xs
xsm
sm
md
lg

คณะมนตรีความมั่นคงไฟเขียวอดีตผู้นำโปรตุเกสนั่งเลขาธิการสหประชาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<em> <br><FONT color=#000033>นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส ขึ้นแท่นนั่งเก้าอี้เลขาธิการสหประชาชาติคนต่อไป. -- Agence France-Presse/Kena Betancur.</font></b></em>

เอเอฟพี – คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีมติเลือกอดีตนายกรัฐมนตรีแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส จากโปรตุเกส ดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นคนต่อไป ซึ่งถือเป็นหัวหน้ารัฐบาลคนแรกที่ได้ขึ้นสู่เก้าอี้นี้ ที่ปกติแล้วจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติต่างๆ นอกจากนั้น การได้ฉันทามติสนับสนุนอย่างรวดเร็วยังสร้างความประหลาดใจในหมู่นักการทูตมากมาย

กูเตอร์เรส ที่รับผิดชอบสำนักงานผู้ลี้ภัยของยูเอ็นมานานหนึ่งทศวรรษ ได้รับการสนับสนุนในการหยั่งเสียงจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 13 จาก 15 ชาติ โดยที่ไม่มีสมาชิกถาวรชาติหนึ่งชาติใดใน 5 ชาติคัดค้าน

ภายหลังการหยั่งเสียงเมื่อวันพุธ (5) วิทาลี เชอร์กิน เอกอัครราชทูตรัสเซีย ออกมาประกาศว่า กูเตอร์เรสคือผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นคนต่อไปสืบต่อจากบัน คี-มูน โดยคณะมนตรีจะลงมติอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสฯ (6) เพื่อยืนยันการเลือกกูเตอร์เรส ซึ่งเชอร์กินคาดว่า จะเป็นการเลือกโดยที่ไม่มีการเสนอชื่อแคนดิเดตคนอื่น

นักการเมืองสังคมนิยมวัย 67 ปีผู้นี้ ประกาศจะปฏิรูปยูเอ็นเพื่อส่งเสริมความพยายามในการรักษาสันติภาพและสิทธิมนุษยชน

ในขั้นตอนการลงคะแนนลับ กูเตอร์เรสได้คะแนนจาก 4 ชาติสมาชิกถาวร ขณะที่อีกชาติ “งดออกความเห็น” ซึ่งเท่ากับเป็นการปูทางสู่การกุมบังเหียนองค์กรโลกบาลแห่งนี้

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สมาชิกถาวร 5 ชาติ ประกอบด้วยอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และอเมริกา ใช้บัตรลงคะแนนรหัสสีเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า ต้องการคัดค้านผู้สมัครหรือไม่

กูเตอร์เรสที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโปรตุเกสระหว่างปี 1995-2002 ได้รับเลือกอันดับ 1 ในการโหวตอย่างไม่เป็นทางการห้าครั้งก่อนหน้านี้ แต่การได้รับฉันทามติอย่างรวดเร็วทำให้นักการทูตมากมายประหลาดใจไปตามๆ กัน

กูเตอร์เรสจะเป็นอดีตหัวหน้ารัฐบาลคนแรกที่ได้เป็นนายใหญ่ยูเอ็น ซึ่งปกติแล้วเป็นตำแหน่งที่สืบทอดในหมู่รัฐมนตรีต่างประเทศ และส่วนใหญ่ได้รับเลือกจากการโหวตแบบปิดลับของคณะมนตรีความมั่นคง แต่สำหรับการเลือกครั้งนี้เป็นกระบวนการใหม่ที่เปิดเผยมากขึ้น กล่าวคืออนุญาตให้ผู้สมัครปรากฏตัวเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในสมัชชาใหญ่แห่งยูเอ็น

