xs
xsm
sm
md
lg

“ลำปาง plus ลำพูน” หยุดเวลาที่ “เมืองต้องห้าม...พลาด” : อัศจรรย์ “เงาพระธาตุ-หล่มภูเขียว-กู่ช้าง กู่ม้า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สะพานรัษฎาภิเศก หนึ่งในสัญลักษณ์ของ จ.ลำปาง เมืองต้องห้าม...พลาด ภายใต้แนวคิด“เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา”
โลกใบเดียวกัน วันเวลาผันผ่านไปเหมือนกัน

แต่น่าแปลก...ที่ในบางเมือง บางสถานที่ เมื่อ“ตะลอนเที่ยว”ได้ไปเยือนแล้ว กลับให้ความรู้สึกเหมือนเวลาเดินช้าลง ดังเช่นจังหวัด“ลำปาง-ลำพูน” ซึ่งในอดีตเป็น“เมืองแฝด”ที่มีความผูกพันฉันพี่น้องกันมาช้านาน โดยหลังจากที่“พระนางจามเทวี”ขึ้นปกครองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ในบั้นปลายหลังปกครองบ้านเมืองสงบสุขด้วยดี พระองค์ได้สละราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรสฝาแฝด โดยให้“เจ้าชายมหันตยศ” แฝดผู้พี่ปกครอง“นครหริภุญชัย”หรือลำพูนในปัจจุบัน ส่วน“เจ้าชายอนันตยศ”แฝดผู้น้องปกครอง“เขลางค์นคร” หรือลำปางในปัจจุบัน
สะพานขาวทาชมภู จ.ลำพูน สะพานข้ามทางรถไฟอายุเกือบ 100 ปี อันสุดคลาสสิก
วันนี้จังหวัดลำปางจึงอวลไปด้วยกลิ่นอายของวันวานแห่งเขลางค์นครอันทรงเสน่ห์ ในขณะที่จังหวัดลำพูนนั้นก็น่ายลไปด้วยไออดีตแห่งนครหริภุญชัยอันสุดแสนจะคลาสสิก

ด้วยเหตุนี้ ทาง“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)” จึงคัดสรรให้จังหวัดลำปางและลำพูนเป็นหนึ่งในโครงการ“เมืองต้องห้าม...พลาด Plus”(เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส) กับเส้นทางท่องเที่ยวชื่อเก๋ๆ “ลำปาง plus ลำพูน”ภายใต้แนวคิด“เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา” เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวย้อนรอยอดีตมนตราแห่งล้านนา ที่ยังคงเอกลักษณ์ความงดงามส่งผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ร่วมด้วยการพาไปสัมผัสกับสิ่งที่น่าสนใจอันหลากหลายของจังหวัดทั้งสอง

ลำปาง-เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา
วันนี้กาดกองต้าได้รับการพลิกฟื้นให้กลายเป็น “ถนนคนเดิน” เปิดทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น.
สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดลำปาง ที่เปรียบเสมือนการนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปสัมผัสกับมนตราแห่งอดีตนั้นอยู่ในตัวเมืองลำปาง โดยเฉพาะที่ย่านเมืองเก่า“กาดกองต้า”หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“ตลาดจีน”(ในซอยตลาดจีน ขนานกับลำน้ำวัง) อดีตศูนย์กลางการค้าสำคัญ

วันนี้กาดกองต้าได้รับการพลิกฟื้นให้กลายเป็น“ถนนคนเดิน” เปิดทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00-22.00 น. ในบรรยากาศการค้าขายอันคึกคักมีชีวิตชีวา มีสินค้าหลากหลาย ทั้ง อาหารการกิน งานแฮนด์เมด งานศิลปะ สินค้าพื้นเมือง และสินค้าอื่นๆจิปาถะ ท่ามกลางอาคารบ้านเรือนเก่าแก่อันคลาสสิกทรงเสน่ห์ ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทย จีน ยุโรป เข้าไว้ด้วยกัน นำโดย“อาคารหม่องโง่ยซิ่น”เรือนขนมปังขิงอันแสนสวยดูคลาสสิกสุดๆ
อาคารหม่องโง่ยซิ่น เรือนขนมปังขิงอันแสนสวยแห่งกาดกองต้า
ขณะที่ใกล้ๆกับกาดกองต้านั้นเป็นที่ตั้งของ “สะพานรัษฎาภิเศก” (ริมแม่น้ำวัง ต.หัวเวียง อ.เมือง) สะพานในบรรยากาศย้อนยุคที่อวลไปด้วยกรุ่นไอแห่งอดีต

