“เหนือฝัน ล้านแรงบันดาลใจ”
เป็นแคมเปญท่องเที่ยวใหม่ ปี 2559 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ ที่จะพาไปสัมผัสกับหลากหลายเส้นทางท่องเที่ยวภาคเหนือแบบครบรส ครบเครื่อง อีกทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ททท.ภาคเหนือ ยังมุ่งเน้นในการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว“กลุ่มผู้หญิง”ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน กับหลากหลายเส้นทางท่องเที่ยวแอ่วเหนือของคุณผู้หญิงที่มากไปด้วยมนต์เสน่ห์สีสัน อย่างเช่น เส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง “ลำพูน-ลำปาง-เชียงใหม่” ที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มีโอกาสไปสัมผัสมากับกิจกรรมไหว้พระธาตุคู่บ้านคู่เมือง ผ่อนคลายไปกับออนเซนที่ดีที่สุดในเมืองไทย พร้อมพาไปชมผ้าทอมือแสนสวย และไปสัมผัสกับงานศิลปหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์เลื่องชื่อ ให้คุณผู้หญิงได้เลือกชอปกันอย่างเพลิดเพลินใจ
ลำพูน - ไหว้พระธาตุหริภุญชัย
ทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ตั้งต้นออกสตาร์ทกันที่“จังหวัดลำพูน” ด้วยการไปไหว้“พระธาตุหริภุญชัย” เอาฤกษ์ชัยเปิดประเดิมทริปกันที่“วัดพระธาตุหริภุญชัย” ที่ตั้งอยู่บน ถ.อินทยงยศ ต.ในเมือง อ.เมือง
พระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน และเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีระกา(ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา ภายในประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุอยู่ในโกศทองคำ ซึ่งแต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาไหว้องค์พระธาตุหริภุญชัยกันไม่ได้ขาด
นอกจากพระธาตุหริภุญชัยที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวลำพูนแล้ว วัดพระธาตุหริภุญชัยและบริเวณโดยรอบยังมีสิ่งน่าสนใจให้สักการะและเที่ยวชมกันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “พระเจ้าทองทิพย์” ในโบสถ์ด้านหน้า, “พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” พระพุทธปฏิมาในวิหารหลวง, “หลวงพ่อพระนอน”, “พระเจ้าแดง”, “สุวรรณเจดีย์” หรือ “เจดีย์ปทุมวดี”, “รอยพระพุทธบาท 4 รอย”, “เสาสะดือเมือง” เป็นต้น
ลำพูน-นั่งรถรางเที่ยวเมือง
ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยยังมีกิจกรรมน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ “การนั่งรถรางเที่ยวชมเมือง” โดยจะพาไปแวะเที่ยวชมจุดสำคัญๆ ทั้งหมด 10 จุด (หากรวมวัดพระธาตุหริภุญชัยที่เป็นจุดตั้งต้นและสิ้นสุดก็จะเป็น 11 จุด) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกับเมืองลำพูน (ในแบบฉบับย่อ) ดียิ่งขึ้น พร้อมๆ กับมีคนขับรถทำหน้าที่เป็นผู้บรรยาย ให้ความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ไปตลอดเส้นทาง
สำหรับจุดแรกหลังรถรางออกสตาร์ทคือ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน” ที่เป็นดังการทักทายให้เราได้รู้จักกับวิถีความเป็นมาของชาวลำพูน พร้อมกับมีข้าวของเก่าแก่ให้ชมกันหลากหลาย
ส่วนจุดที่สองเป็น “คุ้มเจ้ายอดเรือน” เป็นเรือนสรไน (เรือนพื้นถิ่นเอกลักษณ์ลำพูน) ที่แม้จะสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 แต่วันนี้ยังคงสภาพดีอยู่ จึงได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี 2554 ภายในมีข้าวของเครื่องใช้จัดแสดงให้ชมกัน
