xs
xsm
sm
md
lg

สุดทึ่ง!!! “วังเทพธาโร”จากรากไม้ด้อยค่าสู่“พญามังกร”เลื่องชื่อ...จากชายผู้เดินตามรอยในหลวง/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ประติมากรรมมังกรไม้เทพธาโร ตัวที่ 88 อีกหนึ่งไฮไลท์แห่งวังเทพธาโร
     ธรณีวิกฤติซ้ำ    ยาวนาน
แปรเปลี่ยนฤดูกาล   โลกร้อน
ฟุ้งเฟ้อเห่อสำราญ   โลภหนัก
ดับวิโยคโศกซ้อน    ดับด้วยพอเพียง

นี่คือข้อความที่เขียนประดับเด่นหราไว้ที่ “วังเทพธาโร” สถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่มาแรงแห่งจังหวัดตรัง 1 ใน 12 เมืองต้องห้าม...พลาด ซึ่งวันนี้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานตรัง ได้คัดสรรให้วังเทพธาโรเป็น 1 ใน 14 สิ่งต้องห้ามพลาดสำหรับผู้ไปเที่ยวเมืองตรังด้วยเช่นกัน
มังกรไม้ตัวยาวกับเส้นทางเดินลอด 9 ช่องประตูท้องมังกร
1...

วังเทพธาโร ตั้งอยู่ที่ ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ถือกำเนิดขึ้นจากพลังการสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นของ “นายจรูญ แก้วละเอียด” ครูวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนห้วยยอดแห่งจังหวัดตรัง

นายจรูญนอกจากจะเป็นครูแล้ว ยังเป็นศิลปินพื้นบ้านจังหวัดตรัง สาขานันทนาการในปี 2543 ซึ่งครูจรูญให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปของวังเทพธาโรให้ผมฟังในวันที่ไปเยือนวังแห่งนี้เป็นครั้งแรกว่า
ครูจรูญสาธิตคุณประโยชน์หลากหลายของไม้เทพธาโรหรือไม้จวงให้ชมกัน
...วังในที่นี้หมายถึง ล้อม หรือ ห้อมล้อม และเป็นแหล่งรวมที่มีอยู่ปริมาณมาก เช่น วังปลา วังกุ้ง ส่วนวังเทพธาโรนั้นก็หมายถึงแหล่งที่ห้อมล้อมไปด้วยไม้เทพธาโร

ส่วน “เทพธาโร” แปลว่า “ไม้เทวดา” เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อไม้มีกลิ่นหอม และเป็นไม้ที่มีคุณประโยชน์หลากหลาย อาทิ เนื้อไม้ ลำต้น ใบ ดอก รากสามารถนำมาสกัดทำน้ำมันหอมระเหย ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ขณะที่ใบและผลนั้นจะให้กลิ่นหอมที่ต่างกันถึง 4 แบบ ได้แก่ กลิ่นรูทเบียร์ กลิ่นตะไคร้ กลิ่นเสม็ดขาว และกลิ่นดอกไม้ผสมเครื่องเทศ แต่ละกลิ่นต่างก็มีคุณสมบัติเด่นแตกต่างกันออกไป
บรรยากาศในวังเทพธาโรที่เต็มไปด้วยมังกรไม้และข้อคิดคำคม
ที่สำคัญคือไม้เทพธาโรสามารถนำไปแกะสลักเป็นผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ งานแกะสลักพยูนจากไม้เทพธาโรที่ถือเป็นสินค้าที่ระลึกขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง

เทพธาโรมีชื่อเรียกในภาษาพื้นบ้านว่า “จวง” หรือ “จวงหอม” เพราะเป็นไม้ที่มีกลิ่นหอม ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นไม้มงคล จึงมีบางส่วนนิยมนำมาทำเป็นมวลสารวัตถุมลคล และนำงานแกะสลักไม้เทพธาโรไว้ประดับบ้าน
มังกรไม้เทพธาโรแกะสลักในบ้านจวงหอม
ครูจรูญขยายความต่อว่า เดิมบริเวณนี้เป็นป่าเทพธาโรขนาดใหญ่มาก ซึ่งอาจจะถือว่า(ในอดีต)ที่นี่เป็นแหล่งไม้เทพธาโรที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ แต่พอมาถึงยุคการปลูกยางพาราเฟื่องฟูเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ป่าเทพธาโรได้ถูกโค่นตัดทิ้ง เหลือแต่ตอฝังอยู่ใต้ดิน ก่อนจะถูกขุดและดันด้วยรถแทรคเตอร์นำขึ้นมาเผาทิ้งเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อประมาณ 10 กว่าปีมานี้ได้มีคนรู้คุณค่านำไม้เทพธาโรมาแกะสลัก ทำเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับตัวเองและชุมชน
กราบแผ่นดิน ขอคารวะในบุญคุณผืนแผ่นดินแม่
สำหรับตอไม้รากไม้เทพธาโรที่ถูกขุดขึ้นมารอเวลาเผาเป็นดังไม้ไร้ค่านั้น ครูจรูญได้ไปตระเวนซื้อหามาเก็บไว้ ด้วยเห็นในคุณค่าและเสียดายความเป็นป่าเทพธาโรในอดีต โดยครูจรูญได้ทำการเก็บสะสมไม้เทพธาโรมาตั้งแต่ปี 2554 ใช้เงินตัวเองไปกว่า 2.5 ล้านบาท รวมๆแล้วสามารถเก็บสะสมไม้เทพธาโรได้กว่า 6 แสนกิโลกรัมเลยทีเดียว

