กาแฟจากดอยช้าง ส่งกลิ่นอันหอมกรุ่นจากเมล็ดกาแฟที่คั่วสดใหม่ส่งกลิ่นหอมกระจายไปทั่วขุนเขา ลอยผ่านเมฆบนท้องฟ้าข้ามไปถึงต่างแดน เบื้องหลังความหอมกรุ่นของกาแฟดอยช้างมีตำนานเล่าขาน
ย้อนกลับไปเมื่อ30 กว่าปีที่แล้ว พื้นที่บนดอยช้างยังเป็นภูเขาที่บานสะพรั่งไปด้วยดอกฝิ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกและขายฝิ่นขนาดที่ว่า แทบทุกวันจะมีเฮลิคอปเตอร์บินมารับดอกฝิ่นถึงบนดอย แม้ทางการจะพยายามห้ามปรามและชี้ให้เห็นโทษของการปลูกสารเสพติดชนิดนี้แล้วก็ตาม แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวบ้าน ที่ไม่มีความรู้ในการประกอบอาชีพอื่นที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้มากไปกว่าการปลูกฝิ่น อันเป็นความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ พวกเขาจึงยังคงลักลอบปลูกฝิ่นเพื่อส่งให้กับนายหน้าที่มารับซื้ออยู่เป็นประจำ
กระทั่งความทราบยังพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้ชาวไทยภูเขาบนดอยช้าง เลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่พี่น้องชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูงในจังหวัดทางภาคเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยเกษตรกรหมู่บ้านดอยช้าง ต.วารี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ได้เข้ารับพระราชทานต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า จำนวน40 ครอบครัว ๆ ละ400 ต้น
และหนึ่งในนั้นมี “พิก่อ แซ่ดู่” ชายเกล้าผมหมวยผู้เป็นโลโก้ของกาแฟดอยช้าง ที่โด่งดังไปทั่วโลก ได้รับพระราชทานต้นกล้ากาแฟจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย และเขาเองก็เป็นแกนนำของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ให้หันมาปลูกกาแฟเพื่อเลี้ยงชีพ
ต้นกาแฟพระราชทานรุ่นแรกที่ชาวเขานำมาปลูก ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง แม้จะมีนักวิชาการเกษตรมาให้ความรู้ในเรื่องวิธีการปลูกที่ถูกต้อง แต่ชาวบ้านก็ประสบกับปัญหาการขายสินค้า เพราะกว่าที่จะนำเมล็ดกาแฟลงจากเขาไปขายยังแหล่งรับซื้อนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความมุ่งมันและความร่วมมือร่วมใจกันของพี่น้องบนดอยช้างทุกอย่างจึงผ่านไปได้ด้วยดี
เมล็ดกาแฟเติบโตในหัวใจจาก “รุ่นพ่อสู่รุ่นลูก”
32 ปีที่กาแฟพระราชทานต้นแรกของพ่อ ถูกนำขึ้นมายังดอยช้าง จนวันนี้บนพื้นที่กว่า 30,000 ไร่บนดอยช้าง เต็มไปด้วยต้นกาแฟที่ออกดอกออกผลอย่างงดงามในหัวใจเกษตรกรบนดอยช้างทุกคน “ปณชัย พิสัยเลิศ” หนุ่มใหญ่วัย 40 ลูกชายของ “พิก่อ แซ่ดู่” เกษตรกรรุ่นแรกผู้สานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในวันนี้ ปณชัยได้สานต่อเจตนารมณ์ของผู้เป็นบิดา ที่อยากให้พี่น้องร่วมชนเผ่ามีชีวิตที่ดีขึ้น เขาจึงชักชวนเพื่อนสนิท พิษณุชัย แก้วพิชัย ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาด ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท ดอยช้าง ออริจินอล ขึ้น เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตกรบนดอยช้างโดยตรง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวไทยภูเขา
วันนี้ หนุ่มใหญ่สองคนนี้ได้นำกาแฟต้นแรกของพ่อ ซึ่งเป็นผลผลิตจากดอยช้าง ออกสู่ตลาดโลกได้สำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กาแฟไทยโด่งดังไปทั่วโลกในชื่อ “กาแฟดอยช้าง”
ปณชัย เกิดและเติบโตมาในครอบครัวชาวไทยภูเขาบนดอยช้าง เล่าว่า ก่อนที่จะตั้งบริษัทขึ้นมานั้น เขาเห็นว่าเมล็ดกาแฟของเกษตรกรขายไม่ค่อยได้ราคา จึงจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อปี 2546 เพื่อรับซื้อเมล็ดกาแฟ และเมื่อมีเมล็ดกาแฟอยู่ในมือแล้ว จึงอยากจะทำให้กาแฟดอยช้างเป็นที่นิยมและเป็นยอมรับของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งสองจึงเริ่มออกเดินทางเพื่อค้นหาวิธีการทำกาแฟให้อร่อยที่สุดในโลก
