แม้จะได้ยินเรื่องราวและเหตุการณ์ร้ายๆ เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอยู่ตลอด แต่ความงดงามในความเชื่อและวิถีชีวิตของชุมชนก็ยังคงดำรงอยู่ ในเรื่องร้ายๆ ก็มักจะยังมีสิ่งดีๆ ที่ซ่อนอยู่ เหมือนใน จ.ปัตตานี ที่แม้จะผ่านเรื่องไม่ดีมามาก แต่ก็ยังมีของดีซ่อนอยู่มากมาย
การเดินทางลงมาที่ปัตตานี วิธีที่ง่ายที่สุดคือนั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบินหาดใหญ่ แล้วนั่งรถต่อมาที่ปัตตานี และก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองปัตตานีนั้น ก็ต้องแวะสักการะหลวงปู่ทวด ที่ “วัดช้างให้” หรือ “วัดราษฎร์บูรณะ” อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า 300 ปีแล้ว ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดขนาดเท่าองค์จริงประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าไปสักการะ ใกล้กับวิหารก็มีสถูป เจดีย์ มณฑป อุโบสถ และหอระฆัง
ใครที่รู้จักวัดช้างให้ ก็คงเคยได้ยินชื่อเสียงของหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด อันเป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาว่า เมื่อครั้งที่ท่านเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ลูกเรือรู้สึกกระหายน้ำมาก ท่านจึงได้แสดงเมตตาหย่อนเท้าลงไปในน้ำทะเล ปรากฏว่าน้ำทะเลบริเวณนั้นกลายเป็นน้ำจืดและสามารถดื่มกินได้ ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของท่านก็เป็นที่กล่าวถึงไปทั่ว
จาก อ.โคกโพธิ์ ตรงเข้ามาสู่เขตอำเภอเมืองปัตตานี เริ่มต้นกันที่ “ศาลหลักเมืองปัตตานี” ที่ตั้งอยู่บริเวณสนามศักดิ์เสนีย์ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เมื่อสักการะศาลหลักเมืองแล้ว ก็เดินชมบริเวณรอบๆ ซึ่งใกล้กันนั้นก็เป็นสะพานศักดิ์เสนีย์ ที่เชิงสะพานฝั่งหนึ่งมี “หอนาฬิกาสามวัฒนธรรม” ที่สร้างขึ้นด้วยการผสมผสานศิลปะไทย จีน และมุสลิมเข้าไว้ด้วยกัน
อีกฝั่งหนึ่งของสะพานก็มี “ปืนใหญ่พญาตานี (จำลอง)” ตั้งอยู่ ปืนใหญ่พญาตานีกระบอกนี้ จำลองขนาดครึ่งหนึ่งจากกระบอกจริง ส่วนกระบอกจริงนั้นปัจจุบันจัดแสดงอยู่ด้านหน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งจังหวัดปัตตานีก็ได้ใช้ปืนใหญ่พญาตานีมาเป็นตราประจำจังหวัดจนถึงทุกวันนี้
สะพานศักดิ์เสนีย์เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดปัตตานี ริมแม่น้ำปัตตานีใกล้กับสะพานศักดิ์เสนีย์นั้นเป็นท่าเทียบเรือประมง เราจะได้เห็นเรือประมงของชาวบ้านจอดเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
และเมื่อเข้ามาถึงเมืองปัตตานีแล้ว ก็อย่าลืมแวะมาที่ “มัสยิดกลางปัตตานี” ซึ่งเป็นศาสนสถานและศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่ง
มัสยิดกลางปัตตานีสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 โดยมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล มียอดโดมสีเขียวขนาดใหญ่กลางอาคาร และโดมขนาดเล็กลงไปล้อมรอบ 4 ด้าน ด้านข้างมีหออะซาน และมีสระน้ำเบื้องหน้าส่องสะท้อนแสงเงาของมัสยิดอย่างงดงาม
อีกหนึ่งจุดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในเมืองปัตตานีก็คือ “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” หรือ “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” ที่นี่เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานีมาแต่โบราณ ภายในประดิษฐานรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เจ้าแม่ทับทิม และองค์พระอื่นๆ ในทุกๆ วันก็จะมีประชาชนเข้ามาสักการะขอพรองค์เจ้าแม่และองค์พระต่างๆ กันอยู่ไม่ขาดสาย
ตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่เล่าขานต่อกันมานั้นมีหลากหลาย แต่ที่คุ้นเคยกันที่สุดก็คือเรื่องที่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อครั้งยังอยู่ที่เมืองจีน ได้ออกมาตามหาพี่ชายที่หลบหนีการถูกใส่ร้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่ปัตตานี ด้วยความกตัญญู เจ้าแม่จึงออกติดตามหาพี่ชายเพื่อให้เดินทางกลับไปเยี่ยมมารดาที่ล้มป่วย และได้ลั่นวาจาไว้ว่า หากพี่ชายไม่ยอมกลับมาหามารดา ตนก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
ทางด้านของพี่ชายนั้น เมื่อเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปัตตานี ก็ได้รับมอบหมายให้ก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ จึงไม่สามารถกลับไปเมืองจีนเพื่อเยี่ยมเยียนมารดาได้ ทำให้ลิ้มกอเหนี่ยวเกิดความโกรธและน้อยใจในตัวพี่ชาย พยายามอ้อนวอนพี่ชายให้เห็นแก่มารดาก็ไม่สำเร็จ จึงได้สาบแช่งไว้ว่า “แม้พี่ชายจะมีความสามารถในการก่อสร้างเพียงใดก็ตาม แต่ขอให้สร้างมัสยิดนี้ไม่สำเร็จ” และแอบไปผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ด้านข้างมัสยิดที่กำลังก่อสร้าง
