โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)

ปีลิงไป ปีไก่มา
สำหรับปีนี้ ปี พ.ศ.2560 เป็นปีระกาหรือปีไก่ ตามคติความเชื่อของล้านนาโบราณในเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด หรือการไหว้พระธาตุประจำปีนักษัตร(12 นักษัตร)นั้น ใครที่เกิดปีระกาหรือไปไก่ ให้ไปนมัสการพระธาตุประจำปีระกา คือ “พระธาตุหริภุญชัย” ในจังหวัดลำพูน ก็จะถือเป็นสิริมงคลอันสูงล้ำดียิ่ง หากผู้เกิดในปีนักษัตรนั้นๆได้ไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน
พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำปีระกา

พระธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูนในวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร หมู่ 1 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนประมาณ 150 เมตร
พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดลำพูน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูน และเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญแห่งดินแดนล้านนา นอกจากนี้ยังเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีระกา(ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
พระธาตุหริภุญชัย สร้างใน ปี พ.ศ. 1607 โดย พระเจ้าอาทิตยราชเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประกอบด้วย ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง

ตามตำนานพระธาตุหริภุญชัยกล่าวว่า ลักษณะขององค์พระธาตุที่สร้างแรกเริ่มเดิมทีเป็นไปตาม พุทธทำนาย คือ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาท สูง 12 ศอก(6 เมตร) มีซุ้มทวาร เข้า- ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทศิลาแลงสี่เหลี่ยมอยู่มุมละองค์
ครั้นเมื่อพญามังราย เข้ามายึดเมืองหริภุญชัยไว้ในครอบครอง ทรงโปรดให้บูรณะองค์พระธาตุหริภุญชัย ปรับปรุงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด
ต่อมาในราวปี พ.ศ. 1990(บางข้อมูลระบุปี พ.ศ. 1986) สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้บูรณะพระธาตุหริภุญชัยครั้งใหญ่ มีการปรับรูปทรงเป็นเจดีย์ดังรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน

องค์พระธาตุหริภุญชัย ปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆัง(ทรงกลม)แบบล้านนาอันสวยงามสมส่วน หุ้มทองจังโกสีทองงดงามอร่ามตา อีกทั้งยังเป็นต้นแบบและมีอิทธิพลต่อพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆอีกหลากหลาย อย่างเช่น พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็นต้น
ทุกๆปีในวันเพ็ญเดือนหกจะมีการจัดงาน “ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย” โดยจะมีการอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จาก“ดอยมะข้อ”มาเข้าร่วมการสรงน้ำตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ ซึ่งนอกจากชาวจังหวัดลำพูนแล้ว ก็ยังมีประชาชนคนไทยในจังหวัดต่างๆและชาวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
วัดพระธาตุหริภุญชัย งานพุทธศิลป์ทรงคุณค่า

นอกจากพระธาตุหริภุญชัยที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวลำพูนแล้ว วัดพระธาตุหริภุญชัยและบริเวณโดยรอบยังมีสิ่งน่าสนใจให้สักการะและเที่ยวชมกันอีกมากมาย
และนี่ก็คือสิ่งน่าสนใจเด่นๆในวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่ไม่ควรพลาดการสักกาะบูชาและเพ่งพินิจชื่นชมในความงามของงานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่ากันเป็นจำนวนมาก
เริ่มจาก “พระเจ้าทองทิพย์” ที่ประดิษฐานอยู่อุโบสถพระทองทิพย์ ที่อยู่ทางขวามือ ด้านหน้าก่อนถึงทางเข้าในเขตกำแพงวัด
พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีทองอร่าม มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง น่าสักการบูชาเป็นยิ่งนัก แต่เสียดายที่หลายๆคนมักมองข้ามไป