“คนขายกาแฟต้องรู้จักเมล็ดกาแฟตั้งแต่ต้นกำเนิดเป็นอย่างดี ตอนนั้นพวกเราใช้เงินส่วนตัวเดินทางไปเกือบทั่วทุกมุมโลก ทั้ง โคลัมเบีย คอสตาริก้า ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีกาแฟที่อร่อยที่สุดในโลก เพื่อไปเรียนรู้และสัมผัสกระบวนการทำกาแฟให้อร่อย เพื่อนำมาประยุกต์และปรับใช้ให้กาแฟดอยช้างหอมอร่อยถูกปากคอกาแฟทั้งชาวไทยและต่างประเทศ”
แม้จะได้กาแฟที่หอมและอร่อยถูกใจคอกาแฟแล้ว แต่เป้าหมายที่จะนำกาแฟดอยช้างไปถึงต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องผ่านบททดสอบล้มลุกคลุกคลานมากมาย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมแพ้ เพื่อให้ชีวิตพี่น้องบนดอยช้างทุกคนลืมตาอ้าปากได้ เขาก็ยอมได้ทุกสิ่ง เพื่อทดแทนบุญคุณแผ่นดินเกิดที่เติบโตมา
“ตอนนั้นกาแฟเราอร่อยแล้ว แต่ถ้าจะวางขายในต่างประเทศได้ จะต้องมีใบรับประกันต่างๆ มากมาย เพื่อให้กาแฟมีความน่าเชื่อถือ ตอนนั้นผมกับคุณพิษณุชัยก็เดินเข้าออกธนาคารทุกวัน เพื่อกู้เงินมาทำใบรับรองตามมาตรฐานต่างๆ จนพนักงานทุกคนจำหน้าพวกเราได้” หนุ่มใหญ่เผยถึงการต่อสู้เพื่อดอยช้าง
ผ่านมาแล้ว 12 ปีแห่งการต่อสู้ เพื่อให้กาแฟดอยช้างเข้าไปนั่งในใจหัวใจของคนไทยทั้งประเทศ และชาวต่างชาติได้รู้จักกาแฟไทยคุณภาพเยี่ยม ทำให้ตอนนี้กาแฟดอยช้างมีสาขาในประเทศไทยกว่า 300 ร้าน และมีสาขาต่างประเทศ อย่าง เกาหลี มาเลเซีย สิงค์โปร์ และ จีน รวมแล้วกว่า 26 สาขาทั่วโลก
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของสองหนุ่มใหญ่คือ เมื่อปี 2556เขาได้นำกาแฟดอยช้างขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในสหภาพยุโรป อันแสดงให้เห็นว่า กาแฟดอยช้างจะได้รับการปกป้องคุ้มครองทั่วสหภาพยุโรปตามกฎหมาย รวมถึงสามารถติดตราสัญลักษณ์ GIของสหภาพยุโรปบนบรรจุภัณฑ์ได้ ซึ่งจะทำให้กาแฟดอยช้างเป็นที่ยอมรับ และสามารถจำหน่ายในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปได้ทุกประเทศอย่างมั่นใจ
น้ำพระทัยพ่อหลวง “เปลี่ยนแดนฝิ่นเป็นถิ่นกาแฟ”
ทุกวันนี้ผืนดินบนดอยช้างถูกปกคลุมไปด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งความสุข ที่ทำให้พี่น้องชาวดอยช้างทุกคนล้วนมีความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตัวเอง ที่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน จนสามารถร้องก้องตะโกนป่าวประกาศบอกทุกคนได้อย่างสนิทใจ ว่าฉันคือชาวเขาเผ่า “อาข่า”
ปณชัย เล่าว่า ปัจจุบันราคากลางที่รับซื้อเมล็ดกาแฟเชอรี่ราคากิโลละ 20 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเมล็ดกาแฟต่อครอบครัวปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทุกวันนี้ทุกครอบครัวบนดอยช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยการขายเมล็ดกาแฟแทนการปลูกฝิ่น เรียกว่าเปลี่ยนแดนฝิ่นเป็นถิ่นกาแฟอย่างแท้จริง
พิก่อ ชายชราชาวอาข่า ผู้ได้รับพระราชทานต้นกาแฟจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่าด้วยความทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ทรงมีต่อพสกนิกชาวดอยช้างทุกคน ด้วยสำเนียงภาษาชนเผ่าอาข่า โดยมีลูกชายปณชัย คอยเป็นล่ามแปลภาษาไทยให้ว่า
“ในหลวงทรงชุบชีวิตชาวดอยช้างทุกคน ทรงมีพระเมตตาพระราชทานต้นกล้ากาแฟให้พวกเรา ตอนนี้ชาวดอยช้างทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีบ้าน มีรถ เป็นของตัวเอง ลูกหลานอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ต้องระหกระเหินออกไปหางานทำต่างถิ่น และสามารถแต่งชุดประจำชนเผ่าไปไหนมาไหนได้อย่างไม่อายใคร ที่สำคัญ ตอนนี้เด็กๆ รุ่นหลังบนดอยช้างอายุตั้งแต่ 25 ปีลงมา ก็ไม่มีใครรู้จักหน้าคร่าตาของดอกฝิ่นอีกต่อไป ตอนนี้พวกเราทุกคนมีต้นกาแฟ ก็เหมือนมีทองคำอยู่ในมือ จากนี้ไปทุกคนก็จะดูแลทองคำต้นนี้ให้เติบใหญ่ และเป็นร่มเงาให้พวกเราชาวดอยช้างต่อไป” พิก่อ เล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
ธ ทรงผู้เป็นยิ่งกว่าพระราชา มหาราชผู้ทรงชุบชีวิตคนบนดอยช้าง เปลี่ยนแดนฝิ่นเป็นถิ่นกาแฟ สร้างอาณาจักรแห่งความสงบร่มเย็นและเป็นสุขบนแผ่นดินแม่อย่างยั่งยืน
เรื่อง ศศิวิมล แถวเพชร