xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะมาเป็นเพลงชาติไทย คนแต่งเสี่ยงหัวขาด! คนแต่งเนื้อเพลงปัจจุบันขอฟังตอนตาย!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

โน้ตเพลงชาติที่ประพันธ์โดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้
ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ เราไม่มีเพลงชาติ เพราะเพลงชาตินั้นเป็นธรรมเนียมของตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรารับนายร้อยเอกทหารอังกฤษตกงานจากอินเดียเข้ามาเป็นครูฝึกทหารไทย ๒ คน เลยนำเอาเพลง “God Save the Queen” อันเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีราชินีอังกฤษ มาให้ทหารแตรฝึกหัดเป่า เพื่อใช้เป็นเพลงถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ไทยด้วย โดยใช้เฉพาะในกองทหาร

ต่อมาพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์เนื้อร้องใส่ในทำนอง “ก๊อดเซฟเดอะควีน” ให้ชื่อว่า “จอมราชจงเจริญ” โดยมีเนื้อร้องสั้นๆ ว่า

“ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละ ปฏิภาณผ่องแผ้ว จงยืนพระชน...มาน นับรอบร้อยแฮ มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยง จันทร”

เพลงนี้จึงถือได้ว่าเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติเพลงแรกของไทย ใช้ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๕-๒๔๑๔

ใน พ.ศ.๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ทางการสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในปกครองของอังกฤษ ได้ใช้กองดุริยางค์ทหารบรรเลงเพลง “ก๊อดเซฟเดอะควีน” ถวายความเคารพ ทรงตระหนักว่าสยามจำเป็นจะต้องมีเพลงชาติของตัวเอง จึงโปรดตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้นเป็นที่ปรึกษา หาทำนองเพลงที่มีความเป็นไทยมาเป็นเพลงชาติแทนเพลงก๊อดเซฟเดอะควีน

คณะครูดนตรีไทยได้เลือกทำนองเพลง “บุหลันลอยเลื่อน” บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเรียกกันว่า “เพลงพระสุบิน” มาใช้เป็นทำนอง แต่ให้ เฮวุดเซน (Heutsen) นักประพันธ์เพลงชาวต่างประเทศเรียบเรียงให้เป็นทำนองสากลขึ้น ใช้ในระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๔-๒๔๓๑

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๑ สมัยรัชกาลที่ ๕ เช่นกัน ทรงโปรดให้ ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย ประพันธ์เพลงประจำชาติขึ้นใหม่ ส่วนคำร้องเป็นของสมเด็จฯกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งก็คือเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน และใช้เป็นเพลงชาติระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๗๕ ด้วย

ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ตอนคณะราษฎรคบคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายเรือเอกหลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) หนึ่งในคณะผู้ก่อการสายทหารเรือ ซึ่งเป็นเพื่อนกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ปลัดกองดนตรีฝรั่งหลวง ได้ขอร้องให้พระเจนช่วยแต่งเพลงชาติให้ใหม่ มีทำนองปลุกเร้าใจอย่างเพลง “ลา มาร์เซเยส์” เพลงชาติของฝรั่งเศส

คำขอร้องของเพื่อนนี้ทำให้พระเจนดุริยางค์รู้สึกหนาว เพราะเพลงนี้เป็นเพลงที่ชาวฝรั่งเศสร้องขณะเดินขบวนเข้าทำลายคุกบาสติลล์ ในการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ของฝรั่งเศส ขืนแต่งอาจหัวขาดได้ง่ายๆ ซึ่งพระเจนฯได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวว่า

“...ระหว่างที่ข้าพเจ้าไปให้การอบรมแก่วงดนตรีทหารเรือราวปี ๒๔๗๔ ข้าพเจ้าได้พบกับนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ขอร้องให้ข้าพเจ้าประพันธ์เพลงให้บทหนึ่ง ขอให้ทำนองเป็นเพลงที่มีความรู้สึกคล้ายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศส

...ข้าพเจ้าตอบไปว่า ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะเพลงชาติที่มีชื่อว่า “สรรเสริญพระบารมี” ของเรามีอยู่แล้ว แต่เขาไม่ยอม จะให้ข้าพเจ้าแต่งขึ้นใหม่ให้จงได้...