จากนั้นก่อนจะเดินลอดซุ้มประตูโขงเข้าในเขตกำแพงวัด ทางด้านซ้ายมือจะมี “พระพุทธไสยาสน์บรมธาตุอุปนันท์” ที่เป็นพระนอนสีทอง มีพุทธสรีระอันงดงามประดิษฐานอยู่ในวิหาร มีคนนิยมมากราบไหว้กันไม่ได้ขาด
ส่วนเมื่อจะเข้าสู่เขตพุทธาวาสของวัด จะต้องผ่าน“ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์” ที่ตรงส่วนยอดสร้างเป็นทรงปราสาทซ้อนกันหลายชั้น ประดับลวดลายปูนปั้น ฝีมือช่างชั้นครูอันสวยงามประณีตอ่อนช้อยงดงาม ส่วนเหตุที่ได้ชื่อว่าซุ้มประตูโขงทาสิงห์ เพราะในอดีตถัดจากซุ้มประตูแห่งนี้ไปทางทิศตะวันออก มีสะพานไม้ทอดข้ามแม่น้ำกวงไปยังวัดพระยืน จึงได้ชื่อว่าซุ้มประตูโขงท่าสิงห์

สองฟากฝั่งซุ้มประตูโขงท่าสิงห์ มี 2 สิงค์คู่สูงประมาณ 3 เมตร สีน้ำตาลอมแดงยืนเด่นงามสง่า ขนาบ 2 ข้างซ้าย-ขวา สิงห์คู่ 2 ตัวนี้ มีข้อมูลระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อปี พ.ศ.1990 คราวเดียวกับการบูรณะองค์พระธาตุครั้งสำคัญ ซุ้มประตู และสิงห์คู่ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2499

นับเป็นประติมากรรมสิงห์และซุ้มประตูทางเข้าวัดอันสวยเด่นและมีเอกลักษณ์ไม่น้อย
เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูโขงเข้าเขตกำแพงวัดพระธาตุหริภุญชัย จะพบกับ “วิหารหลวง” ตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณด้านหน้าขององค์พระธาตุหริภุญชัย

ภายในวิหารหลวงประดิษฐาน “พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” เป็นองค์พระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สีทองเหลืองอร่ามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา นับเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูนองค์สำคัญยิ่ง

ขณะที่ข้างองค์พระประธานมีองค์พระบริวาร 2 องค์อยู่ซ้าย-ขวาและพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดต่างอีกหลายองค์ ส่วนทางด้านขวามือของวิหารหลวง(เมื่อมองเข้าไป)มีรูปเคารพหุ่นขี้ผึ้ง “ครูบาศรีวิชัย” ให้สักการะบูชากัน

นอกจากวิหารหลวง และองค์พระธาตุหริภุญชัย ที่เป็น 2 ไฮไลท์เด่นๆแล้ว ภายในเขตพุทธาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมีสิ่งน่าสนใจเด่นๆ ได้แก่
-หอธรรม มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารปูน ชั้นบนเป็นสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ ประดับด้วยลวดลายฉลุไม้ลงรักปิดทองล่องชาดอย่างสวยงาม

-หอระฆัง-กังสดาล เป็นอาคารปูนโล่ง 2 ชั้น ศิลปะหริภุญชัย ชั้นล่างแขวนกังสดาล ชั้นบนแขวนระฆังสำริดที่หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ ผู้ครองเมืองลำพูน ในช่วง พ.ศ. 2414-2433

-ปทุมวดีเจดีย์หรือสุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับเจดีย์เหลี่ยมหรือกู่กุดวัดจามเทวี กับงานศิลปกรรมหริภุญชัยอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตามประวัติเล่าว่าพระนางปทุมเจดีย์ อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างเจดีย์องค์นี้พร้อมกับพระสวามีที่สร้างพระธาตุหริภุญชัย
ปทุมวดีเจดีย์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมขนาดลดหลั่นกันไป 5 ชั้น ฐานเป็นศิลาแลง ตัวเรือนธาตุประดับซุ้มจระนำ ภายในซุ้มมีพระพุทธปางประทับยืนประทับอยู่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงบางส่วน ส่วนปลียอดมีสีทองเหลืองอร่าม

