xs
xsm
sm
md
lg

เยือนถิ่นตลาดเก่า “นางเลิ้ง” เสน่ห์ดั้งเดิม ต้นตำรับความอร่อยหลากหลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทางเข้าตลาดนางเลิ้ง
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

ตลาดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม มักจะค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา แต่ตลาดที่ยังคงความเสน่ห์ มักจะแสดงให้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละถิ่นนั้นๆ ทำให้รู้รากเหง้าทางวัฒนธรรมของแต่ละสถานที่ นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ "ตลาดนางเลิ้ง" หนึ่งในตลาดเก่าแก่ ในกรุงเทพฯ มีความน่าสนใจให้เที่ยวชมอยู่หลายอย่าง และมีคนมาเยือนตลาดแห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย
บรรยากาศภายในตลาดนางเลิ้ง
สำหรับตลาดแห่งนี้ฉันได้ยินมาว่าย่านนี้เป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ ตั้งอยู่ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต โดยก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2443 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ซึ่งแต่เดิมเรียกย่านแห่งนี้ว่า “ย่านสนามกระบือ” จนกาลเวลาได้ผันเปลี่ยนเรียกย่านนี้ว่า “อีเลิ้ง” เหตุที่มีชื่อเรียกแบบนี้เนื่องด้วยบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบคลองเปรมประชากร มีชาวมอญล่องเรือนำตุ่มอีเลิ้งมาวางขายและกลายเป็นชื่อคุ้นปากจวบจนถึงยุคสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการเปลี่ยนชื่อให้สุภาพขึ้นว่า “นางเลิ้ง”
ร้านนันทาขนมไทย
ร้าน ข้าวแกงรัตนา ร้านข้าวแกงชื่อดัง
อย่างแรกที่ฉันเดินเข้าไปพบเห็นในตลาดนางเลิ้งแห่งนี้แล้วรู้สึกหลงใหลนั่น คือตึกรามบ้านช่องทั้งด้านนอกและด้านใน นั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบเก่าที่สวยงาม โดยปัจจุบันได้มีการบูรณะทาสีใหม่ให้สีสันงดงามมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในตลาดยังเป็นที่ตั้งของร้านค้าร้านอาหารต้นตำรับมากมายให้ผู้ที่ได้มาเยือนได้จับจ่ายลองลิ้มชิมรส ไม่ว่าจะเป็นของคาวหรือของหวานก็ต่างเป็นสิ่งขึ้นชื่อของตลาดแห่งนี้ อาทิ ร้านข้าวแกงรัตนา ขนมเบื้องโบราณ ร้านบะหมี่ ส.รุ่งโรจน์ ไส้กรอกปลาแนม ข้าวเกรียบปากหม้อ นันทาขนมไทย ล้วนเป็นของอร่อยที่คนมักติดใจกันในตลาดแห่งนี้
ที่ตั้งของ “ศาลกรมหลวงชุมพร”
รูปปั้น กรมหลวงชุมพร
ฉันเดินไปอย่างด้านในสุดของตลาดจะพบกับ ที่ตั้งของ “ศาลกรมหลวงชุมพร” ถือได้ว่าศาลแห่งนี้มีความใกล้ชิดกับกรมหลวงชุมพรฯ มากกว่าศาลอื่นๆ เพราะความผูกพันของกรมหลวงชุมพรฯกับย่านนางเลิ้ง ว่าเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพอยู่พระราชบิดา (ร.5) ทรงโปรดให้สร้างวังที่ประทับแก่กรมหลวงชุมพรฯในที่ดินบริเวณชุนชมริมคลองผดุงกรุงเกษมใกล้กับบริเวณที่เป็นย่านค้าขายตุ่มนางเลิ้ง ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า"วังนางเลิ้ง" ปัจจุบันพื้นที่วังนี้เป็นที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร
“โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี”  โรงหนังครั้งในอดีต
และอีกสถานที่สำคัญเมื่อครั้งอดีตนั้นก็คือ “โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี” โรงหนังนี้ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า"โรงหนังนางเลิ้ง" มีลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้นเริ่มฉายภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2461 สภาพที่นั่งเมื่อแรกเปิดกิจการจะเป็นม้ายาวที่ไม่มีการกำหนดที่นั่งใครเข้ามาดูก็สามารถเลือกที่นั่งได้อย่างเสรี และไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วหนังระยะแรกเป็นหนังใบ้ไม่มีการพากย์เสียง จะใช้การเล่นแตรวงอยู่หน้าโรงหนังเพื่อเรียกความสนใจจากคนดู เมื่อเริ่มฉายหนังก็จะย้ายเข้ามาเล่นข้างใน
สภาพเก่าทรุดโทรมไปตามเวลา
โรงหนังเฉลิมธานี ดำเนินกิจการเรื่อยมาจนกระทั่งถึงพ.ศ.2536 จึงได้ปิดกิจการลงเนื่องจากภาวะซบเซาของภาพยนตร์ไทย ถือเป็นอันสิ้นสุดแหล่งบันเทิงเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับใช้ประชาชนมาถึง75 ปีโรงหนังเฉลิมธานีในวันนี้จึงกลายมาเป็นโกดังเก็บของ มีสภาพทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด
นางเลิ้งอ๊าร์ต ร้านเก่าแก่ ในย่ายนางเลิ้ง
เมื่อเดินข้ามถนนไปอีกด้านของตลาดนางเลิ้ง ฉันพบร้านทำล็อกเกตหินแห่งหนึ่งชื่อว่า "นางเลิ้งอาร์ต" ร้านนี้พิเศษที่ความเก่าแก่และเป็นร้านล็อกเกตหินแห่งแรกในเมืองไทยด้วย ซึ่งในยุคหนึ่งล็อกเกตเป็นเครื่องประดับที่นิยม กันมาก นางเลิ้งอาร์ตเป็นร้านชานเมืองที่อยู่ใกล้กรุงมากที่สุดในเวลานั้น