...ข้าพเจ้าประวิงเวลาเรื่อยมา จนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เพลงชาติที่เพื่อนทหารเรือของข้าพเจ้าต้องการก็ยังไม่อุบัติขึ้น

...หลังการปฏิวัติ ๕ วัน เพื่อนของข้าพเจ้าเป็นผู้ร่วมก่อการคนหนึ่ง ได้มาหาข้าพเจ้าที่สวนมิสกวัน แสดงความเสียใจที่มิได้เพลงชาติไปร้องในวันปฏิวัติ จึงขอให้แต่งโดยด่วน การเมืองมาในรูปแบบนี้ข้าพเจ้าปฏิเสธไม่ได้ จึงขอเวลา ๗ วัน และขอให้เขาปิดนามผู้แต่งด้วย

ระหว่าง ๗ วันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกกระวนกระวายเป็นอย่างยิ่ง เพลงจึงคิดไม่ออกเพราะสมองหงุดหงิด

เมื่อครบ ๗ วัน เช้าวันหนึ่งข้าพเจ้าออกจากบ้านขึ้นรถรางประจำสายสุริวงศ์ มาเปลี่ยนรถที่สี่แยก เอสเอบี. เพื่อต่อสายใบพร สี่เสาเทเวศร์

ขณะข้าพเจ้านั่งอยู่บนรถรางชั้น ๑ ทำนองเพลงก็บังเอิญปรากฏขึ้นมาในสมองข้าพเจ้าอย่างครบถ้วน

ข้าพเจ้าลงจากรถเมื่อถึงสวนมิสกวัน เข้าไปจดทำนองเพลงและทำสกอร์ทันที”

ขณะที่รอเพลงจากพระเจนดุริยางค์อยู่นั้น คณะราษฎรได้ขอให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นำเพลงมหาชัยมาใส่เนื้อร้อง เพื่อใช้ปลุกใจให้เกิดความรักชาติและความสามัคคีขัดตาทัพไปก่อน โดยเรียกชื่อว่า “เพลงชาติมหาชัย” มีเนื้อร้องว่า
สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย
เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ
ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ
ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย
เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน
วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่
ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย
ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า

เมื่อทำนองเพลงชาติของพระเจนฯมาถึงมือคณะราษฎร จึงถูกนำไปบรรเลงในพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งใช้เป็นรัฐสภาทันที แต่ที่พระเจนฯขอร้องไว้ไม่ให้เปิดเผยชื่อผู้แต่งก็ไม่เป็นผล เพราะในวันรุ่งขึ้น นสพ.ศรีกรุง ก็ลงข่าวชมเชยว่าไพเราะ เหมาะสมจะใช้เป็นเพลงชาติ พร้อมทั้งเปิดเผยชื่อผู้ประพันธ์เพลงด้วย

พระเจนฯนั่งอ่านข่าวมาในรถรางก็หนาวทันที และก็เป็นไปตามที่วิตก พอถึงที่ทำงานก็มีโทรศัพท์มาจากกระทรวงวังต้นสังกัด เรียกให้ไปรายงานตัว

คำของท่านเสนาบดีนั้นทำเอาพระเจนฯหนาวถึงสั่น เมื่อท่านถามว่า

“รู้หรือไม่...พระเจ้าแผ่นดินของเรายังอยู่”

ต่อมาในเดือนตุลาคม พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับชะตากรรมที่คาดว่าต้องมาจากการแต่งเพลงชาติ ถูกปลดออกจากราชการให้เป็นข้าราชการบำนาญ ด้วยเหตุผลว่ารับราชการมาครบ ๓๐ ปี ทั้งๆที่พระเจนฯ เพิ่งมีอายุ ๔๙ ปี มีเงินเดือน ๕๐๐ บาท

ผู้แต่งคำร้องเพลงชาติในทำนองของพระเจนดุริยางค์คนแรก ก็คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ซึ่งแต่งเนื้อร้องไว้ว่า

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ร่วมรักษาเอกราชชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูมาจู่รบ
ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไทย
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือกระดูกที่บูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย
สถาปนาสยามให้เชิดชัยชโย

ในระยะนั้น ฝ่ายอำนาจเก่าที่รับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังมีอยู่มาก อย่างที่พระเจนดุริยางค์โดนคิดบัญชีไปแล้ว ขุนวิจิตรมาตราก็ไม่รอดอีก โดนโจมตีหนัก โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี” ตีความหมายกันว่าเป็นการยึดอำนาจของคณะราษฎร ซึ่งจะตอกย้ำให้แตกแยกกันทุกวันที่เปิดเพลงชาติ และยังกล่าวหาว่าขุนวิจิตรฯ เอาชื่อของตัวเองที่ชื่อ “สง่า” และเมียชื่อ “ประเทือง” ใส่ไว้ในเพลงชาติด้วย แต่ความจริงภรรยาของท่านชื่อวิเชียร ไม่ได้ชื่อประเทือง ก็ล้วนแต่หาเรื่องกันไป

ในที่สุดคณะราษฎรซึ่งไม่อยากให้มีเรื่องขัดแย้งกัน จึงได้มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตราออกมาใหม่เป็น