ขณะที่สิ่งน่าสนใจอื่นภายในเขตพุทธาวาสของวัดพระธาตุหริภุญชัยก็มี “หลวงพ่อทันใจ”, “พระเจ้าละโว้”, “พระเจ้าแดง”(พระเจ้ากลักเกลือ,พระเจ้าเพ้อเล้อ), “วิหารพระเจ้าพันตน”, “เขาพระสุเมรุ”, “วิหารพระพุทธ”, “รอยพระพุทธบาท 4 รอย”, และรูปเคารพครูบาศรีวิชัยสีทองอร่ามพร้อมกับป้ายข้อความที่เขียนบอกว่า เป็น“สถานที่กักบริเวณ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ก่อนนิมนต์ท่านไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ”

รวมถึงล่าสุดวัดพระธาตุหริภุญชัยยังได้เปิด “พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว” จัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าต่างๆ ที่หาดูได้ยากมารวมไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อาทิ สัตภัณฑ์ขนาดใหญ่,หีบธรรม,หำยนต์,กลองหลวง,ขั้นบันไดแก้ว-คำ(ทอง)-เงิน และแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นต้น

ส่วนที่บริเวณด้านข้างของวัด(ด้านซ้ายเมื่อมองเข้าไปจากด้านหน้า) จะมีรูปเคารพพระนางจามเทวี,เทพราหู และ สะดือเมืองลำพูน ให้สักการะบูชากัน

นอกจากนี้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยยังมีกิจกรรมน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ “การนั่งรถรางเที่ยวชมเมือง” โดยจะพาไปแวะเที่ยวชมจุดสำคัญๆต่างในตัวเมืองลำพูน อาทิ “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี”, “วัดจามเทวี”, “วัดมหาวัน”, “วัดพระคงฤาษี” และ “กู่ช้าง-กู่ม้า” เป็นต้น
นับเป็นการท่องโลกเมืองลำพูนในแบบฉบับย่อที่น่าสนใจยิ่ง

ขณะที่จากวัดพระธาตุหริภุญชัยหากเดินข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้าม จะได้พบกับ “ขัวมุงท่าสิงห์” ที่เป็นสะพานคนเดินขายสินค้าที่ระลึกหลากหลาย โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์จากลำไย และผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือ(ราคาเยา) ของดีขึ้นชื่อ ซึ่งเป็นสินค้าอันโดดเด่นของที่นี่ให้ผู้สนใจได้ชอปปิ้งกันอย่างจุใจ

ส่วนถ้าเดินทะลุสะพานไปจะเป็นถนนสายวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตชุมชน บ้านเรือน วัดเก่า ศูนย์หัตถกรรม ของชาวยองให้ได้สัมผัสชื่นชมกัน รวมถึงยังมีเมนูเด็ดอย่าง“ก๋วยเตี๋ยวลำไย” แห่งร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย(เวียงยอง) ที่เป็นเมนูต้องห้าม...พลาดเมื่อมาเยือนลำพูนให้ลองลิ้มชิมรสกัน

และนี่ก็คือสิ่งน่าสนใจอันโดดเด่นที่อยู่เคียงคู่กับพระธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำปีระกา และวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของเมืองลำพูนแล้ว ภายในวัดและรอบๆบริเวณวัดยังมียิ่งที่น่าสนใจให้ชมกันอีกมากมาย
นับเป็นมนต์เสน่ห์แห่งพระธาตุปีไก่ ที่ผู้สนใจไม่ว่าจะเกิดปีไหนๆก็สามารถไปสักการะ นมัสการกันได้ตามจิตศรัทธา