ตลาดนางเลิ้ง ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านล่วงเลยไปขนาดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตลาดแห่งนี้ยังคงเป็นตลาดที่มีมนต์เสน่ห์ เพราะคนในชุมชนต่างอนุรักษ์ และรักษาให้ตลาดแห่งนี้ยังคงอยู่ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งย่านที่นักท่องเทียวมักควรได้มาเยี่ยมเยือนซักครั้ง
*****************************************
 
ตลาดนางเลิ้ง เปิดตลาดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-14.00 น. ตลาดเย็น ตั้งแต่เวลา 17.00-23.00 น.

การเดินทาง

จากแยกยมราช เข้าถนนหลานหลวงผ่านตลาดมหานาค ข้ามสะพานขาว เลี้ยวขวาเข้าถนนกรุงเกษม ถึงสี่แยกเทวกรรม ตลาดจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ

จากสะพานปิ่นเกล้า ให้ตรงเข้าถนนราชดำเนินกลาง จนถึงสะพานผ่านฟ้า แล้ววิ่งเข้าถนนนครสวรรค์ ตรงมาผ่านสี่แยกแรก เลยมาอีกเล็กน้อยจะเห็นทางเข้าตลาดอยู่ทางขวามือ

จากท่าน้ำเทเวศร์ บริเวณเทเวศร์ ซอย 1 จะมีต้นสายรถประจำทาง 53 ให้ขึ้นสาย 53 มา จะผ่านวัดมกุฏกษัตริยาราม แยกมัฆวานรังสรรค์ พอข้ามแยกมา ให้ลงที่ป้ายวัดโสมนัสวรวิหาร จากนั้นเดินตรงข้าม 4 แยกไป และเลี้ยวขวา เดินทรงไปอีกประมาณ 100 เมตร จะเจอป้ายทางเข้าตลาดนางเลิ้ง

รถประจำทาง สาย 5, 10, 53 และปอ. 171 ผ่านทางถนนนครสวรรค์ ส่วนรถประจำทางสาย 2, 8, ปอ. 44 และ ปอ. 60 เข้าทางถนนหลานหลวง
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น