2...

ด้วยเล็งเห็นว่าเทพธาโรเป็น“ไม้หอมมหัศจรรย์”อันทรงคุณค่า หลังจากตระเวนเก็บซื้อหาตอไม้รากไม้เทพธาโรที่หลายๆคนมองเป็นสิ่งด้อยค่ามาเก็บไว้เป็นจำนวนมาก ครูจรูญจึงได้นำไม้เทพธาโรมาประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นงานประติมากรรมรูปมังกรขึ้น
มังกรไม้ตัวแรกที่ครูจรูญสร้างสรรค์ขึ้น
โดยครูจรูญได้ให้เหตุผลที่เลือกสร้างสรรค์เป็นมังกรแทนที่จะเป็นพะยูนสัตว์อนุรักษ์ประจำจังหวัดตรังว่า มังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และมีความยิ่งใหญ่ตามความเชื่อของคนจีน นอกจากนี้ในปี 2558(สิ้นปี)ประเทศไทยจะเดินหน้าเข้าสู่เออีซี(AEC)หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงจำเป็นต้องสร้างสิ่งที่ทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก โดยมังกรนั้นถือว่ามีความเหมาะสมที่สุด
มังกรตัวยาวริมสนามหญ้าที่มี 9 ช่องประตูท้องมังกรให้เดินลอดเพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้นครูจรูญก็ได้สร้างสรรค์งานประติมากรรมไม้เทพธาโร(จากรากไม้)ตัวแรกขึ้นมา ก่อนที่จะพัฒนาสร้างสรรค์ตัวอื่นๆตามมา ใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่า (จากปี 2554) จึงได้ทำการเปิดสถานที่แห่งนี้เป็นวังเทพธาโรขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2557 เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ โดยเฉพาะในด้านความพอเพียงด้วยแนวคิด “ตามรอยพ่อด้วยพอเพียง” ซึ่งครูจรูญใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต
สวนป่าเทพธาโรกับลานจัดกิจกรรม
นอกจากนี้วังเทพธาโรยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำคัญเกี่ยวกับไม้เทพธาโร ทั้งในด้านประวัติความเป็นมา คุณประโยชน์ต่างๆ ผลงานผลิตภัณฑ์จากไม้เทพธาโร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพียรพยายามปลูกป่าเทพธาโรขึ้นมาอีกครั้งของครูจรูญเพื่อให้คนเห็นในความสำคัญของดินแดนแห่งนี้ที่เป็นป่าเทพธาโรในอดีต
ป้ายกราบแผ่นดินเป็นอีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป
3...

สำหรับผู้มาเยือนวังเทพธาโร เมื่อมาถึงจะได้พบกับลานสนามหญ้ากว้าง ประดับไปด้วยงานประติมากรรมไม้เทพธาโรตัวยาว มีป้ายข้อความ “กราบแผ่นดิน” อยู่ตรงกลางเป็นดังการแสดงความคารวะต่อผืนแผ่นดินแม่ ซึ่งมีหลายๆคนนิยมไปถ่ายรูปกันที่ป้ายแห่งนี้ นอกจากนี้ที่นี่ยังข้อความ บทกลอน คำคม ข้อคิด เกี่ยวกับหลักความพอเพียงและแนวทางการดำเนินชีวิตติดไว้ให้เราได้ขบคิดซึมซับ ควบคู่ไปกับข้อคิดคำคมจากคำบอกกล่าวจากใจของครูจรูญ
ครูจรูญโชว์การตีกลองยาวและร้องเพลงปักษ์ใต้บ้านเราในภาษาอังกฤษ
ภายในวังเทพธาโรมีกิจกรรมหลากหลายให้ทำ อาทิ จิบชาจวง พิสูจน์กลิ่นใบเทพธาโร 4 กลิ่น(ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น) ศึกษาฐานการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำธูปหอมเทพธาโร การทำน้ำส้มควันไม้เทพธาโร การทำน้ำมันหอมระเหยจากเทพธาโร ชมงานแกะสลักไม้เทพธาโรและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP ที่บ้านจวงหอม ชมการแสดงการตีกลองยาวพร้อมๆกับการร้องเพลงปักษ์ใต้บ้านเราในเวอร์ชั่นภาคภาษาอังกฤษอันน่าเพลิดเพลิน
จุดนวดเท้าด้วยกะลาในสวนเทพธาโร
หรือจะไปเดินชมสวนป่าเทพธาโร เดินนวดฝ่าเท้าด้วยกะลาในสวนป่าเทพธาโร และเดินชมความงามของ“มังกรไม้เทพธาโร” ที่เกิดจากการนำเศษไม้รากไม้เทพธาโรมามาสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมมังกรอย่างสวยงามแปลกตา น่าทึ่ง

