xs
xsm
sm
md
lg

“จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว” แหล่งรวมของดี สืบสานวัฒนธรรมไท-ยวนแห่งเมืองราชบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เริ่มต้นเรียนรู้วัฒนธรรมไท-ยวน
“ราชบุรี” แม้ว่าจะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก แต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวให้เลือกเที่ยวกันได้ตามความชอบอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติป่าเขา วัดวาอาราม หรือการท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งแต่ละแห่งก็ล้วนมีเสน่ห์ของตัวเอง

สำหรับที่ “จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว” ที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของวัดโขลงสุวรรณคีรี มูลนิธิพัฒนาประชากรตำบลคูบัว และศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกราชบุรี ชมรมชาวไท-ยวน ราชบุรี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะในแง่การสืบทอดวัฒนธรรมไท-ยวน
ต้นตะเคียนทองสองพี่น้อง
ที่นี่มีจุดเริ่มต้นมาจาก ดร.อุดม สมพร ผู้อำนวยการจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว และประธานสหกรณ์ไท-ยวนราชบุรี ซึ่งเป็นลูกหลานเลือดเนื้อเชื้อไขไท-ยวนคูบัว บ้านไร่ต้นมะม่วงมาแต่กำเนิด มีแนวคิดที่อยากจะสืบทอดวัฒนธรรมไทย-ยวน เพื่อให้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงได้รวบรวมสิ่งของ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

เดิมทีที่ตรงนี้เคยเป็นเมืองเก่าสมัยทวารวดี และเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไท-ยวน ที่อพยพมาจากเชียงแสนมาตั้งรกร้างอยู่ที่ราชบุรี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นที่เก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชาวไท-ยวนโบราณมาไว้ในที่เดียวกัน ให้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ และรำลึกถึงสมัยอดีตไปพร้อมๆ กัน
หุ่นขี้ผึ้งของ ดร.อุดม สมพร
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการแสดงออกเป็น 10 ส่วน โดยจัดแสดงอยู่ภายในอาคารสองชั้น เริ่มตั้งแต่ชั้นล่างที่เป็นกึ่งชั้นใต้ดิน ซึ่งเมื่อเดินลงบันไดมาก็จะพบกับการจัดแสดงในส่วนแรก “แสดงภูมิปัญญาสมัยทวารวดี” ที่จะมีวัตถุโบราณที่ชาวบ้านขุดพบในที่นาหรือละแวกบ้านของตัวเอง แล้วนำมาบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ ก็มีทั้งหม้อ ไห เครื่องปั้นดินเผาต่างๆ และยังมีต้นตะเคียนทองสองพี่น้อง มาจัดแสดงอยู่ตรงกลางห้องด้วย และที่ด้านในสุดของห้องจัดทำเป็นห้องทำงานของ ดร.อุดม สมพร พร้อมกับมีหุ่นขี้ผึ้งของอาจารย์นั่งทำงานอยู่ในนั้นด้วย