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ร่วมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีวิตร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไทย
สยามสมัยโบราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือเจดีย์ที่บูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย

กล่าวกันว่าผู้แก้ไขเนื้อร้องนี้ ก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ แต่หลวงวิจิตรวาทการเขียนลงในหนังสือพิมพ์ว่าเป็นผู้ “ช่วยประแป้งเนื้อเพลงชาติไทยให้”

ขุนวิจิตรมาตราก็เลยเขียนลงบ้างว่า

“ถ้ารู้ว่ามีคนมาช่วยประแป้ง ก็จะได้แก้ผ้าแอ่นพุงให้”

ปัญหาเนื้อร้องของเพลงชาติไทยพูดกันมาก คณะราษฎรก็เลยเปิดประกวดแต่งเนื้อร้องขึ้นใหม่ ผู้ชนะประกวดในครั้งนี้คือ นายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งมีคำร้องว่า

เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
ถึงแม้ภัยไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสระเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยนั้นมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย

แม้จะประกาศผู้ชนะมาแล้ว รัฐบาลก็ยังไม่อยากทิ้งเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตราที่แก้ไปใหม่ เลยนำคำร้องของทั้งสองท่านนี้มาต่อกัน ทำให้เพลงชาติไทยที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๗๗ มีความยาวถึง ๓ นาที ๕๒ วินาที ได้รับการวิพากย์วิจารณ์จากประชาชนมาก ว่าฟังเพลงชาติแล้วจะหลับ และยังตั้งข้อสังเกตกันอีกว่า ชาติใหญ่ๆหรือชาติมหาอำนาจมักจะมีเพลงชาติสั้นๆ แต่ชาติเล็กๆมักจะใช้เพลงชาติยาวๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงตัดทอนแบ่งเพลงชาติออกเป็น ๒ เพลง เป็นเนื้อร้องของขุนวิจิตรมาตราเพลงหนึ่ง และของนายฉันท์ ขำวิไลอีกเพลงหนึ่ง เช้าอาจจะใช้เพลงหนึ่ง พอเย็นอาจจะใช้อีกเพลง แต่ในพิธีการของทางราชการจะใช้เนื้อร้องเต็มที่รวม ๒ เพลง

ต่อมาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ ซึ่งเป็นวันชาติ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” เนื้อร้องเพลงชาติที่มีคำว่าสยามอยู่ด้วยจึงจำต้องเปลี่ยนใหม่ โดยยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์ตามเดิม และได้เปิดการประกวดขึ้น คณะกรรมการได้คัดเลือกเนื้อร้องที่มีผู้ส่งมาเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีชี้ขาด ในที่สุด ครม.ก็ลงความเห็นให้ใช้เนื้อร้องที่ส่งมาในนามกองทัพบก ซึ่งแต่งโดย พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๒ เป็นต้นมา ซึ่งก็คือเพลงชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

หลวงสารานุประพันธ์ได้เล่าเบื้องหลังในการแต่งเพลงชาติไว้ว่า

“กว่าจะคิดคำร้องเสร็จ ต้องครุ่นคิดอยู่หลายคืน แต่งไว้ ๕ บทไม่ถูกใจเลย เมื่อนำไปให้คุณพระเจนดุริยางค์ตรวจ ท่านก็ไม่ชอบ หมดแรงแทบจะวางปากกา ในที่สุดฉุกคิดได้ว่า เป็นชายชาติไทยไฉนจะยอมแพ้ฮึดแก้อีกเป็นครั้งที่ ๕ จนหลายเที่ยวก็ยังยิ้มไม่ออก ปรับปรุงไปมา จนที่สุดทำร่างครั้งที่ ๖ ส่งเข้าประกวด”

คุณหลวงปลาบปลื้มมากที่เป็นผู้ชนะ ภูมิใจว่าเป็นผู้แต่งเพลงชาติ ท่านกล่าวไว้ในครั้งนั้นว่า

“ฉันได้สั่งเสียบุตรธิดาของฉัน ในภายภาคหน้าเมื่อถึงวาระที่ฉันจะต้องเกษียณอายุลาโลกไปแล้ว ขณะใกล้จะขาดอัสสาละ ขอให้หาจานเสียงเพลงชาติอันนี้มาเปิดให้ฟังจนได้ เพื่อบังเกิดความชุ่มชื่นระรื่นใจ อันไม่มีเวลาเสื่อมคลายจนสิ้นลมปราณ”
พระเจนดุริยางค์
ขุนวิจิตรมาตรา
นายฉันท์ ขำวิไล
หลวงสารานุประพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น