xs
xsm
sm
md
lg

อร่อยลิ้น ลองชิม “อาหารชนเผ่า” บนดอยตุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ข้าวซอยน้อย หรือ พิซซ่าลาหู่
คนในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ก็มักจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันไปด้วย รวมไปถึงอาหารการกินที่มักจะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่ตัวเองมี นำมาปรับประยุกต์ให้เป็นอาหารอร่อยประจำถิ่น อย่างในพื้นที่ของ “ดอยตุง” อันเป็นแหล่งที่อยู่ของชนเผ่าหลายๆ เผ่า อาทิ อาข่า ลาหู่ ไทใหญ่ ไทลื้อ เป็นต้น ซึ่งแต่ละเผ่านั้นก็มีของอร่อยที่ชวนชิมแตกต่างกันไป
ข้าวซอยน้อยนึ่งในน้ำเดือดๆ
นอกจากกับข้าวและอาหารต่างๆ แล้ว ของกินเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละที่ก็น่าชิมไม่แพ้กัน เริ่มจาก “ข้าวซอยน้อย” หรือ “พิซซ่าลาหู่” ของอร่อยของชาวลาหู่ เมนูนี้ต้องใช้ข้าวเจ้ามาแช่น้ำ แล้วโม่แป้งออกมา นำมาเทใส่พิมพ์ภาชนะทรงกลมคล้ายพิซซ่า เทบางๆ แล้วนำไปนึ่งในน้ำเดือดให้สุกดี นำขึ้นจากเตาแล้วเทแป้งลงไปอีกชั้น ใส่กะหล่ำปลี ผักชี ต้นหอม แล้วปรุงรสด้วยพริกบดละเอียด ถั่วลิสงคั่วบด น้ำตาล เกลือ แล้วนำไปนึ่งให้สุกอีกครั้ง พอยกขึ้นจากเตาแล้วก็เอาออกจากพิมพ์ มากินกันร้อนๆ แป้งนุ่มๆ หอมอร่อยได้รสชาติ

ชาวลาหู่นิยมทำข้าวซอยน้อยกินกันในช่วงเทศกาลข้าวใหม่ เทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน และในช่วงวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันเข้าโบสถ์ของพี่น้องชาวลาหู่นั่นเอง
ข้าวปุ๊กดำราดน้ำตาลอ้อย
อีกเมนูอร่อยมีชื่อว่า “ข้าวปุ๊ก” ที่มีทั้ง “ข้าวปุ๊กขาว” และ “ข้าวปุ๊กดำ” โดยชาวไทใหญ่จะล้อมวงรอบกองไฟ ทำกินกันในช่วงฤดูหนาวเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย แถมยังเป็นของกินเล่นที่อร่อยถูกปากอีกด้วย

ข้าวปุ๊กขาว ใช้ (ข้าวนึ่ง) ข้าวเหนียวผสมกับงาขี้ม้อนตำจนละเอียดแล้วคลุกเคล้าจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนจะตีเป็นแผ่นวงกลมไม่หนาไม่บางจนเกินไป นำไปปิ้งกับเตาถ่านจนร้อนและได้กลิ่นหอม จากนั้นราดน้ำตาลอ้อยลงไปให้ทั่ว ก่อนจะพับครึ่งประกบกัน แล้วกินร้อนๆ
ข้าวปุ๊กขาว-ดำ ของชาวไทใหญ่
ส่วนข้าวปุ๊กดำ จำใช้ข้าวเหนียวดำแทนข้าวเหนียวขาว โดยใช้พันธุ์ข้างแสงนาที่ชาวไทใหญ่ปลูกไว้เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหายไป นำมาผสมกับงาขี้ม้อนแล้วปิ้งจนร้อน ราดน้ำตาลอ้อยลงไปเช่นเกียวกัน ทั้งข้าวปุ๊กขาวและดำ กินกันร้อนๆ เนื้อเนียนเหนียวนุ่มหอม ได้ความหวานนิดๆ จากน้ำตาลอ้อยที่ละลายอยู่บนแป้ง
ข้าวต้มเล็บมือนาง
อย่างสุดท้ายชวนชิม “ข้าวต้มข้าวเหนียว” หรือที่ชาวดอยนิยมเรียกกันว่า “ข้าวต้มเล็บมือนาง” จะใช้ข้าวเหนียวดำหรือข้าวเหนียวขาวผสมกับถั่วลิสงสด ห่อด้วยใบของต้นตองกง (ส่วนดอกของต้นตองกงนำมาทำไม้กวาด) ห่อเป็นทรงสามเหลี่ยมเรียวๆ มองแล้วคล้ายๆ นิ้วมือของผู้หญิง ก่อนจะนำไปต้มจนสุกดี ข้าวต้มเล็บมือนางแบบนี้ชาวดอยนิยมทำกินกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ กินแล้วหอมข้าวเหนียวใหม่ๆ ได้ความมันจากถั่วลิสง

หากใครอยากลองชิมเมนูที่ว่ามานี้ และอาหารอร่อยๆ ของชาวเผ่า ลองแวะมาชิมกันได้ที่งาน “เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 2” ซึ่งจัดขึ้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่วันนี้ - 31 ม.ค. 59 และจัดงานช่วงวันหยุดพิเศษระหว่าง 5 - 7 ธ.ค. 58 และ 26 ธ.ค 58 - 3 ม.ค. 59 ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พบกับถนนคนเดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย อร่อยกับอาหารพื้นเมืองหลากหลาย ชอปงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชนเผ่าต่างๆ บนดอยตุง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น