จากนั้นนับจากจุดที่สามเป็นต้นไปจะเป็นการนำเที่ยววัดต่างๆ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูน เริ่มจาก “อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี” ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ในท่าประทับยืนสวยงามสง่า ถัดไปเป็น“วัดจามเทวี”อันเป็นที่ประดิษฐาน “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ” หรือ “กู่กุด” ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี
จุดที่ห้าเป็น“วัดมหาวัน” หนึ่งในวัดสี่มุมเมืองที่มี “พระรอดหลวง” ซึ่งเป็นแม่พิมพ์พระสกุล“พระรอดลำพูน” อันลือลั่น เป็น 1 ใน 5 พระเบญจภาคีที่มีราคาแพงที่สุด
หลังเข้าไปสักการะแม่พระรอดแล้ว รถรางพาเราไปยัง “วัดพระคงฤาษี” วัดสี่มุมเมืองที่มีเจดีย์แปลกกว่าใครในลำพูน เป็นเจดีย์ที่มีซุ้มคูหาทั้ง 4 ทิศ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและพระฤาษี
ต่อมาในจุดที่เจ็ดคือ “วัดสันป่ายางหลวง” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ “พระเจ้าเขียวโขง” หรือ “พระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย” ที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก
ส่วนจุดที่แปดคือ “กู่ช้าง กู่ม้า” หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ชาวเมืองลำพูนเคารพนับถือกันมาก โดยเฉพาะกู่ช้าง ที่สร้างเป็นสถูปทรงกระบอกปลายมน เชื่อกันว่าเป็น “ปู้ก่ำงาเขียว” ช้างศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี ซึ่งหากใครได้มากราบไหว้ขอพรและได้ลอดท้องรูปปั้นช้างปู้ก่ำงาเขียว เชื่อว่าจะได้รับพรแห่งชัยชนะ สมหวังทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน และการดำเนินชีวิต
และด้วยความศักดิ์สิทธิ์อันร่ำลือไกล กับตำนานเรื่องเล่าขานอันน่าทึ่ง ทำให้ “กู่ช้าง-กู่ม้า” ถูกคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 24 แหล่งท่องเที่ยว “เขาเล่าว่า” อีกหนึ่งแคมเปญท่องเที่ยวใหม่จาก ททท. ในปี 2559
จากนั้นรถรางพามาต่อกันในจุดที่เก้ากับ“วัดพระยืน” อีกหนึ่งวัดสี่มุมเมืองที่โดดเด่นไปด้วย“เจดีย์วัดพระยืน” กับงานศิลปกรรมแบบพม่า มีซุ้มคูหาทั้ง 4 ทิศ ภายในประดิษฐานพระยืนสีทองอร่าม ดูงดงามเป็นเอกลักษณ์ยิ่งนัก
ก่อนที่รถรางจะพาเราไปปิดท้ายกันในจุดที่สิบที่ “วัดต้นแก้ว” วัดที่มีสิ่งน่าสนใจ อาทิ “เจดีย์ต้นก๊อ”ที่เป็นสถูปทรงกลมล้านนา มีพระพุทธรูปทรงเครื่องในวิหาร รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และส่วนของศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผ้าทอที่เราจะได้ชมฝีมือแม่อุ๊ยกับการทอผ้าด้วยลวดลายอันสวยงาม ซึ่งเป็นดังพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ใครถูกใจก็ซื้อหาติดไม้ติดมือกลับมาได้
ลำพูน-สถาบันผ้าทอมือฯ
หลังอุ่นเครื่องด้วยการชมแม่อุ๊ยทอผ้าที่วัดต้นแก้วกันแล้ว เราไปเที่ยวชมและเรียนรู้เกี่ยวกับงานผ้าทออันขึ้นชื่อของเมืองลำพูนกันที่ “สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย” ที่ตั้งอยู่ที่บ้านต้นธง อ.เมือง
สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย เป็นแหล่งอนุรักษ์ เรียนรู้เกี่ยวกับผ้าทอลำพูน รวมถึงเป็นแหล่งจำหน่ายผ้าทอลำพูนชั้นเยี่ยม ที่นี่มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ “โรงทอผ้า” และ “พิพิธภัณฑ์”