ส่วนที่สอง “แสดงเครื่องมือทำมาหากิน” ก็เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ชาวบ้านใช้อยู่ ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการไถนา เครื่องดักจับสัตว์ พาหนะต่างๆ ส่วนที่สาม “มุมหลับนอนสอนลูกหลาน” จัดแสดงโดยหุ่นขี้ผึ้งตามแบบฉบับวิถีชีวิตชาวไท-ยวน ที่พ่อแม่ลูกหลานจะนอนอยู่ภายในห้องเดียวกัน ซึ่งทำให้สามารถดูแลและอบรมสั่งสอนลูกหลานได้อย่างใกล้ชิด
พระสงฆ์ ผู้นำทางจิตวิญญาณ
ส่วนที่สี่ “แสดงการระดมความคิดของคนในชุมชน” ห้องนี้มีการจัดทำเป็นโต๊ะประชุมที่มีหุ่นขี้ผึ้งนั่งประชุมกันอยู่รอบโต๊ะ ส่วนด้านหลังก็มีหุ่นขี้ผึ้งของพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ส่วนที่ห้า “แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไท-ยวน” เริ่มตั้งแต่การเกิด ที่จะแสดงให้เห็นถึงการอยู่ไฟของผู้หญิงในสมัยโบราณ มีความเชื่อกันว่า หากคลอดลูกแล้วจะต้องอยู่ไฟให้ครบเดือน ไม่เช่นนั้นร่างกายก็จะอ่อนแอและเจ็บป่วยอยู่เสมอ
เรียนรู้การเกิดและการอยู่ไฟของผู้หญิงสมัยก่อน
ส่วนใกล้ๆ กันก็มีครัวของชาวไท-ยวน ที่เป็นครัวในสมัยก่อน มีทั้งก้อนเส้า เตาไฟ และเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมถึงมีพริกแห้ง หอม กระเทียม แขวนเอาไว้อย่างครบครัน ข้างๆ กันก็จัดแสดงเป็นครัวสมัยใหม่เพื่อเปรียบเทียบกัน ในครัวสมัยใหม่ก็จะมีทั้งตู้เย็นและส่วนทำครัวที่คุ้นเคยกันดี
ครัวไทยสมัยใหม่
ส่วนที่หก “แสดงเครื่องทำมาหากินของไท-ยวน” ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา เกี่ยวข้าว และวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน ที่เกี่ยวกับข้าว ไม่ว่าจะเป็นวัวเทียมเกวียนที่บรรทุกฟางมาเต็มเกวียน กระด้งที่ใช้ฝัดข้าว กระบุงหาบข้าว เป็นต้น
เรื่องราวเกี่ยวกับข้าวของชาวไท-ยวน
จากส่วนที่หกก็เดินขึ้นบันไดไปชมด้านบนกันต่อ โดยในส่วนที่เจ็ด “ห้องโถงสำหรับจัดนิทรรศการ” ที่เปิดให้แสดงนิทรรศการหมุนเวียนได้ โดยบริเวณนี้สามารถใช้จัดประชุมกลุ่มย่อยของชาวบ้าน หรือนักเรียน และหน่วยงานราชการ ซึ่งด้านข้างก็ประดิษฐานพระประธานศิลปะเชียงแสนไว้ด้วย
โถงจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนที่ชั้นบน
ส่วนที่แปด “ภูมิปัญญาทอผ้าจก” ส่วนนี้จะจัดแสดงภูมิปัญญาในการทอผ้าจกของชาวไท-ยวน ทั้งกี่ที่ใช้ ลวดลายผ้าจกที่เป็นเอกลักษณ์ และมีการแสดงหุ่นขี้ผึ้งในลักษณะที่กำลังทอผ้าจกอยู่ด้วย ส่วนที่เก้า “ห้องอนุรักษ์ผ้าโบราณ” ในห้องนี้มีการเก็บรวบรวมผ้าซิ่นตีนจกโบราณของชาวไท-ยวนไว้ให้ได้ชม บางผืนอายุกว่าร้อยปี นอกจากนี้ก็ยังมีผ้าซิ่นตีนจกที่ทอขึ้นใหม่แต่ใช้ลายโบราณ ก็มีเก็บไว้ให้ชม
แสดงการทอผ้าซิ่นตีนจก
ส่วนที่สิบ “ห้องแสดงชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี” เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดราชบุรีนั้นมีคนหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอยู่อาศัย ในห้องนี้จึงจัดแสดงทั้งเครื่องแต่งกาย ที่อยู่อาศัย และเรื่องราวของแต่ละชาติพันธุ์เพื่อให้เข้ามาเรียนรู้กัน อาทิ ชาวไท-ยวน ไทยทรงดำ ไทยมอญ กะเหรี่ยง ลาวเวียง ไทยพื้นถิ่น เป็นต้น

เดินชมจนรอบพิพิธภัณฑ์แล้วก็เก็บเกี่ยวความรู้และเรื่องราวของชาวไท-ยวนในราชบุรีไปได้ไม่น้อย ซึ่งที่นี่ไม่ได้เก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด เพราะต้องการทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อให้คนได้เข้ามาเรียนรู้และเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมของชาวไท-ยวน แต่หากว่าใครชื่นชอบในการจัดแสดงของที่นี่ ก็สามารถบริจาคเพื่อเป็นทุนในการสืบทอดพิพิธภัณฑ์ต่อไปให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาต่อไปได้
รวบรวมผ้าซิ่นตีนจกทั้งเก่าและใหม่ไว้ให้ชม
* * * * * * * * * * * * * * * * *

“จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว” ตั้งอยู่ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม โทร. 08-1763-1989
* * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น