xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพฯน่าทึ่ง!!! ปั่นเที่ยวกรุงไปกับมุมสุดเจ๋ง "ยุโรปในบางกอก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต
เมื่อพูดถึงยุโรป หลายๆ คนอาจนึกถึงตึกรามบ้านช่องที่สวยงาม สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแปลกตาไปจากที่เราเคยพบเห็น แต่ใครจะรู้ว่ากรุงเทพฯ นั้นถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีร่องรอยทางสถาปัตยกรรมและอาคารทรงยุโรปมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้ วัดบางวัด ได้แรงบันดาลใจจากอิตาลี วังบางวังมีดีไซน์ที่ผสมผสานระหว่างแนวบาโรกแบบออสเตรียกับอาร์ตนูโวของเยอรมัน แม้กระทั่งป้อมปราการแห่งแรกๆ บนฝั่งธนบุรีนั้นก็เป็นฝีมือการออกแบบของชาวฝรั่งเศส เนื่องด้วยการแลกเปลี่ยนทางการค้า ศิลปะและวัฒนธรรมของชาวยุโรปในกรุงเทพฯ มากว่า 250 ปีนั่นเอง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลฉันเองก็เพิ่งได้รู้จากการที่ได้มีโอกาสไปร่วมทริปปั่นจักรยาน “ทัวร์มรดกวัฒนธรรมยุโรป”

ทริปปั่นจักรยาน “ทัวร์มรดกวัฒนธรรมยุโรป” เป็นส่วนหนึ่งของแอพพลิเคชั่นแผนที่มรดกทางวัฒนธรรมยุโรป (EUROPEAN HERITAGE MAP) ของเครือข่ายสถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EUNIC Thailand) โดยมีการแบ่งเส้นทางปั่นจักรยานตามเส้นทางวัฒนธรรมทั้งหมด 4 สาย แต่สำหรับทริปที่ฉันได้เข้าร่วมนั้นถือได้ว่าเป็นทริปพิเศษที่รวบรวมสถานที่สำคัญบางแห่ง จากทั้ง 4 เส้นทาง รวมเป็นเส้นทางเดียว
การประปานครหลวง แม้นศรี
เริ่มต้นกันที่จุดรวมพลโรงแรมแกรนด์ ไชน่า ย่านเยาวราช เสมือนการลากเส้นสมมุติจากวัฒนธรรมตะวันออกสู่วัฒนธรรมตะวันตก โดยฉันเริ่มปั่นออกจากตัวโรงแรมออกมาทางด้าน ถ.เยาวราช ปั่นมุ่งหน้าสู่ ถ.วรจักร เมื่อใกล้ถึงแยกแม้นศรีจะพบกับ “การประปานครหลวง” อยู่ตรงหัวมุมขวามือ ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการแห่งแรกของการประปานครหลวง (Bangkok Water Work) สร้างขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 6 ตามแบบสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตก โดยทั่วไปเรียกกันว่า "ตึกโดม" หรือ "อาคารโดม" ตามลักษณะเด่นของอาคาร และบริเวณหลังตึกโดมไปทางทิศใต้นั้นมีถังสูงช่วยแรงส่งน้ำ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่เริ่มแรกในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6
บรรยากาศการปั่นจักรยาน ผ่านวัดสระเกศ
สะพานมหาดไทยอุทิศ
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่ ถ.จักรพรรดิพงศ์ ปั่นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่วัดสระเกศฯ ผ่านไปด้านหลัง ออกมาทางออก ถ.บริพัตร ปั่นเลี้ยวขวาไปทางคลองมหานาค จะพบกับสะพานข้ามคลองขนาดเล็กที่รถพอสวนกันได้ นั่นก็คือ “สะพานมหาดไทยอุทิศ” หรือสะพานร้องไห้ สร้างโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 หลังจากที่สวรรคตไปเมื่อ พ.ศ.2453 โดยตัวสะพานมีการตกแต่งด้วยศิลปะปูนปั้นนูนต่ำแบบวิตตอริโอ โนวีประดับไว้ เมื่อปั่นตรงไปอีกสักนิดจะเห็นอาคารรูปแบบนีโอคลาสสิค มีหอคอยยอดโดม ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบกรีก-โรมัน แรกเริ่มนั้นเป็นที่ตั้งห้างจอห์น แซมป์สัน เอ็มโพเรียม ก่อนที่กรมโยธาธิการจะเข้าใช้อาคารและแปลงภาพเป็น “พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
บรรยากาศการปั่นจักรยาน บริเวณ ถ.ราชดำเนินนอก
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวราราม ราชวรวิหาร