โดยส่วนโรงทอผ้า (อยู่ฝั่งขวาเมื่อมองเข้าไป) จะมีพ่อครูแม่ครูและผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้ามานั่งทอผ้าอยู่เป็นกิจวัตร เราสามารถไปพูดคุยสอบถามหาความรู้จากพวกท่านได้ มีทั้งการทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ทั้งลวดลายโบราณและลวดลายประยุกต์
สำหรับงานผ้าทอมืออันโดดเด่นเลื่องชื่อของลำพูนก็คือ “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ที่เป็นการนำลายจากธรรมชาติมาออกแบบเป็นลวดลายผ้าทออันวิจิตรประณีต กับรูปแบบการทอที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยการทอยกลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า โดยลวดลายที่เด่นๆ ก็มี ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายเม็ดมะยม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และโดยเฉพาะ“ลายดอกพิกุล” ที่ถือเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของผ้าทอยกดอกลำพูน
ขณะที่ส่วนพิพิธภัณฑ์ แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนจัดแสดงชุดเจ้านายฝ่ายเหนือที่เคยสวมใส่ อาทิ ชุดไทยอัมรินทร์ ชุดไทยเรือนต้น ชุดผ้าไหมสีม่วง ชุดผ้าไหมสีชมพู เป็นต้น ส่วนชั้นล่างด้านในจัดแสดงเกี่ยวกับงานผ้าและชุดแต่งกายชนเผ่าต่างๆ ในลำพูน อาทิ ไทลื้อ ไทลาว ไทยวน ยอง
ในส่วนพิพิธภัณฑ์ยังมีส่วนจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก เน้นไปที่งานผ้าทอมือลำพูนทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายเกรดพรีเมียม คุณภาพดี รวมถึงงานที่นำผ้าทอมือไปประยุกต์ทำผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เช่น กระเป๋า ปลอกหมอน รองเท้า เป็นต้น
ลำพูน-บ้านดอนหลวง
นอกจากงานผ้าไหมยกดอกแล้ว ลำพูนยังมีงานผ้าฝ้ายทอมือแหล่งใหญ่อันขึ้นชื่อลือชาอยู่ที่ อ.ป่าซาง ได้แก่ที่ บ้านหนองเหงือก และบ้านดอนหลวง โดยเฉพาะที่บ้านดอนหลวงนั้นได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
บ้านดอนหลวงเป็นชุมชนชาวยองเก่าแก่ที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่ อ.ป่าซาง เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว โดยได้นำฝีมือการทอผ้าจากบรรพบุรุษติดตัวมา และสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตามใต้ถุนบ้านหลายๆหลังที่บ้านดอนหลวงยังคงมีชาวบ้านนั่งทอผ้าทั้งแบบ 2 ตะกอ และ 4 ตะกอ เพื่อทำเป็นสินค้าส่งขาย เราสามารถไปชมวิธีการและพูดคุยกับพวกเขาได้
ที่บ้านดอนหลวงเราจะได้พบกับผลิตภัณฑ์สินค้าผ้าฝ้ายอันหลากหลายทั้งแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า ผ้าผืน กระเป๋า ผ้าพันคอ ฯลฯ ที่สำคัญคือสินค้าที่นี่ราคาไม่แพง นั่นจึงทำให้หลายๆคนเมื่อมาที่บ้านดอนหลวงแล้ว มักจะไม่พลาดการชอปกระจาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นทาสผ้าไทยทั้งหลาย ต่างก็นิยมมาเลือกซื้อเลือกหาหอบงานผ้าฝ้ายทอมือติดกลับไปเป็นของที่ระลึกกันเป็นจำนวนมาก
ลำปาง - พระธาตุลำปางหลวง
จากลำพูนเป้าหมายต่อไปของเราคือจังหวัดลำปางที่เป็นหนึ่งในจังหวัด “12 เมืองต้องห้าม...พลาด” ซึ่งวันนี้หลังโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างสูง ททท.จึงต่อยอดด้วยการออกแคมเปญ(ปี 59) “12 เมืองต้องห้าม...พลาด Plus” ขึ้นมา โดยคัดเลือกให้ลำพูนเป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้าม...พลาด Plus เชื่อมโยงระหว่างลำปาง-ลำพูน กับแนวคิด “ลำปาง-ลำพูน เมืองที่ไม่หมุนตามกาลเวลา” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจยิ่งแห่งดินแดนล้านนา
