“ป.ปลาตากลม” ตัวอักษรหนึ่งในพยัญชนะภาษาไทย ที่หมายถึงสัตว์ที่แหวกว่ายไปมาอาศัยอยู่ใต้น้ำ ยิ่งถ้าหากใครชอบปลาแล้วละก็ คงจะมองเพลินได้ตลอดทั้งวันรวมทั้งฉันด้วย ถึงแม้ว่าอควาเรียมในบ้านเรานั้นมีมากมายหลากหลายแห่งที่รวบรวมสัตว์น้ำให้ได้ชมกัน แต่ถ้าเป็นที่แห่งแรกจริงๆ ที่รวบรวมโลกใต้น้ำไว้ ต้องที่นี่เลย สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ ที่รวบรวมสายพันธุ์ปลาน้ำจืดหลากหลายจัดแสดงไว้ วันนี้ฉันจึงอยากพาทุกคนเข้าไปชมดูปลาแหวกว่าย นอกจากได้ความรู้ เพลิดเพลินแล้ว ค่าเข้านั้นก็แสนราคามิตรภาพกับพวกเราอีกด้วย
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ แห่งนี้ นับได้ว่าเป็นสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2483 เดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้ทำการรื้อถอนและก่อสร้างขึ้นใหม่ เป็นอาคาร 3 ชั้น ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและแคนาดา หลังจากนั้นได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2521 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นองค์ประธานในพิธี ล่าสุดในปี พ.ศ. 2546 เพิ่งทำการปรับปรุงให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่เก่าแก่กว่า 70 ปี
โดยมีเป้าหมายจัดขึ้นเพื่อให้เป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิชาประมง และสัตว์น้ำจืดชนิดต่างๆ รวมทั้งเพื่อปลูกจิตใต้สำนึกที่ดีในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำให้กับประชาชนคนทั่วไป ที่นี่จัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืดท้องถิ่นของไทยต่างๆ กว่า 100 ชนิด ทั้งชนิดที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ชนิดที่เลี้ยงไว้สวยงาม รวมทั้งสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสัตว์น้ำจืดต่างประเทศบางชนิดอีกด้วย
ทันทีที่ฉันมาถึงก็แทบอดใจไม่ไหว อยากจะเข้าไปสัมผัสบรรยากาศข้างใน เมื่อมองดูจากภายนอกแล้วบางทีฉันก็เผลอนึกไปเองว่าฉันมาถูกที่หรือว่าหลงมายืนอยู่หน้าอาคารเรียนของคณะใดคณะหนึ่งกันแน่ เพราะภายนอกดูไม่แตกต่างไปจากอาคารเรียนหลังอื่นๆ ฉันกวาดสายตามองรอบนอกอยู่ชั่วขณะ จากนั้นจึงย่างสามขุมเข้าไปหน้าอาคารซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยบริการขายบัตรเข้าชมอยู่ ราคาบัตรก็แสนถูก ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา 10 บาท ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ไม่เสียค่าเช้าชม
ทันทีที่ฉันเดินเข้าไปตู้แรกก็พบไฮไลต์ของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ กันเลย นั่นคือ ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในกลุ่มปลาไม่มีเกล็ด จากแม่น้ำโขง มีลักษณะคล้ายปลาสวาย ลำตัวป้อม หัวโต ตาอยู่ต่ำกว่ามุมปาก ครีบหลังมีก้านครีบ 8-9 อัน ชอบกินพวกตะไคร่น้ำ และเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย ด้วยปลาบึกตัวใหญ่ ทำให้ฉันจ้องมองดูมันว่ายอย่างเพลิดเพลิน แม้ว่าบางทีฉันสะดุ้งตกใจเล็กน้อย เมื่อมันว่ายเข้ามาประชิดก็ตาม
