xs
xsm
sm
md
lg

มนต์เสน่ห์เมืองเก่า “ตะกั่วป่า” เมืองเล็กแต่น่ารัก น่าพักใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สะพานเหล็กโคกขนุน
“ตะโกลา” เมืองเก่าที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นที่รู้จักของคนหลายเชื้อชาติ ทั้งจีน อินเดีย อาหรับ เนื่องจากเป็นเมืองท่าจอดเรือ เป็นศูนย์กลางการค้าขาย และเป็นเส้นทางลัดขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทรมลายูจากฝั่งทะเลอันดามันไปยังอ่าวไทย

เมืองตะโกลา ที่ในปัจจุบันนี้รู้จักกันในชื่อ “ตะกั่วป่า” จ.พังงา แม้จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางในการค้าขายหรือขนส่งสินค้าอีกแล้ว แต่ความมีเสน่ห์ของเมืองนี้ก็ยังคงอยู่ เมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบแห่งนี้ ยังมีวิถีชีวิตเรียบง่าย และมีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ในสไตล์ชิโนโปรตุกีส
ชาวบาบ๋าแห่งเมืองตะกั่วป่า
เมืองเล็กแห่งนี้มีความน่าสนใจตั้งแต่ถนนที่มุ่งเข้าสู่ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า ที่ริมถนน ณ จุดหนึ่ง จะมองเห็น “สะพานเหล็กโคกขนุน” ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟูในตะกั่วป่า สะพานแห่งนี้สร้างโดยตระกูลบุญสูง ผู้กว้างขวางในเมืองตะกั่วป่า และเป็นเจ้าของโรงขุดแร่ บริษัท เรือขุดแร่บุญสูง จำกัด

สะพานเหล็กโคกขนุนนั้นสร้างขึ้นจากเหล็กของเรือขุดแร่ที่ใช้การไม่ได้แล้ว เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรให้แก่ชาวบ้านและคนงานที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นให้มีการเดินทางได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องขับรถอ้อมไปไกลกว่าจะได้เข้าเมืองตะกั่วป่า สะพานแห่งนี้มีความยาวราวๆ 200 เมตร ข้ามผ่านแม่น้ำตะกั่วป่า จากถนนเส้นหลักเข้าไปยังโรงขุดแร่ ซึ่งหากว่าลองเดินข้ามไป ก็ยังสามารถเห็นโรงขุดแร่เก่าที่ยังคงสภาพเดิมไว้อยู่แม้จะไม่ได้ใช้งานแล้ว
รถโพถ้อง หน้าโรงเรียนเต้าหมิง
เมืองตะกั่วป่าในยุคสมัยที่การทำเหมืองแร่ยังรุ่งเรืองอยู่นั้น ถือว่าเป็นเมืองใหญ่ที่คึกคักเป็นอย่างมาก มีความเจริญเข้ามาถึงจากการที่ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย ซึ่งในยุคก่อหน้านั้นก็เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายในบริเวณนี้นานแล้ว โดยเฉพาะชาวจีนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพื่อแสวงหาช่องทางการทำมาหากิน

ชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามานั้นมาจากมณฑลฮกเกี้ยนและกวางตุ้ง อาชีพหลักๆ ก็คือการรับจ้างทำงานในเหมืองแร่ ความขยันและการเก็บหอมรอมริบ ทำให้ชาวจีนที่อพยพเจ้ามาอยู่ที่นี่มั่งคั่งร่ำรวยขึ้น บางคนก็แต่งงานอยู่กินกับสตรีพื้นถิ่นของที่นี่ ลูกหลานที่เกิดมาสืบแซ่สกุล หากเป็นลูกชายจะเรียกว่า “บาบ๋า” หากเป็นลูกสาวจะเรียกว่า “ยอนย่า” ความหมายก็คือลูกที่เกิดบนแผ่นดินแม่ แต่ต่อมาจะเรียกรวมๆ กันว่า “บาบ๋า”

บาบ๋าแห่งเมืองตะกั่วป่า มีการผสมผสานวัฒนธรรมจีนและพื้นถิ่นเข้าด้วยกันจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศาลเจ้า การเล่าเรียนภาษาจีน มีประเพณี พิธีกรรม การแต่งกาย และอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
พระอุโบสถ วัดเสนานุชรังสรรค์
ร่องรอยของชาวจีนที่ทิ้งไว้ ทำให้เมืองตะกั่วป่ากลายเป็นเมืองที่มีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัว หากใครสนใจอยากจะไปเยี่ยมชม ที่นี่ก็มีหลายจุดที่น่าสนใจ ที่สามารถซึมซับกับความงดงามของเมืองนี้ได้ จะเลือกการปั่นจักรยานเพื่อชมบรรยากาศรอบๆ หรือเลือกใช้บริการรถโพถ้อง รถสองแถวท้องถิ่นที่ในสมัยก่อนนั้นใช้รับส่งคนเข้าออกเมืองตะกั่วป่า ซึ่งปัจจุบันนั้นถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองนี้ด้วย

