xs
xsm
sm
md
lg

“ประเพณีกำฟ้า” ชวนสัมผัสเอกลักษณ์ชาวไทยพวน ที่ จ.แพร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ททท. สำนักงานแพร่ ชวนนักท่องเที่ยว และผู้สนใจเที่ยวงาน “ประเพณีกำฟ้า ประจำปี 2559” ในระหว่างวันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ชวนนักท่องเที่ยว และผู้สนใจเที่ยวงาน “ประเพณีกำฟ้า ประจำปี 2559” ในระหว่างวันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง ได้กำหนดจัดงานประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวนตำบลทุ่งโฮ้ง ประจำปี 2559 ในระหว่างวันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์สืบสานและเผยแพร่ขนบประเพณี วัฒนธรรมวิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทยพวนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนเพื่อเป็นการสักการะบูชา และรำลึกถึงบรรพบุรุษของชาวไทยพวน

ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อประมาณ พ.ศ. 2360 - 2380 ชื่อเดิมเรียกว่า บ้านทั่งโห้ง “คำว่าทั่ง” หมายถึง ที่รองรับการตีเหล็ก คำว่า “โห้ง” เป็นภาษาไทยพวน หมายถึง สถานที่เป็นแอ่งลึกลงไป คนพวนกล่าวว่า สมัยก่อนนั้นคนพวนบ้านทุ่งโฮ้งจะมีเตาตีเหล็กกันแทบทุกหลังคาเรือน จึงเรียกว่า “บ้านทั่งโห้ง” ส่วนคำว่า “ทุ่งโฮ้ง” คงจะเป็นคำเพี้ยนมาจากคำว่า “ทั่งโห้ง” ปัจจุบันอาชีพหลักของชาวบ้านทุ่งโฮ้ง คือ การทำผ้าหม้อห้อมแท้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ จนได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงหัตถกรรม (OTOP Village Champion Handicrafts Tourism)

ประวัติประเพณีกำฟ้า ตามประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยาม มีโอกาสให้เจ้าชมพูแห่งเมืองพวนยกทัพไปตีร่วมกับเจ้าเวียงจันทน์ ตีได้สำเร็จ ต่อมาเจ้าชมพูแข็งเมือง ไม่ยอมส่งส่วยให้เวียงจันทน์ และหลวงพระบางเหมือนเช่นเคย เจ้านนท์แห่งเวียงจันทน์โกรธมาก จึงส่งให้แม่ทัพชื่อเขียวไปปราบเมืองพวน เจ้าชมพูแพ้ถูกจับได้ และถูกสั่งประหารชีวิตด้วยหอก ขณะที่ทำการประหารนั้น เกิดเหตุอัศจรรย์ ฟ้าได้ผ่าลงมาถูกหอกหักสะบั้น เจ้านนท์เห็นว่าเจ้าชมพูเป็นผู้ที่มีบุญญาบารมี จึงสั่งให้ปล่อยกลับไปครองเมืองพวนดังเดิม ด้วยเหตุนี้ชาวไทยพวนจึงเห็นความสำคัญของฟ้า จึงเกิดประเพณี “กำฟ้า” ขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
กำฟ้า หมายถึง การนับถือสักการะบูชาฟ้า การแสดงกตเวทิตาต่อฟ้าที่ท่านได้คุ้มครองให้มีอายุยืนยาว ให้อยู่ดีกินดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาล มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ โดยชาวไทยพวนทุกคนจะหยุดทำงานทุกชนิด คือ หยุดทำไร่ ทำนา ทอหูก ปั่นฝ้าย ตีเหล็ก เป็นต้น แม้แต่อุปกรณ์เครื่องมือทำมาหากินก็ต้องเก็บเข้าที่ให้หมด คงเหลือแต่อุปกรณ์ในการหุงหาอาหารในแต่ละมื้อเท่านั้น ในวันกำฟ้า ชาวไทยพวนจะมีกิจกรรมร่วมกัน คือ การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า การละเล่นในตอนกลางคืน และการพบปะสังสรรค์ระหว่างเครือญาติด้วยกัน ในวันกำฟ้าจะเริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าไปถึงค่ำ

กิจกรรมในงาน “ประเพณีกำฟ้า ประจำปี 2559” ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงบรรพบุรุษไทยพวน พิธีทำบุญตักบาตร การแสดงนิทรรศการชาวไทยพวน ตลาดไทยพวน การประกวดตัดเย็บ การประกวดฟ้อนแอ่น การประกวดการทำอาหารพื้นเมือง การประกวดเทพีกำฟ้า ประจำปี 2559 การแข่งขันฟุตซอล การแข่งขันชกมวยไทย การแสดงดนตรี การแสดงของโรงเรียนต่างๆ การเดินแฟชั่นโชว์ผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ขบวนแห่งานประเพณีกำฟ้า

นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง โทรศัพท์ 0 5452 2458 ต่อ 23 หรือสอบถามข้อมูลการเดินทาง และการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ 0 5452 1127
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น