สะพานรัษฎาภิเศก หรือ “สะพานขาว” เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือสร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 2460 แทนสะพานไม้เสริมเหล็กที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2444 แล้วชำรุดพังลง สะพานแห่งนี้มีสีขาวเด่นรูปทรงโค้งงาม ตรงหัวสะพานมีเครื่องหมายไก่ขาวและครุฑหลวงประดับอยู่
สะพานรัษฎาภิเศก สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ
ปัจจุบันสะพานขาวนอกจากจะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองลำปางแล้ว ยังเป็นดังสะพานเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เนื่องจากสะพานรถยนต์ข้ามแม่น้ำในลักษณะเดียวกัน รุ่นราวคราวเดียวกันนั้น ไม่มีหลงเหลืออยู่อีกแล้ว

ลำปาง-อัศจรรย์เงาพระธาตุ
พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง
ความเป็นอดีตเมืองเก่าอันรุ่งโรจน์ผ่านยุคสมัยต่างๆ ทำให้ลำปางเป็นแหล่งอารยธรรมล้านนามีชีวิต โดยหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันก็คือ “วัดพระธาตุลำปางหลวง”(ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา) ซึ่งเป็นวัดต้องห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือนลำปาง

วัดพระธาตุลำปางหลวง ถูกยกให้เป็นวัดไม้โบราณที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดวัดหนึ่งของเมืองไทย สร้างขึ้นตามความเชื่อในเรื่อง “คติจักรวาล” ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานองค์“พระธาตุลำปางหลวง” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปางและพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีฉลู(วัว)
เงาพระธาตุหัว อันซีนไทยแลนด์แห่งวัดพระธาตุลำปางหลวง
นอกจากนี้ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงยังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆอีก อย่างเช่น “พระเจ้าล้านทอง” ที่ประดิษฐานอยู่ใน“กู่พระเจ้าล้านทอง”ที่สร้างอย่างงดงามวิจิตรในวิหารหลวง, “พระเจ้าองค์หลวงพระนครลำปาง” หนึ่งในองค์พระประธานอันงดงามแห่งล้านนาที่ประดิษฐานอยู่ใน “วิหารพระพุทธ” รวมถึง“เงาพระธาตุ”ที่เป็นปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์พบเพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทย

เงาพระธาตุ วัดพระธาตุลำปางหลวง มีทั้งเงาพระธาตุหัวกลับ(ในมณฑปพระพุทธบาท-ผู้หญิงห้ามขึ้น)และเงาพระธาตุหัวตั้ง(ในวิหารลายคำ-ผู้หญิงเข้าได้)ให้ชมกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์อันลือลั่น
วัดปงสนุกเหนือ วัดงามที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์จากยูเนสโก
นอกจากวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว ในจังหวัดลำปาง ยังมีวัดน่าสนใจสวยๆงามๆให้เที่ยวชมกันอีกหลากหลาย นำโดยกลุ่มวัดในตัวเมือง ได้แก่ “วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม”ที่เคยประดิษฐานองค์พระแก้วมรกตมาก่อน, “วัดเจดีย์ซาวหลัง” ซึ่งเชื่อกันว่าใครนับเจดีย์ครบ 20 องค์(ตามชื่อวัด)จะเป็นคนมีบุญนัก, “วัดปงสนุกเหนือ” วัดงามเก่าแก่ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดีเด่นจากองค์การยูเนสโก และ “วัดศรีชุม”กับ “วัดศรีรองเมือง” 2 วัดที่โดดเด่นไปด้วยงานศิลปกรรมพม่าอันงดงาม
“พระพุทธรูปเรืองแสง”หนึ่งเดียวในเมืองไทย ที่สำนักสงฆ์ดอยวังเฮือ
ส่วนถ้าออกนอกเมืองไปหน่อยที่ดอยวังเฮือ จะเป็นที่ตั้งของ “สำนักสงฆ์ดอยวังเฮือ”(ต.พระบาท อ.เมือง)ซึ่งปัจจุบันได้มีการสร้าง“พระพุทธรูปเรืองแสง”หนึ่งเดียวในเมืองไทยขึ้น โดยยามเมื่ออยู่ในความมืดองค์พระจะเรืองแสงเปล่งประกายสวยงาม นับเป็นอันซีนแห่งใหม่ในลำปางที่น่าสนใจยิ่ง
วัดพระบาทปู่ผาแดง กับเจดีย์บนยอดเขาริมเหวอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ขณะที่“วัดพระบาทปู่ผาแดง”(ต.วิเชตนคร อ.แจ้ห่ม)นั้น ก็โดดเด่นไปด้วยมนต์เสน่ห์ของวัดบนขุนเขา ที่มีการสร้างพระธาตุ เจดีย์ ไว้บนยอดเขาริมเหวได้อย่างน่าทึ่ง แลดูสวยงามและเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา

ลำปาง-อ.งาว พราวเสน่ห์

จากวัดวาอารามต่างๆ เราไปสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของ “อ.งาว” ที่เป็นอีกหนึ่งอำเภอน่าเที่ยวของจังหวัดลำปาง ซึ่งวันนี้มี“หล่มภูเขียว”เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์มาแรง
หล่มภูเขียว อ.งาว หนึ่งในความมหัศจรรย์แห่งลำปาง
หล่มภูเขียว เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใสแจ๋ว บางวันสะท้อนแสงเป็นสีเขียวมรกต บางวันสะท้อนเป็นสีเขียวอมฟ้าดูสวยงามแปลกตาต่างกันไป นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์แห่งลำปางที่ไม่ควรพลาด

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆใน อ.งาว ที่น่าสนใจ ก็มี“เจ้าพ่อประตูผา” ที่ชาวบ้านต่างให้ความเคารพนับถือ ซึ่งในบริเวณนี้ยังมี“ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์”อายุกว่า 3,000 ปี เป็นอีกหนึ่งแหล่งโบราณคดีสำคัญ,“ถ้ำผาไท”อันใหญ่โตกว้างขวาง ภายในน่ายลไปด้วยหินงอกหินย้อยอันสวยงาม “น้ำตกแม่แก้” น้ำตกขนาดใหญ่อันสวยงามชุ่มฉ่ำตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้อันร่มรื่น และ “วัดจองคำ” ที่งดงามด้วยศิลปะไทยใหญ่อีกทั้งยังมี“พระมหาเจดีย์พุทธคยา”(จำลอง)ให้สักการะกันอีกด้วย
สะพานโยง อ.งาว สะพานแขวนแห่งแรกในเมืองไทย
นอกจากนี้ ใน อ.งาว ยังมีอีก 2 สิ่งน่าสนใจที่จะพาให้เราไปสัมผัสกับกลิ่นอายแห่งอดีตวันวานอันทรงเสน่ห์ ได้แก่ “สะพานโยง” หรือ “สะพานลอย”สะพานแขวนแห่งแรกในเมืองไทย ปัจจุบันแม้เลิกใช้แล้ว แต่ความสวยงามคลาสสิกของสะพานแห่งนี้ยังไม่จางไป
ชวนย้อนดีตผ่านโลกแห่งภาพยนตร์ที่พิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง อ.งาว จ.ลำปาง
ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือ “พิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง” (ต.บ้านร้อง อ.งาว) ที่ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเกี่ยวกับภาพยนตร์ในอดีตมากมาย โดยเฉพาะโปสเตอร์หนังเก่าจำนวนมากที่ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ ซึ่งจะพาเราไปสัมผัสกับอดีตวันวานอันทรงคุณค่าและน่าประทับใจ