เส้นทางเดินชมมังกรไม้ที่นี่มีไฮไลท์อยู่ที่การเดินลอดใต้ท้องประตูมังกร 9 ช่อง ซึ่งเป็นมังกรตัวยาวตั้งเด่นอยู่ริมสนามหญ้า มีลักษณะกำลังเลื้อยตัวโค้งงอเป็นจังหวะสวยงาม
เดินลอดท้องมังกร 9 ช่องเพื่อความเป็นสิริมงคล
ลำตัวของมังกรตัวนี้จะมีช่องทางให้เดินลอดกับ “9 ช่องประตูท้องมังกร” อาทิ พลัง อำนาจ มั่งมี บารมี ยิ่งใหญ่ เป็นต้น ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็นสิริมงคล จึงนิยมมาเดินลอดช่องท้องมังกรแห่งนี้กันเป็นจำนวนมาก
มังกรไม้เทพธาโรตัวที่ 87
นอกจากการเดินลอดท้องมังกรแล้ว ที่วังเทพธาโรยังมีความน่าตื่นตาตื่นใจจากการสร้างสรรค์งานฝีมือครูจรูญ กับผลงานมังกรไม้ 88 ตัว ที่ประดับอยู่ทั่วไปในพื้นที่ของวังเทพธาโร โดยครูจรูญจะสร้างมังกรตามพระชนมายุของในหลวง ซึ่งสำหรับมังกรตัว 87 ที่สร้างเมื่อปีที่แล้วนั้น(อยู่ฝั่งตรงข้ามถัดจากจุดลอดท้องมังกร 9 ช่องไปหน่อย)เป็นมังกรพ่นน้ำตัวที่ผมว่าใหญ่แล้ว แต่มาในปีนี้ที่เมื่อผมกลับไปเยือนที่นี่อีกครั้ง ครูได้กำลังสร้างมังกรตัวที่ 88 ขึ้น และจะสร้างให้เสร็จภายในวันพ่อ 5 ธ.ค. ปีนี้ เป็นมังกรไม้ตัวที่ 88 ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภายในวังเทพธาโรมีความยาวถึง 39 เมตร และมีขนาดใหญ่กว่ามังกรตัวที่ 87 ถึง 3 เท่า
ครูจรูญยืนเทียบขนาดความใหญ่ยักษ์ของมังกรไม้เทพธาโรตัวที่ 88
นับเป็นอีกหนึ่งสีสันอันโดดเด่นของวังเทพธาโรแห่งนี้ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ผมมาเยือนแล้วนอกจากจะได้พบกับความเพลิดเพลินแล้ว ยังได้ความประทับใจจากความน่ารักของครูจรูญผู้มุ่งมั่น มากอัธยาศัยไมตรี รวมถึงได้ข้อคิดดีๆจากครูจรูญติดตัวกลับไป โดยเฉพาะการเดินตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยแนวคิด “ความพอเพียง” ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวคิด”ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”มาให้กับคนไทยเป็นระยะเวลาหลายสิบปีแล้ว

แต่ทว่า...ทุกวันนี้กลับมีคนไทยเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่นำไปปฏิบัติตาม
เอาเท่าที่จำเป็น ข้อคิดคำคมที่มีให้อ่านมากมายภายในวังเทพธาโรแห่งนี้
*****************************************
“วังเทพทาโร” ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านนาเหมร ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ห่างจากแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง “ถ้ำเลเขากอบ” เพียงแค่ประมาณ 2 กม.

วังเทพธาโรเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.30 - 18.00 น. โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ 087-889-3324,089-645-0447

นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับ สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดตรัง ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานตรัง (ดูแล ตรัง และสตูล) โทร. 0 7521 5867, 0 7521 1085
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น