xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ตรวจสอบแนวหินภูเขาช้าง ถล่ม 2 ครั้ง ในรอบ 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พังงา - อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่สำรวจแนวหินถล่ม ย้ำไม่ควรนำเศษหินออกนอกบริเวณ ปล่อยธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง พร้อมจัดทำแผนที่รอยแตกของชั้นหินเพื่อวางเขตพื้นที่เสี่ยง และทำแนวกันชนระหว่างภูเขา และสิ่งปลูกสร้างใกล้เคียง

วันนี้ (10 มิ.ย.) นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วย นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายธวัชชัย เทพสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4 (สุราษฎร์ธานี) นางเบ็ญจา เสกธีระ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์ นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูบริเวณหินแนวภูเขาช้าง ด้านหลังศาลากลางจังหวัดพังงา ที่ถล่มลงมาแล้ว 2 ครั้ง ในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 18 มี.ค.59 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2559 เนื่องช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดฝนตกหนักในจังหวัดพังงา ซึ่งพบว่าแนวหินที่ถล่มลงมานั้นมีความยาวกว่า 200 เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 20 เมตร ไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร

อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า จากการลงดูพื้นที่เบื้องต้นพบว่า เป็นภูเขาหินปูนมีอายุกว่า 250 ล้านปี ลักษณะเป็นชั้น มองเห็นเป็นแนวเส้นเป็นธรรมชาติของหินปูน บางรอยแตกจะมีรากไม้ เมื่อต้นไม้โตรากของต้นไม้สามารถแทรกลงไปได้ตลอดเวลา ส่วนหินปูนละลายน้ำได้ง่ายในช่วงฤดูฝน มีโอกาสที่ก้อนหินจะผุพังร่วงหล่นลงได้

ส่วนแนวทางแก้ไข กรมทรัพยากรธรณี จะทำการสำรวจพื้นที่ก่อนจะทำเป็นพื้นที่เปราะบางต่อการจะเกิดการถล่มในอนาคต โดยขั้นตอนก็จะทำแผนที่ชะโงกหินแสดงรอยแตกบริเวณเขาช้าง ว่า มีขนาดพื้นที่เท่าไร เพื่อกำหนดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อหินถล่ม พร้อมทำแนวกันชนระหว่างภูเขา และสิ่งปลูกสร้างของประชาชน ประเมินจากระดับน้ำทั้งใต้ดิน ผิวดิน ส่วนกรณีหากเกิดฝนตกลงมา และมีน้ำท่วมเพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นทางเดินของน้ำนั้น ควรปล่อยให้กระแสน้ำเซาะเอาเศษหินเศษดินขนาดเล็กออกไปเองตามธรรมชาติ หรืออาจจะคอยสังเกตทิศทางการไหลของน้ำ และใช้แรงงานคนทำร่องทางเดินน้ำไว้อีกทางหนึ่ง และได้แนะนำว่าไม่ควรนำเศษหินออกจากบริเวณแนวภูเขาที่ถล่มลงมาเด็ดขาด เพราะเศษหินทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่จะเป็นฐานรองรับแนวภูเขาไว้ โดยปล่อยธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง

ในส่วนของกรณีที่ชาวบ้านเป็นห่วงว่า มีการระเบิดหินของเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียงจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการถล่มนั้น จะมีการประสานขอใช้เครื่องวัดความสั่นสะเทือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น