xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพฯหรือนี่!!! กับมุมพิเศษ “เจริญกรุง-ทรงวาด”...ชมสตรีทอาร์ตมาแรงสุดๆ “บุกรุก” บุกใจกลางกรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ในเทศกาลเมืองศิลปะ “บุกรุก” (BUKRUK Urban Arts Festival)
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ชอบงานศิลปะอย่างมาก เพราะงานศิลปะมันมักจะมีเสน่ห์บางอย่างให้หลงใหล ถ้าหากใครผ่านไปย่าน ถ.ทรงวาด, เจริญกรุง จะพบว่ามีผลงานสตรีทอาร์ตโผล่บนกำแพงและตัวอาคารหลายจุด ไม่ต้องแปลกใจ เพราะสิ่งเหล่านี้คือผลงานสตรีทอาร์ต ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินไทยและนานาชาติ ที่ได้เข้าร่วม เทศกาลเมืองศิลปะ “บุกรุก” (BUKRUK Urban Arts Festival) ครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาเมื่อต้นปี และในวันหยุดนี้ฉันจึงขอเดินสำรวจผลงานเหล่านี้ที่ถูกสร้างสรรค์ทิ้งไว้ ให้เราได้เดินชมกัน
ผลงานของ Alexmardi  ในซอยเจริญกรุง 32
งานของ Alexmardi  อีกครั้ง
ผลงานมากมายที่ถูกสร้างไว้ในซอยถนนเจริญกรุง 32
โดยจุดแรกที่ฉันไปเดินชมนั้นคือ ซอยเจริญกรุง 32 ติดกับไปรษณีย์กลางบางรัก เนื่องจากเป็นซอยที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย มีแต่ท่าเรือที่ขึ้นเรือไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้กำแพงแถวนั้นกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ผลงาน จึงเป็นที่ที่มีศิลปินหลายท่านได้ฝากฝีมือทิ้งไว้ อาทิ Alex face, Kult, Bonus, โลเล - ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ฯลฯ  จึงกลายเป็นจุดยอดนิยมอีกแห่งที่หากใครเดินมาชมศิลปะอยากถ่ายรูปชิกๆ ต้องมาซอยนี้เท่านั้น
ผลงานของ Sten and Lex สองศิลปินจากอิตาลี
หลังจากชมกำแพงศิลปะที่ซอยเจริญกรุง 32 แล้ว ฉันก็เดินไปตามถนนจนถึงซอยเจริญกรุง 30 และเดินเข้ามาจนเกือบจะสุดซอย ก็จะเจอกับผลงานอันยิ่งใหญ่ของ Sten and Lex สองศิลปินจากอิตาลี เป็นผลงานได้รับการยกย่องในด้านความละเอียดเป็นอย่างมาก เพราะมีขั้นตอนในการสร้างอย่างพิถีพิถัน เพราะในการทำให้เกิดสตรีทอาร์ต ภาพนี้นั้น ใช้โดยการแปะกระดาษทั้งตึกแล้วค่อยๆ ทาสีเอาไม้บรรทัดทาบ ต่อด้วยคัตเตอร์กรีด กลายเป็นผลงานภาพ Abstract ลายเส้นสีดำที่มีความสวยงามผลงานหนึ่งที่ถูกสร้างสรรค์ทิ้งไว้ในถนนเจริญกรุงแห่งนี้
บ้านเลขที่ 1 ในตรอกกัปตันบุช
ชมศิลปะแล้วฉันก็เดินไปตามตรอกกัปตันบุช ซึ่ง “กัปตันบุช” หรือ “นายจอห์น บุช” นั้น เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทย เป็นพ่อค้าและนักเดินเรือสัญชาติอังกฤษ ที่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในตำแหน่ง “เจ้าท่ายุโรป” แม้ปัจจุบันจะไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับบ้านเรือนของกัปตันบุช แต่สิ่งที่ยังคงเหลือเป็นอนุสรณ์ นั่นคือ ตรอกที่ตั้งบ้านเรือนของท่าน เรียกว่า “ตรอกกัปตันบุช” ปัจจุบันตรอกกัปตันบุชมีชื่อเป็นทางการว่า ซอยเจริญกรุง 30 ที่ฉันเดินเข้ามาชมศิลปะนั่นเอง 