ภายหลังจากเสียชีวิต จึงได้มีการจัดการศพตามประเพณี พร้อมกับสร้างฮวงซุ้ยขึ้นที่หมู่บ้านกรือเซะ เล่ากันว่า ลิ้มกอเหนี่ยว ได้สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและผู้สัญจรไปมาในแถบนั้นเสมอ จนเป็นที่เลืองลือไปทั่ว เป็นเหตุให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาได้นำกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางใช้ผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาไว้สักการะและสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานรูปบูชา พร้อมกับขนานนามว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”
ปรากฏว่าเมื่อตั้งศาลแล้ว ก็มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วย บ้างก็กราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญ แล้วก็บังเกิดผลตามความปรารถนาแทบทุกคน ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลื่องลือไปยังเมืองต่างๆ
ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย ต้นสกุล “คณานุรักษ์”) เห็นว่าศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ไม่สะดวกในการประกอบพิธี จึงทำการบูรณะศาลเจ้าซูก๋ง บนถนนอาเนาะรู ในตัวเมืองปัตตานี และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวมาประดิษฐาน ภายหลังมีชื่อว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” มากระทั่งทุกวันนี้
ในทุกๆ ปี จะมีการจัดงานสมโภชฉลองเจ้าแม่ขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนด้าย ตามปฏิทินจันทรคติจีน (หลังวันตรุษจีน 15 วัน) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ โดยอัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว องค์ประธานพระหมอ และองค์พระต่างๆ ที่ประดิษฐานในศาลแห่ไปตามถนนในเมือง มาจนถึงสะพานเดชานุชิต ริมแม่น้ำปัตตานี จากนั้นก็นำเจ้าแม่และองค์พระต่างๆ ลุยข้ามแม่น้ำมาอีกฝั่ง เพื่อระลึกถึงเมื่อครั้งที่เจ้าแม่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาตามหาพี่ชาย จากนั้นในช่วงบ่ายก็มีพิธีลุยไฟที่ลานกว้างด้านหน้าศาลเจ้า
ตามตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มีสถานที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยอีกสองแห่งคือ มัสยิดกรือเซะ และ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สำหรับที่ “มัสยิดกรือเซะ” ตามตำนานนั้นเชื่อว่าสร้างไม่สำเร็จเสียทีก็เพราะคำสาบแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยตัวมัสยิดที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการก่อสร้างแบบเสากลมก่ออิฐถือปูน ศิลปะทางตะวันออกกลาง สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22 และที่ติดกันกับมัสยิดก็เป็น “สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ซึ่งเชื่อกันว่าพี่ชายได้นำร่างของเจ้าม่มาฝังไว้ในบริเวณนี้นั่นเอง
ด้วยความที่ปัตตานีเป็นเมืองเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ก็มักจะมีอาคารหรือสถาปัตยกรรมสวยๆ หลงเหลือให้ได้ชมกันอยู่ อย่างเช่นที่ “วังยะหริ่ง” ซึ่งเป็นวังเก่าของเมืองยะหริ่งในอดีต
วังแห่งนี้สร้างโดยพระยาพิพิธเสนามาตฯ เจ้าเมืองยะหริ่ง เมื่อปี พ.ศ.2438 โดยวังแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างไทย มุสลิม จีน และยุโรป ตัวอาคารมีสองชั้น มีการทำช่องรับแสงประดับด้วยกระจกสีสด ช่องระบายอากาศหน้าจั่วทำด้วยไม้ฉลุลวดลายงดงาม ด้านหน้าเป็นบันไดโค้งแบบยุโรป ปัจจุบันนี้วังยะหริ่งยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของทายาท หากสนใจเข้าชมจะต้องติดต่อขออนุญาตล่วงหน้า
ถึงจะได้ไปสำรวจที่เที่ยวในเมืองปัตตานีเพียงไม่กี่แห่ง แต่ก็เห็นได้ถึงความถ้อยทีถ้อยอาศัยกันของคนปัตตานี บ้างก็ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา หรือมาจากที่ต่างๆ กัน แต่ทุกคนก็ยังมีรอยยิ้มให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเรา ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งดีๆ ที่ซ่อนอยู่ในเมืองปัตตานีแห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส (ดูแลพื้นที่นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) โทร. 0-7352-2411, 0-7354-2345 Facebook : TAT Narathiwat ททท.สำนักงานนราธิวาส
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com