สะพานพระรูป ภายในวัดเบญจมบพิตร
หลังจากนั้น ปั่นผ่านแยกผ่านฟ้าลีลาศเข้าสู่ ถ.ราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถ.พิษณุโลก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้า ถ.นครปฐม ปั่นไปได้สักพักจะพบกับพระอุโบสถหินอ่อน “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวราราม ราชวรวิหาร” ซึ่งเป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยและตะวันตกเข้าด้วยกัน ผ่านฝีมือของเออโกล แมนเฟรตี โดยใช้หินอ่อนจากคาร์ราลี มีการตกแต่งด้วยกระจกสีที่ประดิษฐ์ด้วยลวดลายไทยผสมโกธิค หลังจากนั่งพักเหนื่อยใต้ร่มไม้ได้สักพักฉันก็สังเกตเห็นสะพานสีแดงลวดลายสวยงามแปลกตา ซึ่งเป็นสะพานเดินข้ามคูในวัดเชื่อมเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ได้รับการออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงส่งไปหล่อเป็นสะพานเหล็กมาจากอิตาลี คานและลูกกรงเป็นเหล็กหล่อลวดลาย ที่กลางสะพานติดป้ายแผ่นเหล็กมีสัญลักษณ์ที่บอกถึงชื่อสะพานแห่งนี้ว่า “สะพานพระรูป” และนอกจากสะพานนี้ยังมีสะพาน 2 แห่งอยู่ใกล้เคียงกัน คือสะพานถ้วยและสะพานงา
พระบรมรูปทรงม้า ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม
เมื่อพักชื่นชมความงามของวัดเบญฯ ให้พอหายเหนื่อยแล้วนั้น ฉันก็เริ่มปั่นต่อออกมาจากวัด เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.ศรีอยุธยา แวะสักการะ “พระบรมรูปทรงม้า” ที่สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครองราชสมบัติครบ 40 ปี โดยพระบรมรูปองค์นี้ทำการหล่อที่กรุงปารีส และเมื่อมองผ่านพระบรมรูปฯไปก็จะเห็น “พระที่นั่งอนันตสมาคม” ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมอิตาเลียนเรเนซองและนีโอคลาสิกชึ้นสำคัญของกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้
ตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน
หน้าต่างและลวดลายต่างๆ ภายในตำหนักที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมยุโรป
ห้องเต้นรำใหญ่ ครั้งหนึ่งเป็นที่ตั้งพระโกศสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ องค์เจ้าของวัง
ระเบียงชั้น 2 ตำหนักจิตรลดา
สถาปัตยกรรมภายในห้องประชุม ตำหนักจิตรลดา
หลังจากนั้นกลับเข้าสู่ ถ.ศรีอยุธยา โดยสถานที่ต่อไปที่นั้นคือ “วังปารุสกวัน” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า วังปารุสก์ ตั้งอยู่บนมุม ถ.ศรีอยุธยาตัดกับ ถ.ราชดำเนินนอก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน” เมื่อผ่านประตูเข้าสู่ตัววังนั้นจะรับรู้ได้ถึงบรรยากาศที่สงบร่มเย็นด้วยร่มไม้นานาพันธุ์ มี “ตำหนักจิตรลดา” อาคารรูปแบบอิตาเลียนวิลล่าตั้งตระหง่านทักทายแขกผู้มาเยือน ตัวตำหนัก 2 ชั้น ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบสติลลิเบอร์ตี้ แรกเริ่มเดิมทีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักจิตรลดาเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้นเป็นสยามมกุฏราชกุมาร แต่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงย้ายไปประทับ ณ พระราชวังดุสิต
พระฉายาลักษณ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ องค์เจ้าของวัง พร้อมด้วยหม่อมคัทริน ขณะอุ้มพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรส
ประติมากรรมสไตล์ยุโรปภายในสวน
ประติมากรรมสไตล์ยุโรปภายในสวน
อาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน
ตำหนักจิตรลดาแห่งนี้จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งประทับอยู่ที่ตำหนักปารุสกวันซึ่งอยู่ติดกัน ต่อมาทรงมีพระดำริให้รื้อกำแพงคั่นระหว่างตำหนักทั้งสองออก ตำหนักจิตรลดาจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวังปารุสกวัน สำหรับภายในนั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบอาร์ทนูโว บาโรก และรอคโคโค โดยภายในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีต่อกิจการตำรวจไทย ซึ่งนอกจากตัวตำหนักจิตรลดาแล้วนั้น ยังมีในส่วนของ อาคารพิพิธภัณฑ์ตำรวจ (อาคารกระจก) ที่จัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและวิวัฒนาการของตำรวจไทย
บรรยากาศการปั่นจักรยานเลียบไปตามริมน้ำเจ้าพระยา
กระทรวงกลาโหม
กว่าจะเดินชมนิทรรศการและความงามของสถาปัตยกรรมในตัววังแล้วเสร็จ รู้ตัวอีกทีก็เริ่มเย็นแล้วจึงต้องรีบเดินทางกันต่อโดยเมื่อออกจากวังปารุสก์ ปั่นมาทางแยกสี่เสาเทเวศร์ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถ.สามเสน ผ่านแยกเทเวศร์ ตรงไปทางบางลำภูเลี้ยวขวาเข้า ถ.พระอาทิตย์ ผ่านเข้าสวนสันติชัยปราการ ปั่นลัดเลาะเลียบไปตามริมน้ำเจ้าพระยา มาออกที่บริเวณท่าช้างวังหน้า ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ปั่นไปทางซ้ายผ่าน ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ออก ถ.พระจันทร์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถ.หน้าพระธาตุไปทาง ถ.หน้าพระลาน ปั่นเลี้ยวขวาเข้า ถ.สนามไชย ทางด้านซ้ายมือจะพบกับ “กระทรวงกลาโหม” ที่สุดแห่งสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกด้วยระเบียงเสากลมผ่านการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนโยอาคิม กราสซี แล้วเสร็จในปีพ.ศ.2427
พระราชวังสราญรมย์
ถัดไปอีกหน่อยจะพบกับพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระราชวังสราญรมย์ โดย “พระราชวังสราญรมย์” สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2409 โดยสถาปนิกชาวเยอรมัน อีกอน มุลเลอร์ แล้วได้รับการดัดแปลงโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนในภายหลัง นอกจากนี้พระราชวังแห่งนี้ยังใช้เป็นที่พำนักของราชวงศ์ยุโรปหลายพระองค์
สะพานหก สะพานข้ามคลองสไตล์ชาวดัทช์
ต่อมาลัดเลาะไปตามรั้ววังทางถนนสราญรมย์ ออกมาจะพบอนุสาวรีย์หมู ปั่นไปทางขวาสักพักจะเห็นสะพานยกดั้งเดิมตามแบบฉบับชาวดัทช์ ที่เรียกกันว่า “สะพานหก” มาถึงจุดนี้อาจจะลำบากนิดหน่อยเพราะต้องยกจักรยานข้ามสะพานเพื่อไปยังสถานที่สุดท้ายของทริปนี้กันแล้ว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
จากสะพานหกปั่นไปทางซ้ายมือแค่เพียงอึดใจจะพบกับ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าวัดราชบพิธ เป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2412-2413 นอกจากสถาปัตยกรรมแบบไทยเดิมแล้วนั้น ภายในพระอุโบสถเป็นแบบสไตล์โกธิค และที่บรรจุพระอัฐิในสุสานหลวงแบบโกธิคและเรเนซองอีกด้วย

จากสถานที่ทั้งหมดที่ฉันได้ไปมานั้นถือได้ว่าเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ยังมีสถานที่อีกมากมายหลายสถานที่ในกรุงเทพฯที่มีความสวยงามแฝงไว้ด้วยความเป็นยุโรป ในรูปแบบต่างๆตามความโดดเด่นของแต่ละชาติ หากสนใจที่จะเที่ยวชมมรดกทางวัฒนธรรมยุโรปตามแบบฉันแล้วนั้นสามารถเข้าไปดูรายละเอียดประวัติความเป็นมา และข้อมูลการเดินทาง ได้ที่ แอพพลิเคชั่น EUROPEAN HERITAGE MAP ดาวน์โหลดฟรีทั้งในระบบ IOS และ Android
 
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น