ศิลปะจาก  Saddo ศิลปินชาวโรมาเนีย
ฉันเดินไปสักพักในตรอกกัปตันบุช ก็ได้พบอาคารเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามกับโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ซึ่งได้รับการบูรณะใหม่ เชื่อกันว่าเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอาคาร 2 ชั้น โดยสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอคลาสสิก เดิมเป็นอาคารที่บริษัทกลั่นสุราฝรั่งเศสสาขากรุงเทพฯ ได้เช่าสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ทำการ ซึ่งความพิเศษของบ้านหลังนี้คือ เป็นบ้านเลขที่ 1 ในเขตบางรักอีกด้วย
ผลงานของศิลปินชาวเกาหลีของ Daehyun Kim
ชมเพลิดเพลินแล้ว ฉันจึงเดินต่อไปทางออกถนนสี่พระยา มุ่งหน้าเข้า ถ.เจริญกรุง ไปยังซอยเจริญกรุง 28 ชมผลงาน “บุกรุก” ของ Daehyun Kim ศิลปินจากเกาหลี ซึ่งได้วาดรูปคนนั่งอ่านหนังสือในห้อง เป็นผลงานการวาดที่ใช้สีขาวดำ ส่วนอีกด้านก็จะเป็นผลงานของ Saddo ศิลปินจากโรมาเนีย ซึ่งวาดเป็นรูปนกใส่เสื้อแดงลาย อยู่บนผนังอาคาร ตรงปากซอย ถ.เจริญกรุง 28
ตรอกตรงข้ามซอยเจริญกรุง 28
แมวน้อยชื่อจูดี้ได้เป็นแบบในการวาดบนกำแพงนี้
ภาพวาดแมวน้อย จูดี้
ฉันถ่ายรูปสนุกสนานแล้วก็เดินข้ามถนนมาอย่างฝั่งตรงข้าม ก็จะพบซอกเล็กๆ ระหว่างตึก มีภาพวาดน่ารักๆ ซ่อนอยู่ ซึ่งภาพวาดเหล่านี้เป็นศิลปินชาวไทยได้วาดทิ้งไว้ จะมีทั้งรูปเด็กผู้หญิง รูปหนู และไฮไลต์โดนใจมากที่สุด นั่นคือรูปเจ้าแมวน้อย “JUDY” ซึ่งนางแบบของรูปก็นอนอยู่ในซอยนั้น น่ารักเหมือนในรูปวาดเลยทีเดียว เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนที่พบเห็น
“วัดแม่พระลูกประคำ” หรือมีชื่อเรียกอีกว่า “วัดกาลหว่าร์”
จากนั้นเดินต่อไปยังซอยวานิช 2 ชมความงดงามของ “วัดแม่พระลูกประคำ” หรือมีชื่อเรียกอีกว่า “วัดกาลหว่าร์” เป็นวัดคาทอลิกเก่าแก่ ที่มีสถาปัตยกรรมแบบกอทิก ปัจจุบันโบสถ์เก่าอันนี้มีอายุรวม 124 ปีแล้ว ถือเป็นหนึ่งในโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ผลงานสตรีทอาร์ตที่แฝงอยู่ในย่านตลาดน้อยของ Escif ศิลปินชาวสเปน
เป็นผลงานอีกชิ้นของ Escif ศิลปินชาวสเปน
ฉันก็เดินออกลัดเลาะย่านตลาดน้อย ชมผลงานสตรีทอาร์ตที่แฝงอยู่ในย่านตลาดน้อยของ Escif ศิลปินชาวสเปนที่เข้าร่วมเทศกาลเมืองศิลปะ “บุกรุก” ซึ่งความพิเศษอยู่ตรงที่ศิลปินคนนี้จะวาดรูปแฝงไปกับชุมชน เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต สถานที่นั้นๆ ทำให้เวลาฉันดูภาพเหล่านี้ มีความสุขและสนุกสนานไปกับการหาภาพต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในย่านตลาดน้อย
