xs
xsm
sm
md
lg

เกินทน! นี่มัน “ทางเท้า” หรือ “ทางรถ” กันแน่!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้คนหลายต่อหลายคน ต้องเสี่ยงอันตรายกับการลงไปเดินบนท้องถนนกับรถที่สัญจรไปมา เพียงเพราะที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดสำหรับคนเดินเท้า กลับกลายเป็นเลนรถวิ่งเพราะความมักง่ายของคน!

เด็กจุฬา ประกาศไล่มอไซค์ออกจากทางเท้า!

ปัจจุบันนี้เชื่อว่าใครหลายๆ คนคงประสบปัญหากับทางเท้าที่แทบจะไม่มีทางที่เอาไว้สำหรับสัญจรไปมา ทางเท้าทำมาให้คนเดินเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรายบนท้องถนน ทว่ากลับกลายเป็นพื้นที่สนองความต้องการส่วนตัว ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะอีกต่อไป เมื่อความมักง่ายของพวกพ่อค้าแม่ค้า ที่นำร้านขายของมาตั้งอยู่บนทางเท้าอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือแม้แต่รถจักรยานยนต์ก็เช่นกัน ใช้ความเห็นแก่ตัวขับบนทางทางเท้าเพียงเพราะอยากประหยัดเวลาเพื่อความสะดวกรวดเร็ว หรือขับย้อนศรแบบไม่เกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อตัวเองและคนอื่น แต่เป็นผู้เดินถนนเองที่ต้องเป็นฝ่ายเดินเลี่ยงเสียเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฏหมายบ้านเรายังไม่แข็งแรงพอ และอีกส่วนหนึ่งคงต้องโทษผู้ที่จับจ่ายใช้สอยของบนทางเท้านั่นเอง เพราะหากไม่มีคนซื้อก็จะไม่มีคนขายเช่นเดียวกัน ปัญหาเหล่านี้นอกจากจะสร้างความอันตรายแล้ว ยังเกิดเป็นภัยสังคมตามมาอีกมากมาย

คนที่จุดประเด็นให้ปัญหาเดิมๆ เหล่านี้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งคือนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ที่ลุกขึ้นมาคิดโครงการ “รณรงค์ไม่ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า” เพื่อให้สามารถใช้กันได้อย่างไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องเดือนร้อน หากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำเป็นต้องใช้ทางเท้าเพื่อการสัญจร ให้ปรับใหม่เป็นการเดินจูงรถบนทางเท้าแทน เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ พวกเธอได้ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีใจความว่า

“เริ่มมาจากการเรียนวิชาหนึ่งซึ่งมีจุดประสงค์ให้นิสิตระดมความคิด ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเป็นปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวันของพวกเรา คือปัญหาการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า โดยส่วนตัวพวกเราต้องใช้ชีวิตประจำวันไปกับการเดินทางแล้วอยู่แล้ว เพราะคณะที่เรียน อยู่ในทำเลที่ต้องใช้ทางเท้าอยู่เสมอ

จึงมีความคิดที่อยากแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา และยังรู้สึกไม่พอใจหากมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่เดินอยู่ในทางที่ปลอดภัยแต่กลับต้องมาระวัง แต่จะแสดงออกโดยตรงไม่ได้เพราะกลัวว่าจะโดนชน

การรณรงค์ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ เทศกิจ และที่สำคัญคือผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์ ให้มีจิตสำนึกที่ดีและนึกถึงส่วนรวม และอยากฝากถึงตำรวจ/เทศกิจ ผู้รับผิดชอบ ให้ช่วยบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง และปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนค่ะ”






เห็นผิดเป็นชอบ! เพราะไม่บังคับใช้กฏหมาย

  จากกรณีนี้ทำให้มีคำถามมากมายสะท้อนกลับมาว่ากฏหมายมีไว้เพื่ออะไร? สิ่งเหล่านั้นไม่มีความผิดเลยหรือ? ทำไมปราบไม่หมดสักที? ทางทีมข่าวAstvผู้จัดการLive จึงได้สอบถามไปยังแหล่งข่าวกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อหาคำตอบได้ความว่า

“การขายของบนทางเท้ามีอยู่ 2ส่วน ด้วยกัน คือขายแบบถูกกฏหมาย พื้นที่ทางกรุงเทพมหานครขออนุมัติผ่อนผันให้เป็นการค้าขายชั่วคราวบนทางเท้า จุดต่างๆ ที่ขออนุญาตมาทางกรุงเทพมหานครก็มีกฏเกณฑ์ว่าจะวางพื้นที่ขนาดไหน เน้นช่องทางเดินเท้าไว้ให้ด้วย

เงื่อนไขในการปฏิบัติต่างๆ ขึ้นอยู่ที่กรุงเทพมหานครจะควบคุม ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือเปล่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายให้ขายของอย่างถูกกฏหมายอยู่แล้ว เท่าที่ทราบคือจัดสรรให้ประกอบอาชีพโดยไม่เสียค่าที่ อีกส่วนหนึ่งคือที่วางขายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันนี้ผิดทั้งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกและผิดตามพระราชบัญญัติการรักษาความสะอาดเรียบร้อยของกรุงเทพมหานครด้วย และความผิดรถจักรยานยนต์ที่วิ่งบนทางเท้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติทางบกไม่สามารถวิ่งได้อยู่แล้ว

กฏหมายมีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าประชาชนเราไม่เคารพกฏหมายเรื่องจราจรเป็นวินัยของคน คือมันไม่สามารถจับกุมได้ร้อยเปอร์เซนต์ คือเห็นเจ้าหน้าที่เข้าไปทำคือเราต้องยอมรับด้วยว่าเราไม่สามารถไปกวดขันจับกุมได้ตลอดเวลา

อย่างชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็นที่คนไปทำงานเยอะๆ ตำรวจก็ต้องมีหน้าที่มากดสัญญาณไฟจราจร ไม่มีใครออกไปจับ เหลือช่วงสายๆ อาจจะมีน้อยหน่อย ตำรวจเองก็ต้องไปดูจับกวดขันวินัยจราจรจากแผนที่กำหนดกวดขันไว้ในแต่ละวันเลยไม่สามารถไปกวดขันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เรื่องนี้ถ้าอยากได้ผลจริงจังคงต้องใช้เครื่องมือ อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในกวดขัน เช่นกล้องตรวจจับแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อุปกรณ์พวกนี้ต้องตั้งงบประมาณการจัดซื้อจัดหา

ส่วนเรื่องอุบัติเหตุก็มีบ้าง อย่างที่ร้องเรียนตามข่าว เป็นปัญหาคาราคาซังที่พบบ่อยที่สุด ที่เห็นชัดBTS หมอชิต ประชาชนต้องลงมาเดินบนท้องถนนแทน ทางกรุงเทพมหานครกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงได้จัดระเบียบเรื่องพวกนี้ โดยจัดโครงการออกมารณรงค์อย่างจริงจังเริ่มทำมาหลายที่แล้ว เช่นถนนรามคำแหงก็มีการจัดระเบียบและตลาดนางเลิ้งเริ่มจัดเข้าที่เข้าทางก็ให้เลิกขายไป”

อย่างไรก็ตาม หากอยากให้ความมักง่ายบนพื้นที่สาธาณะหมดไป คงต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อนว่าอย่าทำตัวเป็นภาระแก่สังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องได้ความร่วมมือจากประชาชน ผู้รับผิดชอบ ตำรวจและเทศกิจให้ใช้ข้อบังคับกฏหมายอย่าจริงจังด้วย





ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น