******************************************
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลพระธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงในบทความ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดลำพูนได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานลำปาง (พื้นที่รับผิดชอบลำปาง,ลำพูน) โทร.0-5422-2214-15 เปิดทุกวัน เวลา 08.30น.-16.30น.
ปีลิงไป ปีไก่มา
สำหรับปีนี้ ปี พ.ศ.2560 เป็นปีระกาหรือปีไก่ ตามคติความเชื่อของล้านนาโบราณในเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด หรือการไหว้พระธาตุประจำปีนักษัตร(12 นักษัตร)นั้น ใครที่เกิดปีระกาหรือไปไก่ ให้ไปนมัสการพระธาตุประจำปีระกา คือ “พระธาตุหริภุญชัย” ในจังหวัดลำพูน ก็จะถือเป็นสิริมงคลอันสูงล้ำดียิ่ง หากผู้เกิดในปีนักษัตรนั้นๆได้ไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน
พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำปีระกา
พระธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูนในวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร หมู่ 1 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดลำพูนประมาณ 150 เมตร
พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดลำพูน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูน และเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญแห่งดินแดนล้านนา นอกจากนี้ยังเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีระกา(ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
พระธาตุหริภุญชัย สร้างใน ปี พ.ศ. 1607 โดย พระเจ้าอาทิตยราชเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประกอบด้วย ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง
ตามตำนานพระธาตุหริภุญชัยกล่าวว่า ลักษณะขององค์พระธาตุที่สร้างแรกเริ่มเดิมทีเป็นไปตาม พุทธทำนาย คือ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาท สูง 12 ศอก(6 เมตร) มีซุ้มทวาร เข้า- ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทศิลาแลงสี่เหลี่ยมอยู่มุมละองค์
ครั้นเมื่อพญามังราย เข้ามายึดเมืองหริภุญชัยไว้ในครอบครอง ทรงโปรดให้บูรณะองค์พระธาตุหริภุญชัย ปรับปรุงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด
ต่อมาในราวปี พ.ศ. 1990(บางข้อมูลระบุปี พ.ศ. 1986) สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้บูรณะพระธาตุหริภุญชัยครั้งใหญ่ มีการปรับรูปทรงเป็นเจดีย์ดังรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน
องค์พระธาตุหริภุญชัย ปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆัง(ทรงกลม)แบบล้านนาอันสวยงามสมส่วน หุ้มทองจังโกสีทองงดงามอร่ามตา อีกทั้งยังเป็นต้นแบบและมีอิทธิพลต่อพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆอีกหลากหลาย อย่างเช่น พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็นต้น
ทุกๆปีในวันเพ็ญเดือนหกจะมีการจัดงาน “ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย” โดยจะมีการอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จาก“ดอยมะข้อ”มาเข้าร่วมการสรงน้ำตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ ซึ่งนอกจากชาวจังหวัดลำพูนแล้ว ก็ยังมีประชาชนคนไทยในจังหวัดต่างๆและชาวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
วัดพระธาตุหริภุญชัย งานพุทธศิลป์ทรงคุณค่า
นอกจากพระธาตุหริภุญชัยที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวลำพูนแล้ว วัดพระธาตุหริภุญชัยและบริเวณโดยรอบยังมีสิ่งน่าสนใจให้สักการะและเที่ยวชมกันอีกมากมาย