ลำปาง - ช้าง ม้า ก๋าไก่

มนต์เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดลำปางคือการมีสัตว์ 3 ชนิด เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด คือ ช้าง ม้า และไก่ กับสโลแกนเมืองแห่ง “ช้าง ม้า ก๋าไก่”ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แสดงวิถีตัวตนอันชัดเจนของเมืองลำปาง
สัมผัสเสน่ห์ความน่ารักแสนรู้ของช้างไทยได้ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
โดยช้างนั้นมาจาก “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” หรือ “สถาบันคชบาลแห่งชาติ”(ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร) แหล่งเลี้ยงช้าง ฝึกช้าง และอนุรักษ์ช้าง ซึ่งเราจะได้สนุกสนานเพลิดเพลินไปกับความน่ารักแสนรู้ของจากไทย ผ่านการแสดงโชว์ความสามารถอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ช้างถอนสายบัว เล่นดนตรี การเดินบนซุงท่อนเดียว วาดภาพ นับเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของช้างไทยอันน่าทึ่ง และน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
รถม้า หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งลำปาง จนได้รับฉายาว่าเป็นเมืองรถม้า
ส่วนม้ามาจาก“รถม้า” เพราะปัจจุบันเป็นจังหวัดเดียวในเมืองไทยที่ยังคงมีรถม้าวิ่งอยู่ จนได้รับฉายาให้ว่า“เมืองรถม้า” อีกทั้งยังมีคำกล่าวว่า “หากมาเที่ยวลำปางแล้วไม่ได้นั่งรถม้า ก็เท่ากับว่ามาไม่ถึงจังหวัดลำปาง” ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถม้าฟังเสียงกุบกับๆ เปิดมุมมองใหม่ๆ เที่ยวชมเมืองลำปางได้ทั้งรอบเล็ก รอบใหญ่ ตามใจชอบ
ชามตราไก่ เซรามิกขึ้นชื่ออีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งลำปาง
ขณะที่ไก่นั้น มาจาก“ชามตราไก่” หรือ “ชามก๋าไก่” ผลิตภัณฑ์เซรามิกเลื่องชื่อของเมืองลำปางที่ได้สืบสานมรดกทางภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดลำปาง
สามารถท่องเที่ยวเรียนรู้ ชมวิธีการทำเซรามิกกันได้ในพิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี
สำหรับแหล่งชม-ชอปงานเซรามิกและชามตราไก่นั้นก็มีอยู่ทั่วไปในจังหวัดลำปาง ส่วนใครถ้าอยากเลือกซื้อเซรามิกสวยๆงามๆควบคู่ไปกับชมกระบวนการผลิต เรียนรู้ความเป็นมาของชามตราไก่ และงานเซรามิกต่างๆ “พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี” สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพราะที่นี่ได้รวบรวมเรื่องราวต้นกำเนิดชามตราไก่ในลำปางไว้ให้ศึกษาเที่ยวชม อีกทั้งยังมีสิ่งน่าสนใจเด่นๆอย่าง ชามตราไก่ที่เล็กที่สุดในโลก ชามตราไก่ใบยักษ์ ชามตราไก่ทองคำ และ“เตามังกร”เตาเผาโบราณ ที่ปัจจุบันหาชมไม่ได้ง่ายๆ

ลำพูน-ไหว้พระธาตุหริภุญชัย
ซุ้มประตูด้านหน้าทางเข้าวัดพระธาตุหริภุญชัย วัดคู่บ้านคู่เมืองลำพูน
จากจังหวัดลำปาง“ตะลอนเที่ยว”เดินทางสู่จังหวัดลำพูน กับเมืองที่เล็กที่สุดในภาคเหนือแต่ก็เป็นเมืองแห่งอดีตอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา ซึ่งวันนี้ทางจังหวัดกำลังเดินหน้าสู่การผลักดันขอเป็นเมืองมรดกโลกจากยูเนสโก