เริ่มจากจุดแรก “โรงเรียนเต้าหมิง” โรงเรียนแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นจากการเรี่ยไรเงินทุนจากเศรษฐีเหมืองแร่และพ่อค้าชาวจีน เพื่อให้บุตรหลานชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองตะกั่วป่าได้เล่าเรียนภาษาจีน โรงเรียนแห่งนี้เป็นอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีส ปัจจุบันเป็นพื้นที่สำหรับการเข้าค่าย หรือทำกิจกรรมของเยาวชน
พระประธานในพระอุโบสถ
ในบริเวณเมืองเก่าตะกั่วป่า มีวัดสำคัญแห่งหนึ่งคือ “วัดเสนานุชรังสรรค์” เดิมนั้นชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่กำแพง” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดเสนานุชรังสรรค์ ตัวพระอุโบสถนั้นสร้างขึ้นตามแบบของพระอุโบสถที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ ภายในมีพระประธานศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาวศิลปะพม่า และยังมีธรรมาสน์ สมัยรัชกาลที่ 5 ตู้พระธรรมปิฎก ขันราหู ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.2539
กำแพงค่าย
ไม่ไกลจากวัดมากนัก จะพบว่ามีกำแพงเก่าๆ อยู่ในพื้นที่กว้าง กำแพงนี้คือ “กำแพงค่าย” ที่พระยาเสนานุชิต (นุช) ผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่า เป็นผู้สร้างขึ้นล้อมรอบจวนที่พัก เป็นตัวอย่างในการสร้างกำแพงค่ายป้องกันศัตรู กำแพงนี้สร้างด้วยกรวดทรายผสมปูน ไม่ได้ก่ออิฐถือปูนอย่างกำแพงทั่วไป ว่ากันว่า กำแพงนี้ได้ใช้ประโยชน์เมื่อคราวที่มีการรบกันของพวกอั้งยี่ในเมืองตะกั่วป่า เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้ามาหลบภัยอยู่ด้านหลังกำแพง
ร้านเก่าแก่ยังเปิดอยู่บนถนนศรีตะกั่วป่า
ในตัวเมืองเก่าตะกั่วป่า ถนนเส้นหลักเส้นหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นถนนสายสำคัญตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน “ถนนศรีตะกั่วป่า” ที่ตั้งแต่สมัยก่อนก็เป็นร้านรวงต่างๆ มีที่อยู่อาศัย ร้านอาหาร และเป็นเส้นทางสัญจรทางบกที่สำคัญ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงความสำคัญอยู่เช่นกัน ร้านรวงเก่าๆ ก็ยังมีเปิดให้บริการอยู่บ้าง อาทิ ร้านซ่อมนาฬิกา ร้านตัดผม คนเก่าคนแก่ที่อยู่ในร้านก็ยังบอกเล่าเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองในยุคเก่าให้เราได้ฟัง
ถ่ายรูปชิลล์ๆ กับสตรีทอาร์ตเมืองตะกั่วป่า
และนอกจากสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสที่มีให้เห็นตลอดแนวถนนศรีตะกั่วป่าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ตอนนี้มีการวาดภาพสวยๆ ลงบนกำแพงบ้าน ทำให้ถนนศรีตะกั่วป่ากลายเป็น “สตรีทอาร์ตเมืองตะกั่วป่า” ที่หลายคนแวะเวียนไปแอคชั่นถ่ายรูปกับภาพสวยๆ มีทั้งภาพช่างตัดผม รถสองแถวโพถ้อง รูปเด็กๆ

สตรีทอาร์ตตะกั่วป่านั้นเริ่มจากการไปดูงานที่เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องสตรีทอาร์ตอยู่แล้ว พอมาที่ตะกั่วป่า ก็เริ่มต้นจากการวาดภาพช่างตัดผมเป็นภาพแรก ต่อมาก็ทยอยวาดภาพอื่นๆ มาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 13 ภาพ และจะวาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม ส่วนภาพที่จะวาดบนถนนศรีตะกั่วป่านี้ เป็นภาพที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และเอกลักษณ์ของเมืองตะกั่วป่า
มุมน่ารักบนถนนศรีตะกั่วป่า
เดินเล่นบนถนนศรีตะกั่วป่า หากเดินไปจนถึงหัวมุมถนน ก็จะเห็น “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” ศาลแห่งนี้เป็นที่เคารพของชาวตะกั่วป่าเป็นอย่างมาก ในสมัยก่อนนั้นไม่ว่าใครจะออกไปทำมาหากินในพื้นที่ไหน พอถึงช่วงเทศกาลกินเจ ชาวตะกั่วป่าก็จะกลับมารวมตัวกันเพื่อถือศีลกินผัก และขอพรองค์เจ้าพ่อกวนอู

นอกจากจะเป็นถนนสวยๆ ที่น่าเดินชมแล้ว ถนนศรีตะกั่วป่าก็ยังเป็นสถานที่จัด “ถนนสายวัฒนธรรม” ที่จะเปิดในเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปี ในทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป สีสันของถนนสายวัฒนธรรม อยู่ที่ร้านค้าต่างๆ ที่จะมาขายอาหารและขนมท้องถิ่นของชาวตะกั่วป่าให้ได้ลองชิม แล้วก็ยังมีผลิตภัณฑ์และของฝากให้เลือกซื้อเลือกหากันอย่างจุใจ ส่วนบนเวทีก็มีการแสดงให้ได้ชมกันเพลินๆ
ศาลเจ้าพ่อกวนอู
แม้ว่าเมืองตะโกลา หรือตะกั่วป่าในปัจจุบันนี้จะถูกลดความสำคัญลงจากเมื่อสมัยก่อน แต่เสน่ห์และความน่าสนใจของเมืองเล็กๆ เมืองนี้ก็ยังไม่หมดไป วิถีชีวิตเรียบง่าย ถูกถ่ายทอดให้เห็นผ่านสายตาของคนที่เข้าไปเยี่ยมเยือน คนตะกั่วป่าต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความอบอุ่น ทำให้ให้เมืองนี้เป็นเมืองน่ารักที่อยู่ในใจของใครหลายคน
ถนนสายวัฒนธรรมเมืองตะกั่วป่า
* * * * * * * * * * * * * * * * *

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา โทร. 0-7648-1900-2 Facebook : Wonderful Phang-nga : เมืองสวยในหุบเขา
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น