หลังจากได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะมนตรีความมั่นคง จะมีการเสนอชื่อกูเตอร์เรส เพื่อให้สมัชชาใหญ่แห่งยูเอ็นอนุมัติการแต่งตั้ง และผู้นำคนใหม่ของยูเอ็นจะเข้ารับหน้าที่ในวันที่ 1 มกราคม 2017 และอยู่ในตำแหน่งนาน 5 ปี
.
<br><FONT color=#000033>วิทาลี เชอร์กิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ (กลาง) ประกาศว่ากูเตอร์เรสได้เสียงสนับสนุนจากการหยั่งเสียงของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงมากที่สุด. -- Associated Press/United Nations.</font></b>
.
ฟรังซัวส์ เดอลาตร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส กล่าวว่า การเลือกกูเตอร์เรสที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ถือเป็นข่าวดีสำหรับยูเอ็น ขณะที่แมททิว ไรครอฟต์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ ยกย่องว่า กูเตอร์เรสจะเป็นเลขาธิการที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างมาก

ซาแมนธา พาวเวอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ชี้ว่า ประสบการณ์และวิสัยทัศน์ของกูเตอร์เรส “น่าสนใจ” และย้ำความจำเป็นที่ยูเอ็นจะต้องมีผู้นำที่มีประสิทธิภาพระหว่างที่โลกเผชิญวิกฤตมากมายหลายด้าน

ประธานาธิบดีมาร์เซโล เรเบโล เดอ ซูซาของโปรตุเกส ขานรับว่า ผลการหยั่งเสียงนี้ดีต่อโลก ยูเอ็น รวมทั้งโปรตุเกส

หลุยส์ ชาร์บอนโน ผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมน ไรต์ วอตช์ของยูเอ็น แสดงความเชื่อมั่นวา กูเตอร์เรสจะนำมาซึ่งแนวทางใหม่ๆ ชนิดถอนรากถอนโคนในด้านสิทธิมนุษยชนขณะที่กำลังมีการท้าทายใหญ่หลวง แต่สำทับว่า ความสำเร็จของกูเตอร์เรสขึ้นอยู่กับความสามารถในการยืนหยัดต้านทานมหาอำนาจที่มีสิทธิ์วีโต้

อนึ่ง ในการชิงตำแหน่งผู้นำยูเอ็นครั้งนี้มีผู้สมัครทั้งหมด 10 คน ซึ่งรวมถึงกรรมาธิการงบประมาณของสหภาพยุโรป (อียู) คริสตาลินา จิออร์จีวา จากบัลแกเรีย ที่เพิ่งมีรายชื่อปรากฏขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ดี อดีตรองประธานธนาคารโลกผู้นี้ไม่สามารถชนะใจสมาชิกถาวร 2 ชาติ โดยคาดว่า รัสเซียอาจคัดค้านการลงสมัครของเธอ

ขณะเดียวกัน ไอรีนา โบโควา ประธานยูเนสโกที่ถูกรัฐบาลบัลแกเรียผลักไสเพื่อแผ้วทางให้จิออร์จีวา ถูกคัดค้านจากสมาชิกถาวร 2 ชาติ

ตลอดกระบวนการสรรหายังมีเสียงเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงเลือกเลขาธิการหญิงคนแรก นอกจากนั้น ยุโรปตะวันออกยังเป็นภูมิภาคเดียวที่ไม่เคยสัมผัสเก้าอี้ประมุขยูเอ็น

ผู้สมัครหญิงโปรไฟล์ดีอีกคนคือ ซูซานา มัลคอร์รา รัฐมนตรีต่างประเทศอาร์เจนตินา ถูกยับยั้งจากสมาชิกถาวร 1 ชาติ ขณะที่มิโรสลาฟ ลาจแค็ก ถูกคัดค้านจากสมาชิกถาวร 2 ชาติ

เฮเลน คลาร์ก อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์และผู้นำโครงการพัฒนาแห่งยูเอ็น ถูกโหวตยับยั้งจากสมาชิกถาวร 3 ชาติ เช่นเดียวกับวุค เจเรมิก อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเซอร์เบีย, ซาร์ตจัน เคอริม อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศมาซิโดเนีย และนาตาเลีย เกร์มาน จากมอลโดวา

ส่วนอดีตประธานาธิบดีดานิโล เติร์กของสโลวีเนีย ถูกโหวตคัดค้านจากสมาชิกถาวร 4 ชาติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น