และนี่ก็คือสิ่งน่าสนใจเด่นๆในวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่ไม่ควรพลาดการสักกาะบูชาและเพ่งพินิจชื่นชมในความงามของงานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่ากันเป็นจำนวนมาก
เริ่มจาก “พระเจ้าทองทิพย์” ที่ประดิษฐานอยู่อุโบสถพระทองทิพย์ ที่อยู่ทางขวามือ ด้านหน้าก่อนถึงทางเข้าในเขตกำแพงวัด
พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีทองอร่าม มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง น่าสักการบูชาเป็นยิ่งนัก แต่เสียดายที่หลายๆคนมักมองข้ามไป
จากนั้นก่อนจะเดินลอดซุ้มประตูโขงเข้าในเขตกำแพงวัด ทางด้านซ้ายมือจะมี “พระพุทธไสยาสน์บรมธาตุอุปนันท์” ที่เป็นพระนอนสีทอง มีพุทธสรีระอันงดงามประดิษฐานอยู่ในวิหาร มีคนนิยมมากราบไหว้กันไม่ได้ขาด
ส่วนเมื่อจะเข้าสู่เขตพุทธาวาสของวัด จะต้องผ่าน“ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์” ที่ตรงส่วนยอดสร้างเป็นทรงปราสาทซ้อนกันหลายชั้น ประดับลวดลายปูนปั้น ฝีมือช่างชั้นครูอันสวยงามประณีตอ่อนช้อยงดงาม ส่วนเหตุที่ได้ชื่อว่าซุ้มประตูโขงทาสิงห์ เพราะในอดีตถัดจากซุ้มประตูแห่งนี้ไปทางทิศตะวันออก มีสะพานไม้ทอดข้ามแม่น้ำกวงไปยังวัดพระยืน จึงได้ชื่อว่าซุ้มประตูโขงท่าสิงห์
สองฟากฝั่งซุ้มประตูโขงท่าสิงห์ มี 2 สิงค์คู่สูงประมาณ 3 เมตร สีน้ำตาลอมแดงยืนเด่นงามสง่า ขนาบ 2 ข้างซ้าย-ขวา สิงห์คู่ 2 ตัวนี้ มีข้อมูลระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อปี พ.ศ.1990 คราวเดียวกับการบูรณะองค์พระธาตุครั้งสำคัญ ซุ้มประตู และสิงห์คู่ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2499
นับเป็นประติมากรรมสิงห์และซุ้มประตูทางเข้าวัดอันสวยเด่นและมีเอกลักษณ์ไม่น้อย
เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูโขงเข้าเขตกำแพงวัดพระธาตุหริภุญชัย จะพบกับ “วิหารหลวง” ตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณด้านหน้าขององค์พระธาตุหริภุญชัย
ภายในวิหารหลวงประดิษฐาน “พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” เป็นองค์พระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สีทองเหลืองอร่ามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา นับเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูนองค์สำคัญยิ่ง
ขณะที่ข้างองค์พระประธานมีองค์พระบริวาร 2 องค์อยู่ซ้าย-ขวาและพระพุทธรูปองค์เล็กขนาดต่างอีกหลายองค์ ส่วนทางด้านขวามือของวิหารหลวง(เมื่อมองเข้าไป)มีรูปเคารพหุ่นขี้ผึ้ง “ครูบาศรีวิชัย” ให้สักการะบูชากัน
นอกจากวิหารหลวง และองค์พระธาตุหริภุญชัย ที่เป็น 2 ไฮไลท์เด่นๆแล้ว ภายในเขตพุทธาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมีสิ่งน่าสนใจเด่นๆ ได้แก่
-หอธรรม มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารปูน ชั้นบนเป็นสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ ประดับด้วยลวดลายฉลุไม้ลงรักปิดทองล่องชาดอย่างสวยงาม
-หอระฆัง-กังสดาล เป็นอาคารปูนโล่ง 2 ชั้น ศิลปะหริภุญชัย ชั้นล่างแขวนกังสดาล ชั้นบนแขวนระฆังสำริดที่หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ ผู้ครองเมืองลำพูน ในช่วง พ.ศ. 2414-2433
-ปทุมวดีเจดีย์หรือสุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับเจดีย์เหลี่ยมหรือกู่กุดวัดจามเทวี กับงานศิลปกรรมหริภุญชัยอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตามประวัติเล่าว่าพระนางปทุมเจดีย์ อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างเจดีย์องค์นี้พร้อมกับพระสวามีที่สร้างพระธาตุหริภุญชัย
