กิจกรรมสำหรับช่วงปีใหม่ไทยแบบนี้ นอกจากจะได้พบปะสังสรรค์กันในหมู่พี่น้องเพื่อนฝูงและครอบครัวแล้ว ก็คือการออกไปทำบุญไหว้พระตามวัดวาอารามต่างๆ ที่จะช่วยให้จิตใจเป็นสุข และเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยความเป็นสิริมงคล
ซึ่งจังหวัดใกล้ๆ กรุงเพทฯ ก็มีวัดสำคัญหลายแห่ง และมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ที่ชาวพุทธนิยมแวะเวียนไปกราบไหว้ หนึ่งในนั้นก็คือ “พระ 5 พี่น้อง” ในเส้นทางทำบุญ “เบญจภาคีวารีปาฏิหาริย์”
ตามตำนานของพระ 5 พี่น้องตำนานหนึ่งระบุว่า พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ ต่างก็ลอยน้ำมาตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย และมีชาวบ้านมาพบเจอจึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและนำไปประดิษฐานไว้ตามวัดใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ
หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา
ประวัติของหลวงพ่อโสธรนั้น หลังจากที่ลอยน้ำมาถึงบริเวณหน้าวัดโสธร ชาวบ้านจำนวนมากมาช่วยกันฉุดองค์พระขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ต่อมาจึงมีผู้รู้คนหนึ่งได้ทำพิธีบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญ และใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์ก่อนจะฉุดขึ้นมาบนฝั่ง พระพุทธรูปองค์นี้จึงเสด็จขึ้นมาอยู่บนฝั่งได้ และชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอัญเชิญมาประดิษฐานที่พระวิหารในวัดโสธร
ปัจจุบัน “หลวงพ่อโสธร” หรือ “พระพุทธโสธร” ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถหินอ่อนหลังใหม่ของ “วัดโสธรวรารามวรวิหาร” อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยภายในพระอุโบสถหลังใหม่นี้ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามด้วยเรื่องราวของแดงแห่งทิพย์ และที่ใกล้กับพระอุโบสถหลังใหม่ ก็เป็นพระอุโบสถหลังเดิมที่ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาสักการะและปิดทองที่ตัวองค์พระได้
หลวงพ่อโต จ.สมุทรปราการ
สำหรับประวัติของหลวงพ่อโตนั้น หลังจากที่องค์พระลอยน้ำอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีชาวบ้านพยายามฉุดองค์พระขึ้นจากน้ำแต่ก็ไม่สำเร็จ จากนั้นองค์พระก็ลอยมาผุดขึ้นที่คลองสำโรง สมุทรปราการ ชาวบ้านแถบนี้จึงอาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดพลับพลาชัยขนะสงคราม หรือ วัดบางพลีใหญ่ใน จนถึงในปัจจุบัน
“หลวงพ่อโต” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ “วัดบางพลีใหญ่ใน” อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเหตุที่ชื่อว่าหลวงพ่อโตก็เนื่องจากองค์ท่านมีขนาดใหญ่โต หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ และมีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่สร้างพระอุโบสถเสร็จใหม่ๆ นั้นก็มีการวัดขนาดองค์พระกับช่องประตู โดยเผื่อความกว้างของช่องประตูไว้แล้ว แต่เมื่อถึงเวลาอัญเชิญหลงพ่อเข้าสู่พระอุโบสถจริงๆ ปรากฏว่าหลวงพ่อองค์ใหญ่กว่าช่องประตูมาก บางคนเชื่อว่าเป็นอภินิหารของหลวงพ่อโต จึงช่วยกันจุดธูปอธิษฐานขอให้หลวงพ่อผ่านเข้าประตูโบสถ์ไปได้ ซึ่งก็สามารถอัญเชิญหลวงพ่อผ่านเข้าประตูโบสถ์ได้อย่างง่ายดาย
หลวงพ่อทอง จ.เพชรบุรี
ตามตำนานเล่าต่อกันมาว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้เป็นลากอวนไปพบพระพุทธรูปปางมารวิชัยติดขึ้นมา จึงได้อาราธนาพระพุทธรูปขึ้นบนเรือแล้วกลับเข้าฝั่ง และนำมาประดิษฐานไว้ที่ “วัดเขาตะเครา” อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และประดิษฐานอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน
“หลวงพ่อทอง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เดิมชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อวัดเขาตะเครา ต่อมาเกิดเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ขึ้น จึงได้เปลี่ยนมาเรียกว่าหลวงพ่อทอง โดยชาวบ้านเชื่อกันว่า หลวงพ่อทองนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องโชคลาภ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ที่สมัครเรียน สมัครงาน ฯลฯ มักจะมาบนบานขอให้ได้ตามประสงค์ ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยก็มักมาบนบานขอให้หาย
หลวงพ่อบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม
ตำนานของหลวงพ่อบ้านแหลมเล่าต่อกันมาว่า ชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ขณะที่พบพระพุทธรูปลอยน้ำมาหนึ่งองค์ (หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา) และกำลังกลับเข้าฝั่ง ก็พบพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่มน้ำอยู่ไม่ไกลนัก เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร จึงได้อัญเชิญขึ้นเรืออีกลำหนึ่ง แต่พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดศรีจำปา ก็ได้เกิดมีฝนตกหนัก ลมพายุแรงจนทำให้เรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนนั้นล่มลง พระจมหายลงไปหาอย่างไรก็ไม่พบ
ต่อมา ชาวบ้านวัดศรีจำปาก็ช่วยกันลงค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง จนพบพระพุทธรูปยืนนั้นและอัญเชิญไปยังวัดศรีจำปา แต่เมื่อชาวบ้านแหลมที่เป็นผู้พบได้รู้ข่าวว่าเจอพระพุทธรูปที่จมน้ำแล้วจึงพากันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านวัดศรีจำปาก็ไม่ยอมคืนให้ จนสรุปสุดท้ายชาวบ้านแหลมจึงยินยอมยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปาไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดบ้านแหลม" ตามสถานที่ที่พบพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก และเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" ต่อมา
“หลวงพ่อบ้านแหลม” เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวใน 5 องค์ที่เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ “วัดบ้านแหลม” หรือ “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ชาวบ้านมักจะมาขอพรเรื่องความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน แคล้วคลาด ปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง
หลวงพ่อวัดไร่ขิง จ.นครปฐม
ประวัติของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนี้มีอยู่หลายแบบด้วยกัน บ้างก็ว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิงลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และชาวบ้านได้นำขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และเรียกท่านว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” บ้างก็เล่าว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมราชานุวัตรในพ.ศ.2394 และครองวัดศาลาปูนวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา อนุญาตให้อัญเชิญจากวัดศาลาปูนมาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิง โดยอัญเชิญล่องแพมาทางลำน้ำ
และในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันสงกรานต์พอดี ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพนั้น แสงแดดที่ส่องแรงก็กลายเป็นเมฆดำ มีฟ้าร้องฝนตกโปรยปรายลงมา ทำให้คนที่อยู่ ณ ที่นั้นเกิดความชื่นใจ เชื่อว่าหลวงพ่อจะช่วยทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป
แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก หรือไม่อยากนั่งรถเดินทางไกลๆ ที่ “วัดไร่ขิง” อ.สามพราน จ.นครปฐม ก็มีการจำลองพระ 5 พี่น้อง หรือพระเบญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ ไว้ที่ศาลาริมน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะ เรียกว่ามาวัดเดียวก็สามารถไหว้พระ 5 พี่น้อง (จำลอง) ได้ครบถ้วน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com