xs
xsm
sm
md
lg

"ศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบน" พลิกฟื้นป่าชายเลนเพื่อปวงชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนที่วันนี้อุดมสมบูรณ์
“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ถือเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญในภาคตะวันออก ที่ช่วยพลิกฟื้นป่าชายเลนอันเสื่อมโทรม ให้กลับกลายมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประมงและการเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2524 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีว่า "...ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตร ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเล และจังหวัดจันทบุรี..." อีกทั้งยังได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสนั้นเป็นทุนเริ่มดำเนินการ
ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนเห็นได้ตลอดเส้นทาง
ป่าชายเลนที่กำลังเติบโต
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สาระสรุปได้ว่า “...ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล...”

ทางจังหวัดจันทบุรีจึงได้ร่วมกันหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และกำหนดพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่

ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น จึงรับสนองพระราชดำริ ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานจังหวัดจันทบุรี กรมที่ดิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โครงการชลประทานจังหวัดจันทบุรี กรมชลประทาน สำนักนโยบายและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด กรมปศุสัตว์ และอื่นๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ฟื้นฟูดูแลสภาพแวดล้อมของชายฝั่งทะเลให้มีสภาพสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลกว่า 2,000 ไร่
รากต้นโกงกางที่แผ่ไปไกล
ปู่แสมขาว อายุกว่า 200 ปี
นับแต่นั้นมาป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนจึงได้พลิกฟื้นจากป่าเสื่อมโทรม กลายเป็นป่าชายเลนอันทรงคุณค่าที่มากไปด้วยระบบนิเวศอันหลากหลาย อีกทั้งภายหลังจากที่ฟื้นฟูสภาพป่ากลับคืนเป็นป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่รอบผืนป่าก็มีรายได้เพิ่มจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตผลจากผืนป่า นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ช่วยฟื้นฟูผืนป่าและช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชนอีกทางหนึ่ง และยังกลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นแห่งภาคตะวันออก ที่นักท่องเที่ยวต่างเดินทางมาชมสีสันของพืชและสัตว์บนสะพานไม้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอ่าวคุ้งกระเบนอันร่มรื่น

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนนี้ เป็นทางเดินสะพานไม้ระยะทางประมาณ 1,600 เมตร ระหว่างทางจะมีศาลาและป้ายสื่อความหมายให้ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ของพืชและสัตว์ในป่าชายเลน เป็นระยะๆ ตลอดเส้นทาง นักท่องเที่ยวจะได้รับรู้ถึงระบบนิเวศของป่าชายเลนอันหลากหลายแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ทั้งต้นโกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ต้นฝาด ต้นฝาดแดง แสมขาว แสมดำ ลำพู ลำแพน ตะบูน ประสัก ฯลฯ รวมไปถึงสัตว์น้ำ อาทิ ปลาตีน ปูก้ามดาบ และนกนานาชนิด
สะพานแขวนในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
ปูก้ามดาบสีสันสดใส
ระหว่างทางเดินมีสะพานแขวนที่เป็นทั้งจุดชมวิวและมุมถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว นอกจากนั้นสะพานไม้ทอดยาวไปสู่ปากอ่าว มีศาลาชมวิวให้ยืนชมธรรมชาติรับลมทะเล และมีอนุสรณ์ “หมูดุด” หรือ “พะยูน” หรือที่บางคนเรียกว่า “วัวทะเล” ซึ่งแต่เดิมหมูดุดเคยมีที่อ่าวคุ้งกระเบนเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์กลายเป็นตำนาน ทางศูนย์ศึกษาฯ จึงจัดทำอนุสรณ์หมูดุดไว้ให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาชม และในช่วงปลายของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติมีจุดสาธิตบ่อกุ้งกุลาดำระบบปิดที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ และมีป่ารอยต่อระหว่างป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าบก ให้ได้ชมถึงการอยู่ร่วมกันของป่าอันอุดมสมบูรณ์

และในบริเวณใกล้เคียงกับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ยังเป็นที่ตั้งของ “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา” ซึ่งจัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำเค็มที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน และมีอุโมงค์สัตว์น้ำระยะทางสั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยสัตว์ทะเลที่น่าสนใจ เช่น ปลากระเบน ปลาฉลาม เป็นต้น

จากป่าเสื่อมโทรมร้างไร้ประโยชน์ แต่ด้วยพระบารมีและพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หลังการจัดตั้งศูนย์ฯพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ไม่นาน ผืนป่าแห่งนี้ก็พลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ ซึ่งไม่เพียงพืชพรรณและสัตว์ทะเลที่ได้รับประโยชน์ แต่ประชาชนโดยรอบก็ได้รับประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์นั้นด้วย “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงเป็นโครงการในพระราชดำริที่ทรงช่วยทั้งธรรมชาติและประชาชนให้อยู่ดีมีสุขร่มเย็นโดยทั่วหน้ากัน
หอดูนก
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเลียบทะเล
อนุสรณ์หมูดุด
“ศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. การเดินทางจากตัวเมืองจันทบุรี ไปตาม ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 301 จะมีแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางหลวงหมายเลข 3399 อีกประมาณ 18 กม. ก็จะถึงยังที่ทำการศูนย์ ผู้สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอ่าวคุ้งกระเบน โทร. 0-3938-8116-8
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น