“ศาลเจ้าโจวซือกง”
จากนั้นฉันเดินไปก็แวะสักการะ “ศาลเจ้าโจวซือกง” ที่อยู่ในย่านนี้สักหน่อย ศาลเจ้าแห่งนี้มีลักษณะตัวอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนฮกเกี้ยนโบราณ ตามหินศิลาบันทึกของศาลเจ้าบันทึกไว้ว่า สร้างตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเศรษฐีชาวจีนฮกเกี้ยนแซ่โซว ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเปิดโรงเผาถ่าน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านบ้านตลาดน้อย ได้นำพาเทพพระเจ้าเฉ่งจุ้ยจ้อซูกง ที่ตนนับถือมาแต่เมืองจีนมาบูชา และได้ตั้งศาลเจ้าให้ท่านได้ประทับ ทำให้ศาลของพระเฉ่งจุ้ยจ้อซูกงได้รับความนับถือมาก ห้องโถงภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงปู่โจวซือกง” มีลักษณะเด่นทั้งองค์เป็นสีเปลือกมังคุด ห่มคลุมด้วยจีวรแบบพระนิกายจีนสีเหลืองอร่าม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธายิ่งนักของคนในย่านนี้
ผลงานของศิลปินหญิง Aitch จากโรมาเนีย ตั้งอยู่ใน ถ.ทรงวาด
ฉันเดินอกจากตลาดน้อยมุ่งหน้าไปยังถนนทรงวาด ตรงข้ามวัดปทุมคงคา ชมผลงานศิลปะที่หลายต่อหลายคนชอบมากรวมทั้งฉันด้วย เพราะด้วยสีสันความสวยงามแล้วทำเลที่ตั้งยังเห็นเด่นชัดมาแต่ไกล นั่นคือผลงานของศิลปินหญิง Aitch จากโรมาเนีย ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้ เป็นรูปเสือขาวบนพื้นหลังสีชมพู มีลายดอกไม้ใบไม้ สวยงาม หากใครขับรถผ่านไปผ่านมาต้องพบเจอและจดจำผลงานชิ้นนี้ได้อย่างแน่นอน
ผลงานของ Roa ศิลปินเบลเยียม นั้นได้วาดรูปช้างสองตัวบนกำแพงแบบสดๆ ไม่มีการร่างแบบใดๆ ทั้งสิ้น
ด้านศิลปิน  Aryz วาดรูปจักรยานซ้อนกันหลายๆ คัน
จากนั้นเดินมาอีกนิดจะเจอผลงานของ Roa และ Aryz ศิลปินจากเบลเยียมและสเปน ณ ลานตู้เหลือง บน ถ.ทรงวาด โดยผลงานของ Roa ศิลปินเบลเยียมนั้นได้วาดรูปช้างสองตัวบนกำแพง ใช้เทคนิควาดกันแบบสดๆ ไม่มีการร่างแบบใดๆ มาก่อน ซึ่งศิลปินได้เลือกช้างมาเป็นแบบในการวาด เพราะด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช้างเป็นสัตว์สำคัญจึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการวาดรูปจนเกิดผลงานที่สวยงามขนาดนี้ ส่วนศิลปิน Aryz วาดรูปจักรยานซ้อนกันหลายๆ คัน ใช้สีโทนอ่อน ทำให้ภาพเวลามองดูสบาย เป็นผลงานอีกชิ้นที่พูดถึงกันอย่างมาก

และนั่นเป็นผลงานบางส่วนจาก เทศกาลเมืองศิลปะ “บุกรุก” (BUKRUK Urban Arts Festival) ที่ฉันได้ไปเดินชมมาเท่านั้น ซึ่งแต่ละชิ้นผลงานได้สร้างขึ้นแฝงไว้กับตึกรามบ้านช่อง มีความโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน หากใครที่ชอบศิลปะเหล่านี้ ไม่ควรพลาดในการมาชม ก่อนที่ศิลปะเหล่านี้จะเลอะเลือนไปตามกาลเวลา
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น