ปทุมวดีเจดีย์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมขนาดลดหลั่นกันไป 5 ชั้น ฐานเป็นศิลาแลง ตัวเรือนธาตุประดับซุ้มจระนำ ภายในซุ้มมีพระพุทธปางประทับยืนประทับอยู่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงบางส่วน ส่วนปลียอดมีสีทองเหลืองอร่าม
ขณะที่สิ่งน่าสนใจอื่นภายในเขตพุทธาวาสของวัดพระธาตุหริภุญชัยก็มี “หลวงพ่อทันใจ”, “พระเจ้าละโว้”, “พระเจ้าแดง”(พระเจ้ากลักเกลือ,พระเจ้าเพ้อเล้อ), “วิหารพระเจ้าพันตน”, “เขาพระสุเมรุ”, “วิหารพระพุทธ”, “รอยพระพุทธบาท 4 รอย”, และรูปเคารพครูบาศรีวิชัยสีทองอร่ามพร้อมกับป้ายข้อความที่เขียนบอกว่า เป็น“สถานที่กักบริเวณ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ก่อนนิมนต์ท่านไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ”
รวมถึงล่าสุดวัดพระธาตุหริภุญชัยยังได้เปิด “พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว” จัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าต่างๆ ที่หาดูได้ยากมารวมไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อาทิ สัตภัณฑ์ขนาดใหญ่,หีบธรรม,หำยนต์,กลองหลวง,ขั้นบันไดแก้ว-คำ(ทอง)-เงิน และแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นต้น
ส่วนที่บริเวณด้านข้างของวัด(ด้านซ้ายเมื่อมองเข้าไปจากด้านหน้า) จะมีรูปเคารพพระนางจามเทวี,เทพราหู และ สะดือเมืองลำพูน ให้สักการะบูชากัน
นอกจากนี้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยยังมีกิจกรรมน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ “การนั่งรถรางเที่ยวชมเมือง” โดยจะพาไปแวะเที่ยวชมจุดสำคัญๆต่างในตัวเมืองลำพูน อาทิ “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี”, “วัดจามเทวี”, “วัดมหาวัน”, “วัดพระคงฤาษี” และ “กู่ช้าง-กู่ม้า” เป็นต้น
นับเป็นการท่องโลกเมืองลำพูนในแบบฉบับย่อที่น่าสนใจยิ่ง
ขณะที่จากวัดพระธาตุหริภุญชัยหากเดินข้ามถนนไปยังฝั่งตรงข้าม จะได้พบกับ “ขัวมุงท่าสิงห์” ที่เป็นสะพานคนเดินขายสินค้าที่ระลึกหลากหลาย โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์จากลำไย และผ้าไหม ผ้าฝ้ายทอมือ(ราคาเยา) ของดีขึ้นชื่อ ซึ่งเป็นสินค้าอันโดดเด่นของที่นี่ให้ผู้สนใจได้ชอปปิ้งกันอย่างจุใจ
ส่วนถ้าเดินทะลุสะพานไปจะเป็นถนนสายวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตชุมชน บ้านเรือน วัดเก่า ศูนย์หัตถกรรม ของชาวยองให้ได้สัมผัสชื่นชมกัน รวมถึงยังมีเมนูเด็ดอย่าง“ก๋วยเตี๋ยวลำไย” แห่งร้านก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย(เวียงยอง) ที่เป็นเมนูต้องห้าม...พลาดเมื่อมาเยือนลำพูนให้ลองลิ้มชิมรสกัน
และนี่ก็คือสิ่งน่าสนใจอันโดดเด่นที่อยู่เคียงคู่กับพระธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำปีระกา และวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของเมืองลำพูนแล้ว ภายในวัดและรอบๆบริเวณวัดยังมียิ่งที่น่าสนใจให้ชมกันอีกมากมาย
นับเป็นมนต์เสน่ห์แห่งพระธาตุปีไก่ ที่ผู้สนใจไม่ว่าจะเกิดปีไหนๆก็สามารถไปสักการะ นมัสการกันได้ตามจิตศรัทธา
******************************************
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลพระธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงในบทความ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางไปในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดลำพูนได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานลำปาง (พื้นที่รับผิดชอบลำปาง,ลำพูน) โทร.0-5422-2214-15 เปิดทุกวัน เวลา 08.30น.-16.30น.