สำหรับผู้ที่ไปแอ่วเมืองรถม้าลำปาง ไม่ควรพลาดการไปเที่ยวชม“วัดพระธาตุลำปางหลวง” วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลำปาง ซึ่งในทริปนี้ “ตะลอนเที่ยว” ก็ไม่พลาดเช่นกัน
วัดพระธาตุลำปางหลวงสันนิษฐานว่าสร้างตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวปลายศตวรรษที่ 20 ปัจจุบันยังคงมีสภาพสมบูรณ์ จนถูกยกให้เป็นวัดไม้(โบราณ) ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดวัดหนึ่งของเมืองไทย
วัดพระธาตุลำปางหลวงมีสิ่งน่าสนใจมากมายให้เที่ยวชมและสักการบูชา โดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นตามความเชื่อในเรื่อง “คติจักรวาล” ด้านหน้ามี “วิหารหลวง” วิหารไม้โบราณหลังใหญ่อันสวยงามสื่อถึงชมพูทวีป ส่วนด้านหลังวิหารหลวง เป็นที่ตั้งขององค์“พระธาตุลำปางหลวง” ที่เปรียบดังเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล
พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีฉลู(วัว) ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมธาตุส่วนพระนลาฏ(หน้าผาก) ข้างขวา พระศอ(ลำคอ) และพระเกศา(ผม)
นอกจากนี้ก็ยังมี องค์“พระเจ้าล้านทอง” ที่ประดิษฐานอยู่ใน“กู่พระเจ้าล้านทอง”หรือ “ซุ้มปราสาททอง” ที่สร้างอย่างงดงามวิจิตรในวิหารหลวง, “วิหารลายคำ” หรือ “วิหารพระพุทธ” ภายในประดิษฐาน “พระเจ้าองค์หลวงพระนครลำปาง” ในพุทธลักษณะสิงห์สามปางมารวิชัย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งองค์พระประธานที่งดงามมากแห่งล้านนา
ไม่เพียงเท่านั้นในวัดพระธาตุลำปางหลวงยังมี“เงาพระธาตุ” กับปรากฏการณ์ชวนทึ่งจนถูกยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์อันโด่งดังเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยจุดชมเงาพระธาตุจุดหลักนั้นอยู่ใน“มณฑปพระพุทธบาท” ที่เมื่อเข้าไปแล้วปิดประตูให้มืด ปรับสายตาสักพัก เราจะพบกับเงาพระธาตุ ที่เกิดจากแสงส่องผ่านรอยแตกของประตูเข้ามาแล้วเกิดการหักเหของแสงหลักการเดียวกับกล้องรูเข็ม เกิดรูป(เงา)“พระธาตุหัวกลับ” บนฉากผืนผ้าขาวให้สีสันสวยงามตามจริง
อย่างไรก็ดีเงาพระธาตุจุดหลักในมณฑปพระพุทธบาทแห่งนี้ “ห้ามผู้หญิงขึ้น” เพราะได้สร้างครอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ด้านล่างไว้ จึงห้ามผู้หญิงขึ้นตามคติความเชื่อของชาวล้านนาดั้งเดิม
แต่...คุณผู้หญิง คุณสุภาพสตรีก็สามารถชมเงาพระธาตุอันน่าทึ่งได้ในวิหารลายคำ (อยู่ด้านขวามือเมื่อเดินเข้าไป) ซึ่งที่นี่จะได้พบกับ“เงาพระธาตุหัวตั้ง” (เงาพระธาตุหัวกลับหรือหัวตั้งจะเปลี่ยนไปตามฉากที่ตกกระทบ) ที่มีนักท่องเที่ยวหลายคนนิยมมาก้มลงกราบอย่างศรัทธา ดูแล้วน่าประทับใจยิ่งนัก
ลำปาง-นวด สมุนไพร
สำหรับใครที่มาเที่ยวลำปางแล้วรู้สึกปวดเมื่อยตัว หรืออยากผ่อนคลาย หรือต้องการซื้อหาผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ปลอดสารเคมี ที่ลำปางมี "ลำปางรักษ์สมุนไพร" ที่เป็นแหล่งผ่อนคลายด้านสุขภาพท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่น
