xs
xsm
sm
md
lg

“รอยพระบาทของพ่อ” รอยพระบาทแห่งสันติสุขเพียงหนึ่งเดียวที่เชียงราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศาลารอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายในค่ายเม็งรายมหาราช
“ไม่มีที่ใดในแผ่นดินไทย ที่พระองค์เสด็จไปไม่ถึง” แม้กระทั่งบนพื้นที่สีแดง ตั้งแต่สมัยยุคสงครามเย็นระหว่างรัฐบาล (ทหาร) ไทย กับกลุ่มผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.) และยังประทับรอยพระบาทไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงสันติสุขที่ก่อกำเนิดขึ้นได้บนพื้นที่สีแดงแห่งนั้น

และพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประทับรอยพระบาทเอาไว้ ก็คือ “ดอยพญาพิภักดิ์” หรือเรียกอีกชื่อว่า “ภูหลงถัง” ตั้งอยู่ที่ ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย
ภาพเมื่อครั้งที่ทรงประทับรอยพระบาท ณ ดอยพญาพิภักดิ์ จ.เชียงราย (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
“ดอยพญาพิภักดิ์” นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เนื่องจากในยุคสงครามเย็นที่มีการรบพุ่งกันระหว่างรัฐบาล(ทหาร)ไทยกับกลุ่มผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.) และชาวบ้านในพื้นที่ที่หลายๆ คนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐผลักไสให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม ในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น บนดอยพญาพิภักดิ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งกองกำลังเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 จนเกิดเสียงปืนแตกนำสู่การต่อสู้ที่ยืดเยื้อขึ้น
รอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2524 พันโทวิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 473 ได้นำกำลังพลเข้าปฏิบัติการในยุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยพญาพิภักดิ์ จนสามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้นลงได้

แต่การสู้รบครั้งนั้น เหล่าทหารหาญก็ได้พลีชีพเพื่อชาติไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญและพสกนิกร ณ ฐานปฏิบัติการพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว ท่ามกลางชาวบ้านที่เดินทางมาเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525
ภายในศาลารอยพระบาท
นอกจากนี้ในการเสด็จฯ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้จัดเตรียมไว้ ตามคำกราบบังคมทูลของพันโทวิโรจน์ ที่ศาลาบนดอยพญาพิภักดิ์

นอกจากนี้ในการเสด็จฯ ครั้งนั้น แม้สถานการณ์ควันไฟจากการสู้รบจะเพิ่งสงบได้หมาดๆ ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อภยันอันตราย เพราะในเขตพื้นที่ดอยพญาพิภักดิ์ (เขตงานที่ 8) ถือเป็นหนึ่งในเขตที่มีความรุนแรงที่สุด เพราะเป็นประตูในปฏิบัติการประสานกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในไทย ลาว และเวียดนาม แต่ด้วยน้ำพระทัยอันกล้าหาญ พระองค์ท่านทรงรับการมอบตัวและมอบอาวุธต่อกองกำลังฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเพื่อรับเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำให้ความขัดแย้งยุติลง ความสงบสันติสุขกลับคืนมา
ทิวทัศน์ตัวเมืองเชียงรายจากดอยโหยด
ปัจจุบัน รอยพระบาทบนปูนปลาสเตอร์นั้นถูกนำมาเก็บไว้ที่ “ศาลารอยพระบาท” ยอดดอยโหยด ภายในค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย โดยเดิมทีนั้นรอยพระบาทของในหลวง ร.9 จะเป็นที่รู้กันเฉพาะในหมู่ค่ายทหารเม็งรายมหาราช แต่ต่อมา เมื่อหน่วยทหารเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปท่องเที่ยวได้ จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนภายนอกจะสามารถเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ศาลารอยพระบาท บนยอดดอยโหยด
หากต้องการเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะรอยพระบาท สามารถเดินทางเข้าไปยังค่ายเม็งรายมหาราช ได้ทั้งด้านหน้า ช่องทาง 1 และด้านหลังค่าย ช่องทาง 5 (มีซุ้มประตูชื่อ ศาลารอยพระบาท) ผ่านสนามกอล์ฟแม่กก คลับเฮาส์ อาคารที่พักรับรองริมแม่น้ำกก และผ่านสนามกอล์ฟ เพื่อขึ้นไปสักการะและสัมผัสบรรยากาศ ชมวิวทิวทัศน์ตัวเมืองเชียงรายได้โดยรอบ ณ ศาลารอยพระบาท บนยอดดอยโหยด สามารถเข้าชมได้ทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น