สองสามปีที่ผ่านมานี้ กระแสการปั่นจักรยานกำลังมาแรงในบ้านเรา แต่ละคนก็มีจุดมุ่งหมายในการปั่นจักรยานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ ปั่นจักรยานเพื่อพบปะสังสรรค์กัน หรือแม้แต่ปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ก็เป็นอีกกิจกรรมที่หลายๆ คนสนใจเสาะหาเส้นทางที่จะปั่นสองล้อเลาะเลี้ยวไปชม
อีกหนึ่งเส้นทางปั่นจักรยานท่องเที่ยวแบบสบายๆ อยู่ที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นการปั่นบนทางเรียบ ได้แวะชมวัดวาอาราม และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองราชบุรี แถมยังได้สัมผัสกับท้องทุ่งธรรมชาติระหว่างทางอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของเส้นทางนี้มาเริ่มต้นกันที่ “ศาลหลักเมืองราชบุรี” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเก่า ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของกรมการทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี โดยหลังจากสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว ก็เริ่มออกแรงปั่นจักรยานสองล้อออกสู่ถนนใหญ่ ขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง แล้วปั่นลัดเลาะไปตามถนนเล็กๆ ระหว่างหมู่บ้าน
ระหว่างทางมีทั้งบ้านเรือนของชาวบ้าน ร้านค้า โรงงาน โรงเรียน วัด รวมถึงทุ่งนา สวนผัก และบรรยากาศความเป็นธรรมชาติที่สามารถสูดอากาศเข้าปอดได้อย่างสดชื่น ขี่จักรยานลัดเลาะมาเรื่อยๆ ขึ้นมาที่เขาวังสะดึง เพื่อมาชม “พระปรมาภิไธย จปร.118” ในจุดนี้หากใครปั่นขึ้นไม่ไหว แนะนำให้จอดจักรยานไว้ด้านล่างแล้วขับรถขึ้นมาจะดีกว่า
“พระปรมาภิไธย จปร.118” อยู่บนเขาวังสะดึง เป็นหนึ่งในห้าสถานที่ในจังหวัดราชบุรีที่มีการค้นพบตัวอักษรพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งที่นี่เป็นพระปรมาภิไธยลำดับที่ 34 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และหากใครขึ้นมาบนนี้แล้วก็ยังสามารถมานั่งชมวิวเมืองราชบุรีในมุมสูงได้อีกด้วย
ลงจากเขาวังสะดึงก็มาขึ้นเขาพระใหญ่ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเขาวัดหนองหอย ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ นามว่า “พระพุทธรัตนโกสินทร์มหามุนี” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อใหญ่” โดยบริเวณฐานขององค์หลวงพ่อใหญ่ทำเป็นวิหาร เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ ตามความเชื่อของชาวพุทธนิกายมหายาน และยังประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้าอีกหลายองค์ นอกจากนี้ ด้านบนที่ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ ยังทำเป็นระเบียงที่สามารถเดินได้รอบๆ ให้ได้ชมทิวทัศน์เบื้องล่างของเมืองราชบุรี
แวะพักไหว้พระกันแล้ว ก็ออกแรงปั่นกันไปต่อจนถึง “วัดอรัญญิกาวาส” ที่นี่เป็นวัดเก่าแก่ โดยด้านในมีพระปรางค์เป็นเจดีย์ 5 องค์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตรงกลางเป็นพระปรางค์ประธาน และมีปรางค์บริวารสร้างล้อมไว้ 4 มุม ปัจจุบันเหลือเพียงพระปรางค์ด้านทิศใต้เท่านั้นที่ยังดูสมบูรณ์อยู่ และรอบๆ พระปรางค์สร้างเป็นระเบียงคดล้อมรอบ ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย
ด้านหลังพระปรางค์มีพระนอนองค์ใหญ่ ซึ่งพระองค์เดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน แต่มีการบูรณะและสร้างองค์พระใหม่ครอบองค์เดิมไว้ พระอุโบสถที่อยู่ด้านหน้าวัดก็ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว สามารถเข้าไปสักการะพระประธานที่อยู่ด้านในได้
