ไม่กี่วันมานี้ เว็บไซต์ของสำนักข่าวแห่งหนึ่งเพิ่งเสนอข่าวการเกิดเหตุหินหน้าผาถล่มที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จนทำให้เกิดความเสียหายกับภาพเขียนสีโบราณอายุกว่า 4,000 ปี จนทำให้หลายๆ คนเป็นห่วงกลัวว่าแหล่งอารยธรรมสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานีจะต้องสูญหายพังทลายไปโดยไม่ได้รับการปกป้อง
แต่แท้จริงแล้ว จากการตรวจสอบพบว่า ภาพเขียนสีโบราณเหล่านั้นไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะจุดที่มีการถล่มนั้นอยู่ห่างออกไปประมาณ 6 กิโลเมตร และทางอุทยานแห่งชาติผาแต้มก็ยังเปิดจุดชมภาพสีเขียนโบราณให้นักท่องเที่ยวได้ยลกันเหมือนเดิม โดยเราได้ไปเยี่ยมเยือนและเก็บภาพของภาพเขียนสีและบรรยากาศในอุทยานแห่งชาติผาแต้มมาเมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมาฝากกัน
"อุทยานแห่งชาติผาแต้ม" นั้นเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศไทย โดยครอบคลุมพื้นที่บางส่วน 3 อำเภอด้วยกันในจังหวัดอุบลราชธานี นั่นคือ อ.โขงเจียม อ.ศรีเมืองใหม่ อ.โพธิ์ไทร และมีพื้นที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน โดยลักษณะของอุทยานฯ จะเป็นที่ราบสูงและมีเนินเขาสูงต่ำสลับกัน สันนิษฐานว่าเกิดจากการยุบตัว แยกตัวของผิวและหน้าผาสูงชัน ที่ซึ่งเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีหินทรายลักษณะแปลกตากระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามลานหิน ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามแปลกต่างมากมาย นอกจากนี้ผาแต้มที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นแรกสุดของเมืองไทยอีกด้วย
ผาแต้ม ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการมีร่องรอยภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีเรื่องราวเล่าไว้ว่า ผาแต้มนั้นเคยเป็นที่ถิ่นอาศัยเก่าแก่ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เพราะใต้เพิงผาแห่งนี้ มีภาพเขียนบนผนังหินครั้งโบราณที่ยาวที่สุดในประเทศไทยเท่าที่มีการค้นพบ มีร่องรอยของภาพเขียนสีของมนุษย์โบราณตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ราว 3,000-4,000 ปี ปรากฏบนหน้าผาสูงชัน ถูกค้นพบและทำให้ “ผาแต้ม” กลายเป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ครอบคลุมพื้นที่ 340 ตารางกิโลเมตร
ภาพเขียนส่วนใหญ่ในผาแต้ม จะมีลักษณะเป็นภาพสีแดงพบกระจัดกระจายเรียงรายอยู่ตามแนวหน้าผาริมโขง อาทิ ผาเจ๊ก โหง่นแต้ม ผาเมย ผาขาม โดยเฉพาะที่ผาแต้มนี่มีความโดดเด่นที่สุด เพราะเป็นภาพเขียนสีที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ ภาพมือคนและคน (ผู้ชาย ผู้หญิง) ภาพสัตว์ (เช่น ช้าง หมา ปลาบึก สัตว์ปีก) ภาพวัตถุ(ก้างปลา, เครื่องมือจับปลาของอีสาน) และภาพลวดลายเรขาคณิต (ลวดลายยึกยือ, รูปทรงเส้นสาย 3 เหลี่ยม 4 เหลี่ยม) นับเป็นภาพเขียนสีโบราณกลุ่มที่มีมากที่สุดในเมืองไทย อีกทั้งยังมีความยาวต่อเนื่องกันประมาณ 180 เมตร นับว่ายาวที่สุดในเมืองไทยเลยทีเดียว โดยจุดที่เกิดหินถล่มอยู่บริเวณผากระทัง ตั้งอยู่บริเวณบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม ซึ่งอยู่ห่างจากกลุ่มภาพเขียนสีโบราณอายุราว 3,000-4,000 ปี ของผาแต้ม ประมาณ 6 กิโลเมตร เพราะฉะนั้นจุดภาพเขียนประวัติศาสตร์ไม่ได้รับผลกระทบและยังมีความสวยงามของภาพวาดเปิดให้เยี่ยมชมได้ตามปกติ
