xs
xsm
sm
md
lg

เข้าถึงจิตวิญญาณชาวนาไทย... เที่ยวนาเฮียใช้-พิพิธภัณฑ์ชาวนา เมืองสุพรรณฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย
“ข้าว” กับคนไทย มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งโบราณ การทำนาปลูกข้าวไม่เพียงเป็นไปเพื่อการบริโภค แต่ยังก่อให้เกิดเป็นความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมายาวนานอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการ “วิถีไทยวิถีข้าว” โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ดำเนินตามนโยบายส่งเสริม “การท่องเที่ยววิถีไทย” นำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการเปิดประสบการณ์และการสร้างการเรียนรู้โดยตรงให้กับนักท่องเที่ยว โดยเรื่องของ “ข้าว” ก็เป็นอัตลักษณ์ไทยที่ก่อให้เกิดวีถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชาวไทยมาช้านาน
ลักษณะข้าวชนิดต่างๆ ที่เคยปลูกในประเทศไทย
ทั้งนี้การท่องเที่ยววิถีไทยวิถีข้าวนั้นแบ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใน 5 ภูมิภาค สำหรับภาคกลาง ททท. ได้พามาเยือน “สุพรรณบุรี” จังหวัดที่ถือเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มต่ำ ดินดำน้ำชุ่ม เหมาะสมในการทำการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าว เราจึงมองเห็นทุ่งนาเขียวชอุ่มไปทั่วพื้นที่

นอกจากทุ่งนาเขียวขจีที่ได้เห็นระหว่างทางแล้ว ในสุพรรณบุรีก็มีพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้หลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการทำนา สถานที่หนึ่งนั้นก็คือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย” ที่ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์ราชการสุพรรณบุรี อ.เมืองสุพรรณบุรี ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการทำนาอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นประเพณีวิถีชีวิตและพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้าวของชาวนาไทย อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา เรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแรกนาขวัญในสมัยอยุธยาอีกด้วย
เครื่องมือในการทำนาในอดีต
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งห้องจัดแสดงออกเป็น 2ชั้น ชั้นล่างเล่าเรื่องราวความเป็นมาของข้าวตั้งแต่สมัยโบราณ จากข้าวป่ามาเป็นข้าวปลูก และร่องรอยของเมล็ดข้าวและแกลบข้าวที่ติดอยู่บนผิวของโบราณวัตถุ รวมทั้งเครื่องมือในสมัยโบราณที่ใช้ในการปลูกข้าวซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุนับพันปี อีกทั้งยังเล่าถึงลักษณะและวิธีการทำนาในประเทศไทย ตั้งแต่การไถ การหว่าน การปักดำ และการเก็บเกี่ยว รวมถึงอุปกรณ์ในการทำนาแบบดั้งเดิม ได้แก่ คันไถ คันฉาย ไม้ลากข้าว โซงโลง ไปจนถึงเครื่องมือทันสมัยในปัจจุบันอย่างรถไถ รถเกี่ยวข้าว เป็นต้น อีกทั้งยังมีแผนที่สภาพภูมิอากาศของไทยที่แสดงทิศทางลมมรสุมที่พัดผ่าน ซึ่งลมมรสุมเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่จะชี้ชะตาในการทำนาสมัยโบราณของชาวนาไทยอีกด้วย

ส่วนชั้นบนจัดแสดงปฏิทินชาวนา เพื่อให้เห็นว่าในหนึ่งปีชาวนามีประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อในการทำนาอย่างไร โดยประเพณีของคนไทยที่เกี่ยวกับการทำนานั้นมีมากมาย แบ่งย่อยไปตามแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น “พิธีแห่นางแมว” ของภาคกลางเพื่อขอฝนในการเพาะปลูก “พิธีนาตาแฮก” (นาตาแรก) ของภาคอีสานที่เป็นพิธีกรรมก่อนเริ่มการผลิตใหม่ “ประเพณีเอามือ” หรือลงแขกของชาวนาภาคเหนือ “พิธีรวบข้าว” หรือการเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาภาคใต้ เป็นต้น
พิธีแรกนาขวัญ พิธีที่สำคัญของชาวนา
อีกทั้งยังมีเรื่องราวของเพลงเกี่ยวข้าว และข้าวที่ถูกแปรรูปไปใช้บริโภคและใช้ในงานบุญประเพณี ไม่ว่าจะเป็นกระยาสารท ข้าวต้มมัด ขนมต้ม จัดแสดงจำลองให้ชมอย่างน่ากิน

นอกจากนั้นห้องจัดแสดงชั้นบนยังจัดแสดงพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ค้ำชูชาวนาและทรงให้ความสำคัญกับอาชีพชาวนาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติเสมอมา และยังจัดแสดงฉากจำลองขนาดใหญ่แสดงภาพเหตุการณ์ที่พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในการทำนา ณ แปลงนาสาธิตบึงไผ่แขก อ.เมืองสุพรรณบุรี เมื่อปี 2529 รวมถึงยังเก็บรักษาอุปกรณ์ทำนาต่างๆ ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงใช้ อาทิ เคียวด้ามทองคำ และรวงข้าว 9 รวงแรกเป็นปฐมฤกษ์ เป็นต้น
ลวดลายในนาข้าวที่นาเฮียใช้ ก่อนที่จะถูกเก็บเกี่ยว
ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทำนาและชาวนาไทยอย่างเต็มที่จากพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว คราวนี้ต้องลงไปสัมผัสกับทุ่งนาของจริงกันที่ “ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย” หรือ “นาเฮียใช้” (อ.เมืองสุพรรณบุรี) ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวและองค์ความรู้ในวิถีของเกษตรกรชาวนาที่จัดทำได้อย่างน่าสนใจ