จากวัดอรัญญิกาวาส ขี่จักรยานกลับเข้ามาในตัวเมืองราชบุรี มาที่ “วัดมหาธาตุวรวิหาร” วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อได้รับวัฒนธรรมเขมรเข้ามา จึงได้มีการก่อสร้างพระปรางค์ประธานขึ้น และสร้างกำแพงศิลาล้อมรอบตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลของเขมร ต่อมาในสมัยอยุธยาก็มีการก่อสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาขึ้นซ้อนทับ และสร้างพระปรางค์บริเวณขึ้นอีก 3 องค์บนฐานเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันจะมองเห็นเป็นพระปรางค์ทั้งหมด 4 องค์ที่อยู่บนฐานเดียวกัน
ด้านหน้าพระปรางค์มีพระวิหารหลวง ปัจจุบันเหลืองเพียงซากอาคารในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า บนฐานวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนหินทรายปางมารวิชัย 2 องค์ ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังมีพระมณฑป พระเจดีย์ และพระอุโบสถ สามารถเข้าไปสักการะพระประธานด้านในได้
อีกวัดที่อยู่ไม่ไกลกันนัก คือ “วัดศรีสุริยวงศาราม” สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดประจำตระกูลบุนนาค โดยรัชกาลที่ 5 พระราชทานนามวัดให้ ภายในวัดมีพระอุโบสถสวยงาม สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ศิลปะตะวันตก ผนังก่ออิฐฉาบปูนเขียนลายแบบหินอ่อน มีเสาพาไลแบบเสาโรมัน ปลายเสาทำเป็นผนังโค้งติดกัน ด้านหลังพระอุโบสถมีพระเจดีย์ทรงกลมระฆังคว่ำ เชื่อกันว่าสร้างไว้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
เข้ามาในเมืองราชบุรีแล้ว ก็ต้องแวะไปชมเรื่องราวความเป็นมาของเมืองราชบุรีกันบ้าง ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี” ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวของเมืองราชบุรีตั้งแต่ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์ ศิลปะพื้นบ้าน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในราชบุรี ซึ่งอาคารพิพิธภัณฑ์นี้ เดิมเคยใช้เป็นศาลากลางจังหวัดมาก่อน และได้ถูกบูรณะจนสวยงามจับตาอย่างทุกวันนี้
เส้นทางการปั่นจักรยานออกมานอกตัวเมืองอีกครั้ง ตรงมาที่เมืองโบราณบ้านคูบัว มาชม “โบราณสถานหมายเลข 18” ที่อยู่ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นฐานของวิหารที่ก่อด้านศิลาแลงฉาบปูน ในช่วงที่ทำการบูรณะนั้นสามารถขุดพบศิลปะวัตถุและโบราณวัตถุหลายชิ้น
ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี นอกจากจะมีโบราณสถานบ้านคูบัวแล้ว ก็ยังมีจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ซึ่งสร้างไว้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวไท-ยวนในพื้นที่ราชบุรี
จุดหมายสุดท้ายของการปั่นจักรยานทริปนี้ คือการไปชม “ผ้าซิ่นตีนจกไทยวน” ที่บ้านหัวนา ที่นี่ยังมีการสอนทอผ้าจกคูบัวให้กับคนรุ่นหลังอยู่ที่บ้านคุณยายทองอยู่ กำลังหาญ ที่ได้รับการสืบทอดวิธีการทอผ้าจากรุ่นมาสู่รุ่น กรรมวิธีการทำผ้าจกของคูบัวนั้นกว่าจะได้แต่ละผืนต้องใช้เวลาหลายเดือน จึงไม่น่าแปลกหากผ้าของที่นี่จะมีราคาสูงและกลายเป็นของฝากที่มีคุณค่า
ความสนุกของการปั่นจักรยานท่องเที่ยวแบบนี้ นอกจากจะได้ใช้กำลังขา ได้ทดสอบกำลังใจ ได้แวะชมที่เที่ยวหลากหลายแล้ว ระหว่างทางก็ยังมีความน่าประทับใจทั้งธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัว และน้ำใจของชาวบ้านที่อยู่ระหว่างทางอีกด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com