ลำปางรักษ์สมุนไพร ตั้งอยู่ที่บ้านเขลางค์ทอง ถ.คันเหมือง ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง เดิมชื่อ "ชมรมรักษ์สมุนไพรลำปาง" เป็นศูนย์ส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในด้านสุขภาพ สมุนไพร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ลำปางรักษ์สมุนไพรมีบริการ 2 ส่วนหลักๆ สำหรับนักท่องเที่ยวคือ “บริการด้านสุขภาพ” อาทิ การนวดต่างๆ สปา อบไอน้ำสมุนไพร ขัดตัว ขัดหน้า พอกตัว-พอกหน้าด้วยโคลนสมุนไพร กับ“บริการด้านสมุนไพร” โดยเป็นแหล่งเผยแพร่ ส่งเสริม สนับสนุนการปลูก การใช้สมุนไพร เก็บสะสมพันธุ์สมุนไพรและพันธุ์ไม้หายากต่างๆ รวมถึงมีการจัดการแปรรูปสมุนไพรและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรอันหลากหลาย ซึ่งเป็นสมุนไพรปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีใดๆ
นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านสมุนไพรที่มีองค์กรต่างๆ แวะเวียนเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
ลำปาง-ออนเซน
ลำปางยังมีอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความโดดเด่นด้านสุขภาพอีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อของเมืองรถม้า นั่นก็คือ“อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของเรา
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตั้งอยู่ที่ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งออนเซนเมืองไทยชั้นเลิศ เพราะมี“น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน” ซึ่งถูกยกให้เป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ขณะที่ทางอุทยานฯแจ้ซ้อนเองก็โดดเด่นในเรื่องของการบริหารจัดการด้วยมาตรฐานสูง ทำให้สามารถคว้ารางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ รางวัลกินรี จาก ททท. มาครองได้ 2 สมัยด้วยกัน ในปี 2543 และ 2556
“น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน” เป็นแหล่งน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ มีกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ มีอุณหภูมิสูง 73 - 80 กว่าองศาเซลเซียส มีทั้งหมดด้วยกัน 9 บ่อในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งทางอุทยานฯแจ้ซ้อน ได้ทำการปรับแต่งภูมิทัศน์บริเวณบ่อหลักหรือบ่อไฮไลต์ให้ดูสวยงาม มีทั้งบ่อใหญ่ บ่อเล็ก แอ่ง จุดนำไข่ไปแช่น้ำแร่ โดยมีทางเดินผ่านเข้าไปในบ่อน้ำแร่ ที่น่าเดินเที่ยวเล่นไม่น้อย โดยเฉพาะในยามเช้าตรู่ที่มีไอ ควัน พวยพุ่งออกมาคลอเคล้าไปกับลำธารไหลเอื่อยและแสงสีทองอ่อนๆ ของยามเช้านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งภาพไฮไลต์อันชวนประทับใจของที่นี่เลยทีเดียว
นอกจากนี้ทางอุทยานฯยังมีการทำ“ห้องอาบน้ำแร่” ที่ใช้น้ำแร่ที่ต่อตรงมาจากบ่อน้ำร้อน มีทั้งห้องแช่เดี่ยว ห้องแช่รวม (แยกชาย-หญิง) ซึ่งเป็นดังออนเซนเมืองไทยให้เราได้ลงแช่น้ำแร่คุณภาพชั้นเยี่ยมกัน
อย่างไรก็ดีในการแช่น้ำแร่นั้น เราต้องแช่แต่พอดี ในเวลาที่เหมาะสม ประมาณ 10-15 นาที(ต่อการลง 1 ครั้ง) ตามที่ทางอุทยานฯได้ติดป้ายกำกับไว้ ซึ่งคุณประโยชน์ของน้ำแร่นั้นก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนได้ดี บำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่าสบายตัว
รวมถึงยังสามารถช่วยเติมพลังชีวิตให้กับเราได้อีกด้วย
เชียงใหม่-ตีนตก
หลังสดชื่นผ่อนคลายสบายตัวจากการแช่น้ำแร่ที่อุทยานฯแจ้ซ้อนแล้ว เราเดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อเข้าเขตเชียงใหม่ใน อ.แม่ออน แล้ว ระหว่างทางจะพบกับ “บ้านแม่กำปอง” แหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่มีการพัฒนาเติบโตขึ้นมาเป็นลำดับในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านท่องเที่ยวขึ้นชื่อของเชียงใหม่
จากนั้นเมื่อเลยบ้านแม่กำปองไปอีกหน่อยจะเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก” ที่ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน ศูนย์ฯแห่งนี้เกิดจากน้ำพระทัยและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยงหรือชา โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูก“กาแฟพันธุ์อราบิก้า” ซึ่งศูนย์ฯแห่งนี้ถือเป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้าใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย
ภายในศูนย์ฯตีนตกยังมี“ร้านโครงการหลวงตีนตก” ที่เป็นจุดขายกาแฟ ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าที่ระลึก ให้เราแวะพักดื่มชากาแฟ เดินเที่ยวชมสิ่งน่าสนใจในบริเวณนั้น ดังเช่นกล้วยไม้ดอกงามๆในโรงเรือนกล้วยไม้ หรือถ่ายรูปสิ่งน่าสนใจในบริเวณร้านค้าของศูนย์ฯที่ตั้งอยู่ริมถนน เข้าถึงง่ายและมีที่จอดรถสะดวกสบาย
ส่วนถัดจากร้านค้าโครงการฯลึกจากฝั่งถนนเข้าไปด้านหลังร้านค้าจะเป็นที่พักของโครงการ กับบ้านพักหลังเก๋ไก๋ไม่กี่หลังในบรรยากาศสุดชิลท่ามกลางแมกไม้สายน้ำ เหมาะสำหรับมาพักผ่อนสโลว์ไลฟ์ ดื่มด่ำกับธรรมชาติเป็นยิ่งนัก
เชียงใหม่-บ่อสร้าง
ผ่านจาก อ.แม่ออน ไปจะเข้าเขต อ.สันกำแพง ดินแดนทำร่มเลื่องชื่อ ที่หลายๆคนรู้จักกันดีในนาม “ร่มบ่อสร้าง” แห่ง “บ้านบ่อสร้าง” หมู่บ้านทำร่มชื่อดัง
ร่มบ่อสร้างมีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี เดิมชาวบ้านบ่อสร้างและละแวกใกล้เคียง ทำร่มขึ้นมาเพื่อถวายพระและกันแดดกันฝน โดยร่มที่ทำถวายพระเป็นพุทธบูชานั้นจะทำอย่างประณีตสวยงาม ใส่จิตวิญญาณและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะกันอย่างสุดฝีมือ
ครั้นเมื่อเวลาผ่านไป ร่มบ่อสร้างเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชาวบ้านบ่อสร้างจึงมีการพัฒนาร่มบ่อสร้างให้มีรูปแบบอันหลากหลาย พร้อมมีการจัดจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกขายให้กับนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้าไปเที่ยวชมในหมู่บ้าน
จนปัจจุบันวิถีการทำร่มของชาวชุมชนบ่อสร้างเติบโตเข้มแข็งกลายเป็นแหล่งทำร่ม Hand Made ด้วยรูปแบบของงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้านที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งของเมืองไทย
เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านบ่อสร้างเราจะพบเห็นร้านจำหน่ายร่มมากมาย และบ้านเรือนหลายหลังยังคงมีพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย นั่งทำร่มอยู่ที่ชั้นล่างของบ้าน อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ
นอกจากตามร้านค้าและตามบ้านเรือนแล้ว ที่บ้านบ่อสร้างยังมีแหล่งผลิตและจำหน่ายร่มแหล่งใหญ่อยู่ที่ “ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม” ซึ่งเป็นสถานที่ทำร่มที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อยกระดับงานศิลปหัตกรรมทำร่มในครัวเรือนให้เป็นอุตสาหกรรมการทำร่ม ด้วยการทำเป็นสินค้าที่ระลึก สินค้าส่งออก และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ชาวบ้านมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถสืบสานภูมิปัญญาการทำร่มสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้สืบต่อไป
ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือ ส่วนจำหน่ายสินค้าที่ระลึกในอาคารทางด้านหน้า ที่มีร่มสวยๆงามๆ หลากหลายรูปแบบให้เลือกซื้อเลือกหากันอย่างจุใจ ควบคู่ไปกับของที่ระลึกอื่นๆ
ขณะที่ส่วนที่สองเป็นส่วนการทำร่ม ที่จะมีชาวบ้านคุณป้า คุณลุง มานั่งทำร่มของจริงให้ชมกัน ใครถูกใจร่มสไตล์ไหนก็เดินเข้าไปเลือกซื้อเลือกหาในส่วนขายของที่ระลึกได้
สำหรับในส่วนของการทำร่มนี้ จะแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตต่างๆ เริ่มตั้งแต่วิธีการทำหัวและตุ้มร่ม การทำกระดาษสา การทำโครงร่ม การหุ้มร่ม การประกอบร่ม ไปจนถึงการเขียนลวดลายลงบนร่ม จนแล้วเสร็จนำมาเป็นร่มบ่อสร้างออกวางขาย
นับเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเกี่ยวกับการทำร่มที่มีความโดดเด่นน่าสนใจเป็นอย่างมาก จนสามารถคว้ารางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ รางวัลกินรี จาก ททท.มาครองได้ในปี 2541 การันตีในผลงาน คุณภาพ และความตั้งใจจริงของศูนย์แห่งนี้
เชียงใหม่-บ้านจ๊างนัก
ใน อ.สันกำแพง ยังมีอีกหนึ่งแหล่งสร้างสรรค์งานศิลปะในระดับสุดยอดแฝงกายซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งนักท่องเที่ยวหลายๆ คนอาจไม่รู้จักคุ้นเคย แต่เมื่อได้เข้าไปยลในสถานที่แห่งนี้แล้วต่างก็ชื่นชอบ ประทับใจกดไลค์รัวๆ ให้ไม่ยั้ง
สำหรับสถานที่ที่ว่านั้นก็คือ “บ้านจ๊างนัก” ที่ตั้งอยู่ที่ ต.บวกค้าง บ้านจ๊างนัก เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะรวบรวมงานแกะสลักไม้และงานประติมากรรมเกี่ยวกับช้าง ที่ถือว่าสุดยอดน่าทึ่งมากแห่งหนึ่งในเมืองไทย
บ้านจ๊างนัก(จ๊างหมายถึงช้าง นักหมายถึงเยอะในภาษากลาง) เกิดจากการรวมตัวของสล่า ศิลปิน ช่างฝีมือแห่งล้านนา นำโดย“สล่าเพชร วิริยะ” ซึ่งได้รวบรวมสมัครพรรคพวกเพื่อนฝูง ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหา ช่างแกะสลักฝีมือดีผู้มีใจรักในงานแกะสลักไม้แบบล้านนา มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่บ้านจ๊างนักแห่งนี้
บ้านจ๊างนักได้พัฒนารูปแบบการแกะสลักไม้จากเดิมที่ช่างแกะสลักกันด้วยรูปแบบตายตัว รูปทรงซ้ำไปซ้ำมา ให้เป็นการแกะสลักช้างในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเหมือนจริง และแบบนามธรรมที่ต้องใช้จินตนาการในการตีความ
โดยแบบเหมือนจริงนั้นถือเป็นดังไฮไลต์ของที่นี่ เป็นผลงานแกะสลักช้างในหลากหลายขนาด หลากหลายท่าทาง หลากหลายอิริยาบถ ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน หรือแม้แต่ช้างถ่ายอุจจาระ ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยชีวิตชีวา จนได้รับการยอมรับว่าบ้านจ๊างนักเป็นแหล่งสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเกี่ยวกับช้างที่เหมือนจริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกิริยาท่าทางที่ดู(เหมือน)มีชีวิต ดวงตาที่ดู(เหมือน)มีชีวิต ผิวหนังริ้วรอยที่ดูเหมือนจริงมากๆ
สำหรับจุดชมงานสร้างสรรค์ของศิลปินที่นี่ก็คือบนชั้น 2 ที่จัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์นำเสนอผลงานแกะสลักมากมายเกี่ยวกับช้าง ทั้งแบบเหมือนจริงและแบบนามธรรม ที่งานแต่ละชิ้นล้วนแต่สวยงาม มีชีวิต น่าทึ่ง มีทั้งงานแกะสลักช้างแบบลอยตัว แบบนูนต่ำ และนูนสูงที่กว๊านลึกลงไปเห็นรายละเอียดชัดเจน
ขณะที่บริเวณด้านหน้าของส่วนจัดแสดงก็มีการสร้างสรรค์ประติมากรรมช้างตัวโตๆ(งานปูน,และงานปูนผสมไม้) ให้ได้ชมกันแบบ(เหมือน)มีชีวิตอีกเช่นกัน
นับเป็นงานศิลปะจากฝีมือสล่าพื้นบ้านอันน่าทึ่ง และน่าภาคภูมิใจในฝีมือของคนไทยเป็นยิ่งนัก
เชียงใหม่-หอศิลป์
จากบ้านจ๊างนัก “ตะลอนเที่ยว” ไปต่อกันที่ “หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่” ที่ตั้งอยู่ที่สะดือเมือง ถ.พระปกเกล้า อ.เมือง ซึ่งเป็นการนำศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่าที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอันงดงาม มาปรับเปลี่ยนให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรม จัดแสดงเรื่องราวน่าสนใจต่างๆ เกี่ยวกับเวียงเชียงใหม่
ภายในแบ่งเป็น ส่วนจัดแสดง 15 ห้อง ไล่เรียงไปตั้งแต่การเกริ่นนำในห้อง“เชียงใหม่วันนี้” ต่อจากนั้นจึงเดินเรื่องตั้งแต่อดีตในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงเชียงใหม่ในยุคปัจจุบัน กับการจัดแสดงด้วยเทคนิคสมัยใหม่ ทั้งสไลด์ วีดิทัศน์ หุ่นจำลอง บอร์ดกราฟิก ทัชสกรีน ภาพประกอบคำบรรยาย และแสง สี เสียง เพื่อให้การชมนิทรรศการได้ทั้งความรู้ ดูน่าตื่นตาตื่นใจ และมากไปด้วยเนื้อหาสาระ
ขณะที่ด้านหน้าของอาคารหอศิลปวัฒนธรรมนั้นเป็นที่ตั้งของ “อนุสาวรีย์สามกษัตริย์” ประดิษฐานพระบรมรูปพระยามังราย พระร่วงแห่งสุโขทัย(พ่อขุนรามคำแหง) และพระยางำเมืองแห่งพะเยา ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของเชียงใหม่ที่แต่ละวันจะมีผู้คนแวะเวียนมาสักการะพระบรมรูปอนุสาวรีย์สามกษัตริย์กันไม่ได้ขาด
เชียงใหม่-พระธาตุดอยสุเทพ
จากนั้นเราไปปิดทริปกันที่ “พระธาตุดอยสุเทพ” แห่ง“วัดพระธาตุดอยสุเทพ” วัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่บนยอด“ดอยสุเทพ”
“พระธาตุดอยสุเทพ” เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ และเป็นพระธาตุประจำปีคนเกิดปีมะแม(แพะ) มีตำนานเล่าว่า หลังการบรรจุพระบรมธาตุไว้ที่ใต้ดินใต้องค์พระธาตุดอยสุเทพแล้ว องค์พระธาตุได้แผ่ความเป็นมงคลไปทั่วบ้านเมือง พุทธศาสนิกชนจึงเลื่อมใสศรัทธาในพระธาตุดอยสุเทพเรื่อยมานับจากอดีตถึงปัจจุบัน
สำหรับการบูชาองค์พระธาตุนั้น เชื่อกันว่าหากมาสักการะและอธิษฐานขอพรพระธาตุดอยสุเทพ จะมีแต่ความสำเร็จสมปรารถนา แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวงไปได้
นับเป็นการล่ำลาทริปเที่ยว “ลำพูน-ลำปาง-เชียงใหม่” 3 เมืองงามอันทรงเสน่ห์แห่งดินแดนล้านนากันด้วยความเป็นสิริมงคล
...และน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
*****************************************
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทางในจังหวัดลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ เพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ (รับผิดชอบพื้นที่ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่) โทร. 0-5324-8604-5
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com