เดิม “เฮียใช้” หรือพิชัย เจริญธรรมรักษา ได้ทำธุรกิจรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการค้า แต่ต่อมารุ่นลูกได้ที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับชาวนาอย่างลึกซึ่งได้มีความคิดที่จะสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นเพิ่มเติมเพื่อต้องการให้ชาวนาและผู้ที่สนใจได้มีแหล่งข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าวิธีการทำนาที่เหมาะสม ให้เห็นความสำคัญของการให้ความรู้และการทำนาอย่างถูกวิธี ซึ่งจะมีประโยชน์แก่ส่วนรวม ทั้งแก่เกษตรกรชาวนาเองและบุคคลทั่วไปที่เห็นความสำคัญของข้าวและชาวนา อีกทั้งยังเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวให้ผู้สนใจได้เข้าชม
นิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ลูกชายของเฮียใช้ ถือถาดเพาะกล้าให้ชม
ภายในศูนย์ฯ มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “หอเตือนภัยชาวนา” ที่นอกจากจะไว้ใช้ดูแลสอดส่องความปลอดภัยของไร่นาแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่ประกาศเตือนภัย และเป็นจุดชมทัศนียภาพของนาเฮียใช้ได้อย่างงดงาม ซึ่งหากขึ้นไปบนหอเตือนภัยแล้วมองลงมายังนาข้าวก็จะได้เห็นลวดลายบนทุ่งนาที่เกิดจากการปลูกข้าวสลับสีเป็นข้อความว่า Amazing Thailand และแปลงปลูกข้าวเป็นรูปประเทศไทย มองดูน่าชมยิ่งนัก ส่วนด้านล่างยังมี “แปลงนาสาธิต” สำหรับสาธิตลักษณะพันธุ์ข้าวนาปรัง 12 ชนิดพันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบันของ 4 ช่วงอายุข้าว เพื่อให้ชาวนาและผู้ที่สนใจได้มีความรู้ในการเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม

อีกทั้งภายในศูนย์ฯ ยังมี “เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ” ที่จัดแสดงพระบรมรูปของในหลวงในขณะประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ และพระบรมรูปและพระบรมสาทิสสลักษณ์ราชวงศ์จักรีตั้งแต่รัชกาลที่ 1-9 “เรือนพระแม่โพสพ” จัดแสดงองค์พระแม่โพสพที่แกะสลักจากไม้สักทั้งท่อน และรูปหล่อแม่โพสพในยุคต่างๆ “เรือนวิถีชาวนาไทยในอดีต” เรือนไทยโบราณหมู่ 4 หลัง ยกพื้นสูง บริเวณใต้ถุนเรือนจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวบ้านในอดีต ทั้งเครื่องมือในการทำนา การจับปลา และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ
ควายนอนจมปลักอย่างสบายใจที่นาเฮียใช้
มุมถ่ายภาพเก๋ๆ
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนนาเฮียใช้เป็นหมู่คณะยังสามารถติดต่อเพื่อนั่งรถรางพร้อมวิทยากรเที่ยวชมแปลงนาที่อยู่ด้านในได้ โดยจะได้เห็นเครื่องไม้เครื่องมือและวิธีการทำนาอันทันสมัยเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือรดน้ำต้นข้าวในนาที่เป็นการให้น้ำแบบสเปรย์ (ไม่แช่น้ำ) ทำให้รากของกล้ามีความแข็งแรง เครื่องเพาะกล้าที่ผลิตต้นกล้าออกมาเป็นถาดๆ ก่อนจะนำไปใส่รถปักดำลงสู่แปลงนา รวมไปถึงเครื่องมือเก็บเกี่ยวและเครื่องมืออื่นๆ ที่ทันสมัยและช่วยทุ่นแรงได้เป็นอย่างดี

ในครั้งนี้ที่เราเดินทางมาที่นาเฮียใช้กับ ททท. ยังเป็นโอกาสพิเศษที่ข้าวในแปลงนาที่ปลูกสลับสีเป็นข้อความว่า Amazing Thailand นั้นรวงสุกเป็นสีทองพร้อมเก็บเกี่ยวพอดี ทุกคนจึงได้มีโอกาสร่วมแรงร่วมใจกันลงแขกเกี่ยวข้าว พร้อมๆ กับมีปราชญ์ชาวนาหรือซึ่งก็คือพนักงานผู้เชี่ยวชาญการทำนาของนาเฮียใช้คอยเตรียมอุปกรณ์และสอนวิธีใช้เคียวเกี่ยวข้าวให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองเกี่ยวข้าวกันด้วยตนเอง
เกี่ยวข้าวอย่างทะมัดทะแมง
ลงมือเกี่ยวข้าวโดยมีปราชญ์ชาวนาให้คำแนะนำ
อีกทั้งยังได้ทดลองดำนาในแปลงใกล้เคียงกันอย่างเป็นที่สนุกสนาน ทำให้ได้รับรู้ถึงจิตวิญญาณและความลำบากของชาวนาไทยผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ที่ได้เข้าถึง แต่ก็ทำให้เราเคารพความเป็นชาวนา และรับรู้ว่าข้าวแต่ละเมล็ดที่ได้มานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

*****************************************

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทย” ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เปิดให้เข้าชมฟรีในวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. สอบถามโทร.0 3553 6113

“ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้)” ตั้งอยู่ที่ 150/6 หมู่ 8 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน สอบถามโทร.0 3544 6955 สนใจติดต่อดูงานเป็นหมู่คณะโทร. 09 2626 1515

หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุพรรณบุรี โทร.0 3552 5867, 0 3552 5880

*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น