สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่น SMEs เดือน มี.ค. 59 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทุกกลุ่มสาขาทั้งภาคการค้าและบริการ ส่วนโครงการ SME Strong/Regular Level คนสมัครเกือบ 2 พันรายแล้ว เข้าร่วมล้นหลาม ชี้ส่วนใหญ่เป็น SMEs ขนาดกลางถึงเล็ก เชื่อเป็นนิมิตหมายที่ดีจากการตื่นตัวพัฒนาธุรกิจของตนเอง เตรียมของบฯ เพิ่มปี 60 อีก 200 ล้านบาท สร้างนักรบ SMEs พัฒนาชาติ
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ในเดือนมีนาคม 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์จากระดับที่ 92.6 ขึ้นมาอยู่ในระดับที่ 100.4 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านกำไรและยอดจำหน่ายที่ดีขึ้นมากในเกือบทุกกลุ่มสาขาทั้งภาคการค้าและบริการ โดยเฉพาะภาคบริการนั้นมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสูงและมีค่าดัชนีเกินกว่าค่าฐานที่ 100 ทุกสาขา
ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกสถานีบริการน้ำมัน ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง (สินค้าและมวลชน) สันทนาการ บริการสุขภาพและความงาม เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนักท่องเที่ยวชาวจีน อาเซียน และยุโรป
“จากดัชนีความเชื่อมั่น SMEs เดือนมีนาคม 59 ที่ผ่านมาถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมียอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นในทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะประเภทธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่คนไทยก็นิยมเที่ยวในประเทศมากขึ้นเช่นกัน” ผอ.สสว.กล่าว
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้านั้นยังคงสูงกว่าค่าฐานที่ 100 และอยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า คือ จากที่ระดับ 104.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นที่ระดับ 104.8 ในเดือนมีนาคม 2559
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของ SMEs ในภาคการค้าและบริการของเดือนมีนาคมที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนั้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของประเทศ (BSI) และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 103.0 และ 86.7 ตามลำดับ เนื่องจากแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร ส่วนในภาคอุตสาหกรรมก็มีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงหน้าร้อน และช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) กลับปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 53.7 สาเหตุจากผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันฟื้นตัวค่อนข้างช้า และยังคงระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่าย อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ยังเห็นผลกระทบในหลายพื้นที่
ส่วนโครงการ SME Strong/Regular Level หลังจากที่รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,900 ราย แบ่งเป็นเอสเอ็มอีที่เข้มแข็ง 211 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ส่วนอีก 1,700 รายมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้มแข็งที่พร้อมเปิดตลาดในต่างประเทศได้ทัน มีเพียงแค่คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานภาครัฐพาไปเปิดตลาด โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือเพื่อส่งเสริมให้ SMEs สามารถขยายตัวได้เต็มตามศักยภาพของ SMEs แต่ละราย สำหรับการดำเนินโครงการนี้ทาง สสว.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีอื่นๆ เช่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นต้น
ด้าน ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ามาช่วยคัดกรองผู้ประกอบการเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว พบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีปัญหาและต้องการขอความช่วยเหลือจากการเข้าร่วมโครงการ SME Strong/Regular Level สามารถจำแนกเอสเอ็มอี ได้ดังนี้ คือ
1. กลุ่มที่ต้องการนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงสินค้าและบริการให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นจะ Matching ความต้องการของ SMEs กับนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยภาคีของ สสว. เช่น นายอานันท์ สุขุมภาณุเมศร์ จากบริษัท ชิปยัวร์ส จำกัด ผู้ให้บริการคลังสินค้าออนไลน์ Shipyours ซึ่งได้รับการส่งเสริมด้านนวัตกรรม (ซอฟต์แวร์)
2. กลุ่มที่ต้องการขยายตลาดและสร้าง Brand ให้เข้มแข็งขึ้น หากพิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพแท้จริง สสว.จะสนับสนุนการเปิดตลาดในประเทศที่ SMEs ไม่สามารถเข้าไปได้เอง เช่น ตะวันออกกลาง ศรีลังกา มณฑลระดับรองของประเทศจีน เป็นต้น เช่น นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล จากบริษัท ทีอาร์ไทย ฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวต้มมัดแม่นภา ไส้กล้วย และไส้เผือก บรรจุในซอง สามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปีโดยรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่ง สสว.ได้เคยพาไปจับคู่ธุรกิจที่ประเทศศรีลังกาและมียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ได้รับการส่งเสริมด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ
3. สินค้าของ SMEs บางรายอาจเหมาะสมที่จะขยายตลาดในประเทศไทย และกลุ่มประเทศ CLMV สสว.จะพยายามผลักดันอย่างจริงจังให้สินค้าของ SMEs ไทยผ่านมาตรฐาน อย. เพื่อจะสามารถเข้าไปขายใน Modern Trade และขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เช่น นางยุวดี เสริมสุข จากบริษัท ครูยุ คอทเทจ จำกัด ผู้ผลิตขนมเพื่อสุขภาพลูกเดือยอบกรอบ ได้รับการส่งเสริมด้านการเชื่อมโยงกับตลาดค้าปลีกภายในประเทศผ่านงาน Business matching ของธนาคารกสิกรไทย
4. กลุ่มที่ต้องการลดต้นทุน ปรับปรุงการบริหารงาน สสว.จะจัดผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ และส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใช้วิธี Outsource เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เช่น นางสาวโชติกา วงศ์วิลาศ หรือน้องเนย ดารานักแสดง เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Cho12 ซึ่งมีแผนแตกไลน์ธุรกิจเพิ่มขึ้นในส่วนของเครื่องสำอาง ดังนั้นจึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำแนะนำ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โครงการ SME Strong/Regular Level ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้ 10,000 ราย ภายในปี 59 และเตรียมของบประมาณเพิ่มเติมในปี 60 อีก 200 ล้านบาท พัฒนาผู้ประกอบการในจำนวนที่เท่ากัน โดยคาดว่าจะสามารถทำสำเร็จได้ตามเป้า พร้อมเน้นที่คุณภาพของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *