป็นหมู่คณะ ก็สามารถมาชมได้ในวันธรรมดา แต่ต้องทำจดหมายของอนุญาตล่วงหน้ามาก่อน ก็จะได้มาชมความงดงามที่ทรงคุณค่าของ “วังบางขุนพรหม” แห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“วังบางขุนพรหม” ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. เปิดให้เข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. ให้บริการเข้าชมเป็นหมู่คณะ (15 คนขึ้นไป) โดยต้องจองวันเวลาเข้าชมล่วงหน้า และทำหนังสือขออนุญาตเข้าชม วันเสาร์ เวลา 10.30-16.00 น. เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม (นำบัตรประชาชน บัตรนักเรียน ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง แสดงต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์) โดยจะมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้ในช่วง 11.00 น. และ 14.00 น. นอกจากเวลานี้ก็ยังสามารถเดินชมได้ ด้านในไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2283-5286, 0-2283-6723, 0-2283-6152
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com