ลำพูนเป็นเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพน้อยมาก ในเมืองดูสงบงาม ปราศจากตึกสูง นอกจากนี้ลำพูนยังมีมนต์ตราแห่งความเก่าแก่ คลาสสิก กับวิถีที่ดูเรียบง่าย แต่มากมายไปด้วยเสน่ห์เป็นสิ่งดึงดูดสำคัญชวนให้ผู้ที่มาเยือนต่างพากันหลงรัก
พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลำพูน
ลำพูนมีศูนย์กลาง ศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ “พระธาตุหริภุญชัย” ที่ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระธาตุหริภุญชัย”(ถ.อินทยงยศ ต.ในเมือง อ.เมือง)

พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน และเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกา(ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ภายในประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุอยู่ในโกศทองคำ ซึ่งแต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาไหว้องค์พระธาตุหริภุญชัยกันไม่ได้ขาด
“พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” พระพุทธปฏิมาในวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย
นอกจากนี้วัดพระธาตุหริภุญชัยยังมี “พระมหามุนีศรีหริภุญชัย”พระพุทธปฏิมาในวิหารหลวง “พระเจ้าทองทิพย์”ในโบสถ์ด้านหน้า,“หลวงพ่อพระนอน”,“สุวรรณเจดีย์”, “รอยพระพุทธบาท 4 รอย”และ “พิพิธภัณฑ์” เป็นต้น

ลำพูน-กู่ช้าง กู่ม้า
วัดพระยืน จ.ลำพูน
นอกจากวัดพระธาตุหริภุญชัยแล้ว ในตัวเมืองลำพูนยังมีวัดสำคัญๆที่น่าสนใจ ได้แก่ “วัดจามเทวี” ทีมีไฮไลต์คือ“พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ” หรือ “กู่กุด” ซึ่งเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมภายในบรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี, “วัดพระยืน”ที่โดดเด่นไปด้วย“เจดีย์วัดพระยืน” กับงานศิลปกรรมแบบพม่าอันงดงามเป็นเอกลักษณ์, “วัดมหาวัน” ที่มี “พระรอดหลวง” ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของ“พระรอดลำพูน” อันลือลั่น
กู่ช้าง-กู่ม้า 1 ใน สถานที่ท่องเที่ยวจากโครงการ เขาเล่าว่า...
ส่วน“กู่ช้าง กู่ม้า”(ชุมชนวัดไก่แก้ว อ.เมือง)หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ชาวเมืองลำพูนเคารพนับถือนั้น วันนี้กำลังมาแรงมาก เนื่องจากได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 24 แหล่งท่องเที่ยว “เขาเล่าว่า...” อีกหนึ่งแคมเปญท่องเที่ยวสำคัญประจำปี 2559 ของ ททท.
เชื่อกันว่าถ้าได้มาลอดท้องรูปปั้นช้างปู้ก่ำงาเขียว(จำลอง)ที่กู่ช้าง กู่ม้า แล้วจะได้รับพรแห่งชัยชนะ
กู่ช้างเป็นสถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อกันว่าเป็นที่สุสานของ “ปู้ก่ำงาเขียว” ช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ซึ่งหากใครได้มากราบไหว้ขอพร และหากใครได้ลอดท้องรูปปั้นช้างปู้ก่ำงาเขียว(จำลอง)ที่กู่ช้าง กู่ม้า เชื่อว่าจะได้รับพรแห่งชัยชนะ สมหวังทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และการดำเนินชีวิต

ส่วนกู่ม้าตั้งอยู่ด้านหลังของกู่ช้าง เป็นเจดีย์ทรงกลม เชื่อว่าเป็นสุสานของม้าศึกพระนางจามเทวีเช่นกัน

“ลำปาง plus ลำพูน” ในเส้นทางรถไฟ
สถานีรถไฟนครลำปาง อาคารอนุรักษ์ดีเด่น
จังหวัดลำปางและลำพูน นอกจากจะเดินทางเชื่อมโยงถึงกันด้วยทางรถยนต์แล้ว รถไฟก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่เชื่อมโยงเมืองทั้งสองเข้าด้วยกัน โดย“สถานีรถไฟนครลำปาง”(อ.เมือง จ.ลำปาง)นั้น ได้ชื่อว่าเป็นสถานีในบรรยากาศย้อนเวลากับอาคารอนุรักษ์ดีเด่นอันสวยงามเปี่ยมเสน่ห์ มีหัวรถจักรโบราณตั้งเด่นอยู่ที่เกาะกลางตรงทางเข้า
สถานีรถไฟลำพูน เล็กๆแต่คลาสสิกทรงเสน่ห์
ส่วน“สถานีรถไฟลำพูน”(อ.เมือง จ.ลำพูน) แม้จะเป็นสถานีเล็กๆเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว แต่ก็ดูสวยงามคลาสสิก อีกทั้งยังมีการตกแต่งบริเวณโดยรอบอย่างสวยงามสะอาดสะอ้าน