ฉันเดินไปรอบๆ แวะทักทายเจ้าปลาน้อยใหญ่หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นปลาม้า ปลากาดำ ปลาชะโอน และเจ้าปลายี่สกที่อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ จนเดินไปยังบ่อสัตว์น้ำที่สามารถให้คนเข้าชมสัมผัสได้ เป็นกิจกรรมสนุกๆ เล็กได้ โดยการเอามือไปจุ่มน้ำ ก็จะมีปลาที่แหวกว่ายขึ้นมาตอด กลายเป็นความสนุกเพลิดเพลินไปอีกแบบ ซึ่งปลาที่ขึ้นมาตอดเรานั้น คือ ปลากาแดง เป็นปลาขนาดเล็ก ที่มีจุดสีดำตรงโคนครีบหาง ครีบมีสีแดงส้ม กินสาหร่ายเป็นอาหาร พบได้ตามสายน้ำหลักของประเทศไทย และจะพบมากในบางฤดูกาล คนทั่วไปมักจะนิยมเลี้ยงไว้สวยงาม
ใกล้ๆ กับบันไดทางขึ้นชั้น 2 ฉันสังเกตเห็นมุมที่มีตู้ตั้งเรียงรายอยู่หลายใบครั้นพอเดินเข้าไปใกล้ๆ จึงได้เห็นชัดว่า จัดแสดงเปลือกหอยต่างๆ ที่พบได้ในน้ำจืด ซึ่งหาดูยากแต่สามารถดูได้ที่นี่ ฉันแทบอดใจไม่ไหวเมื่อคิดว่าข้างบนนั้นจะต้องมีพันธุ์ปลานานาชนิดแหวกว่ายรอคอยการมาเยี่ยมของฉันอยู่ และก็จริงดังคาดเพียงแค่บันไดทางขึ้นก็แฝงสาระไว้ ด้วยการทำแผนภูมิแสดงวิวัฒนาการของปลาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ไว้อย่างชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอน
เมื่อก้าวขึ้นมาถึงบริเวณชั้น 2 ก็พบบรรดาปลาน้อยใหญ่เหมือนเดิม แต่ที่ฉันชอบมากที่สุด คงเป็น ปลากระโห้ ด้วยใบหน้าอันตลกของมัน ปลากระโห้เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีลักษณะหัวโต ปากกว้าง ตาเล็ก เกล็ดใหญ่ พบเฉพาะในแม่น้ำสายหลัก ปัจจุบันลดจำนวนลงไปมากเนื่องจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการถูกจับเป็นจำนวนมาก จัดอยู่ในสถานภาพเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นตรงข้ามยังมีปลากระโห้ที่หล่อด้วยปูนปลาสเตอร์จากปลาตัวจริงจัดเป็นความภาคภูมิใจของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่นี่เพราะได้รับพระราชทานมาจากพระตำหนักสวนจิตรลดาเมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2541
เดินชมในส่วนปลาที่อาศัยในประเทศไทยไปแล้ว ต่อไปไปดูปลาน้ำจืดที่อยู่ต่างประเทศบ้าง และแน่นอนที่ฉันมองดูและชอบดูมากที่สุดในจำพวกปลาต่างประเทศ คงหนีไม่พ้น ปิรันยา ที่ใครชอบดูหนัง มักจะรู้จักคุ้นเคยดี เพราะเป็นปลากินเนื้อที่มีฟันเป็นรูปสามเหลี่ยม แหลมคม เกล็ดมีลักษณะเป็นสีเงินแววคล้ายกากเพชร ส่วนมากอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอเมซอนและโอริโนโค เป็นสัตว์ที่ห้ามมีการครอบครองและนำเข้ามาในประเทศไทย
แม้จะเป็นครั้งแรกที่ฉันได้มาชมปลาที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแห่งนี้ ก็ไม่ได้สร้างความผิดหวังให้ฉันเลย กลับสร้างความตื่นเต้นราวกับเด็กตัวเล็กๆ ที่ได้มองเห็นอะไรใหม่ๆ ที่แปลกตาเป็นโลกอีกใบ ที่มีมนต์สะกดให้ตราตรึงอยู่กับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่คอยแหวกว่ายรอให้ฉันมายลโฉมมันอย่างใจจดใจจ่อนอกจากจะได้รับความบันเทิงใจแล้วครั้งนี้ฉันยังพกพาความรู้แบบปลาๆ กลับบ้านอีกด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ กรุงเทพฯ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาสถานแสดงพันธุ์น้ำจืด กรมประมง เกษตรกลาง จตุจักร ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใกล้ทางเข้า-ออกประตูพหลโยธิน 2 เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. หยุดทุกวันจันทร์ อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก/นักเรียน นักศึกษา 10 บาท สอบถามเพิ่มเติมโทร.0-2940-6543, 0-2562-0600 ต่อ 5118, 5222
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com