นอกจากมาชมภาพเขียนผาแต้มแล้ว ที่นี่ยังพบกับป้ายหินจารึกพระนาม “สิรินธร” ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ฝังไว้บนหน้าผาเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์บนผาแต้มเมื่อปี พ.ศ. 2537 อีกด้วย
ภายในอุทยานยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย ถ้ามาในช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่เดินทางสะดวกสบาย เหมาะที่จะมาชม ศึกษาภาพเขียนสีที่ผาแต้ม แต่ถ้าหน้าฝนเหมาะที่จะไปเที่ยวน้ำตก พร้อมทั้งชมดอกไม้หน้าฝนที่เบ่งบานที่มีให้เห็นเพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น โดยน้ำตกที่ขึ้นชื่อภายในอุทยานนั้น เช่น “น้ำตกลงรูหรือน้ำตกแสงจันทร์” ที่นี่จะสวยงามยามหน้าฝนเพราะมีน้ำมาก ไหลบ่าลงมาจากรู ดูคล้ายฝักบัวขนาดยักษ์ปล่อยสายน้ำลงมา นับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์ของผาแต้ม
และยังมี “น้ำตกทุ่งนาเมือง” เป็นน้ำตกขนาดกลางมีสายน้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาสูงกว่า 20 เมตร ในช่วงหน้าฝนสายน้ำจะแผ่สยายกว้างดูสวยงามมาก แต่ในช่วงต้นหนาวเช่นน้ำสายน้ำก็มีปริมาณลดน้อยลงตามธรรมชาติ
ส่วน “เถาวัลย์ยักษ์” ที่อยู่ห่างจากน้ำตกทุ่งนาเมืองไปราวๆ 50 เมตร เป็นสถานที่ท่องที่น่าสนใจเหมือนกัน ซึ่งเถาวัลย์ยักษ์เส้นนี้ จะมีลักษณะคล้ายท่อนไม้ หรือ ต้นไม้ มากกว่าเพราะมันมีขนาดใหญ่ อายุราวๆ ประมาณ 400 ปี โดยชาวบ้านแถวนั้นเชื่อว่าเป็นเครือไม้ต้องห้าม ปัจจุบันเถาวัลย์ยักษ์เส้นนี้ถือเป็นหนึ่งในอันซีนผาแต้มที่คนนิยมปีนขึ้นไปบนเถาวัลย์ เพื่อถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก เป็นจุดหนึ่งที่ยอดฮิตไม่แพ้กัน
และไฮไลท์อีกอย่างที่ไม่ควรพลาด นั่นคือ “เสาเฉลียง” โดยเสาหินเหล่านี้คนท้องถิ่นเรียกว่า “เสาเฉลียง” (เพี้ยนมาจากคำว่า“สะเลียง”ในภาษาส่วยที่หมายถึงเสาหิน) ผาแต้มถือว่าเป็นอุทยานที่มีเสาเฉลียงหรือเสาหินเยอะที่สุด มีเสาเฉลียงเล็ก (อยู่ทางเข้าผาแต้มห่างที่ทำการฯราว 1 กม.) เสาเฉลียงใหญ่ (บ้านผาอัญชัน) เสาเฉลียงภูอ้อมก้อม เสาเฉลียงคู่ (ป่าดงนาทาม เป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่สวยมากในอุทยานฯผาแต้ม) เสาเฉลียงภูกระบอ และเสาเฉลียงภูสะมุย
นับว่า อช.ผาแต้มนั้นเป็นหนึ่งในงานสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่น่าทึ่งและมีความน่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ที่รอให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม โทร.0-4525-2581
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com