สำหรับเส้นทางรถไฟสายเหนือที่วิ่งจากกรุงเทพฯไปสิ้นสุดที่เชียงใหม่นั้น เมื่อมาถึงยังจังหวัดลำปาง-ลำพูน จะต้องผ่านจุดสำคัญคือ “อุโมงค์ขุนตาน” อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในเมืองไทย มีความยาว 1.352 เมตร สร้างขึ้นด้วยการเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์บนพื้นที่รอยต่อของจังหวัดลำปางและลำพูน
สะพานขาวทาชมภู อ.แม่ทา อีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่ง จ.ลำพูน
เมื่อรถไฟวิ่งลอดอุโมงค์ขุนตานฝั่งลำปางจาก อ.ห้างฉัตร ไปทะลุฝั่งลำพูนที่ อ.แม่ทา รถไฟจะไปวิ่งผ่านอีกหนึ่งจุดสำคัญใน จ.ลำพูน นั่นก็คือ “สะพานขาวทาชมภู”(ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดทาชมภู อ.แม่ทา) ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งทอดตัวข้ามลำน้ำแม่ทา กับสะพานข้ามทางรถไฟสีขาวเด่น กับทรวดทรงโค้งงามสมส่วน ท่ามกลางฉากหลังเป็นเขาสูง เรียกว่าเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพงดงามเป็นอย่างมาก
สะพานขาวทาชมภู สะพานข้ามทางรถไฟคอนกรีตเสริมเหล็กอันสวยงามเป็นเอกลักษณ์
สะพานขาวทาชมภู มีความยาว 87.3 เมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2462 เป็นสะพานรถไฟที่แปลกแตกต่างไปจากสะพานรถไฟอื่นที่นิยมสร้างด้วยโครงเหล็ก แต่สะพานแห่งนี้สร้างด้วยโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก(เนื่องจากช่วงก่อสร้างสะพานอยู่ในภาวะสงครามไม่สามารถหาเหล็กมาสร้างสะพานได้) นับเป็นสะพานที่สวยงามและท้าทายมาก

ปัจจุบันสะพานขาวทาชมภูถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองลำพูน ที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปกับสะพานเป็นจำนวนมาก
สะพานรัษฎาภิเศก เป็นดังสะพานแห่งกาลเวลาที่ทอดเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
ทั้งสะพานรัษฎาภิเศก จ.ลำปาง และ สะพานสะพานขาวทาชมภู จ.ลำพูน นอกจากจะเป็นสะพานแห่งกาลเวลาที่ทอดเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบันแล้ว ยังเป็นสะพานที่เชื่อมโยงมนต์เสน่ห์ของเส้นทางท่องเที่ยว “ลำปาง plus ลำพูน”เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ในกลิ่นอายย้อนยุคของเมืองต้องห้าม...พลาด พลัส “ลำปาง plus ลำพูน” เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” เมื่อมีโอกาสขึ้นเหนือไปแอ่วในจังหวัดทั้งสอง มันเหมือนดังเรากำลังนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสัมผัสบรรยากาศไออดีตเสน่ห์วันวาน ที่น่าหลงรัก น่าเที่ยวชม

และน่าค้นหากระไรปานนั้น
รถม้าลำปาง(หน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง) อีกหนึ่งเสน่ห์ของลำปาง เมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา
******************************************
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในเส้นทาง เมืองต้องห้าม...พลาด พลัส “ลำปาง plus ลำพูน” เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (รับผิดชอบพื้นที่ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่) โทร. 0-5324-8604-5
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น