1 กันยายน 2533 เสียงปืนดังก้องป่า เมื่อ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองเพื่อเรียกร้องให้สังคมและหน่วยงานราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง
กระสุนปืนนัดนั้นก่อให้เกิดผลตามมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง และการสร้างกระแสอนุรักษ์ให้เข้มข้นและจริงจังขึ้นครั้งใหญ่ นอกจากนั้นก็คือการก่อตั้ง “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ขึ้นหลังจากวันพระราชทานเพลิงศพของสืบเพียง 10 วัน คือวันที่ 18 กันยายน 2533 โดยมูลนิธิฯ มีบทบาทในการสนับสนุนงานอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า คัดค้านโครงการนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผืนป่า โดยเฉพาะในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าตะวันตกและแหล่งธรรมชาติอื่นๆ ในประเทศไทย
ปัญหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์อย่างหนึ่งที่มูลนิธิสืบฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไข คือปัญหาเรื้อรังที่มีมายาวนานก่อนหน้าการตายของสืบเสียอีก นั่นก็คือหลังจากที่มีการประกาศให้ผืนป่าตะวันตกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางในช่วงปี 2517 ภาครัฐจึงมีความพยายามที่จะขับไล่ชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลางป่ามาก่อนนานนับร้อยๆ ปี โดยเฉพาะชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่มีจำนวนมากที่สุดให้ออกจากพื้นที่ อีกทั้งยังมองว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นคนทำลายป่า มองว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า อีกทั้งยังเห็นว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวคือต้องใช้กฎหมายปราบปรามอย่างเข้มงวด
ด้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่นี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษก็ไม่รู้กฎหมาย เมื่อถูกยึดพื้นที่ทำกินก็โกรธแค้นและทำให้ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ออกไปเรื่อยๆ จนเป็นการทำลายป่าไม้เพิ่มขึ้น ทั้งยังสร้างความขัดแย้งและเกลียดชังที่ร้าวลึกขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้เลย
เพื่อเข้าไปเป็นคนกลางประสานรอยร้าวระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและชุมชนชาวกะเหรี่ยง โครงการ “จอมป่า” จึงเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของมูลนิธิสืบฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาแห่งประเทศเดนมาร์ก (DANIDA) ทำให้เกิดโครงการ “การจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม” (Joint Management of Protected Areas หรือ JoMPA) ซึ่งเรียกย่อๆ เป็นภาษาไทยว่า “จอมป่า” ขึ้น ในช่วงปี 2547
ทั้งนี้พื้นที่ของโครงการจอมป่าก็คือ “ผืนป่าตะวันตก” ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าใหญ่ฝั่งตะวันตกของไทยบริเวณเทือกเขาถนนธงชัยต่อกับเทือกเขาตะนาวศรี และมีอาณาเขตต่อเนื่องกับป่าใหญ่ในประเทศพม่า ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสภาพธรรมชาติที่ต่อเนื่องใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กินพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี โดยมีพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง ได้แก่ อุ้มผาง เขาสนามเพรียง ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ห้วยขาแข้ง และสลักพระ รวมถึงอุทยานแห่งชาติ 9 แห่ง ได้แก่ คลองวังเจ้า คลองลาน แม่วงก์ พุเตย เฉลิมรัตนโกสินทร์ เขื่อนศรีนครินทร์ เอราวัณ ไทรโยค เขาแหลม ลำคลองงู และทองผาภูมิ
วันนี้มีโอกาสได้คุยกับ ยุทธชัย บุตรแก้ว หัวหน้าภาคสนามพื้นที่อุ้มผาง จ.ตาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่โครงการจอมป่า (อีก 4 พื้นที่ได้แก่ สุพรรณบุรี, นครสวรรค์และกำแพงเพชร, กาญจนบุรี, อุทัยธานี) โดยยุทธชัยเป็นเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงานในโครงการจอมป่าเมื่อปี 2548 และเล่าถึงการเข้าไปทำงานท่ามกลางความขัดแย้งว่า
“ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็มีมาตลอด บางทีก็รุนแรงถึงขั้นลอบทำร้าย บางครั้งเจ้าหน้าที่เข้าไปยึดพื้นที่ ชาวบ้านก็หนีไป แต่พอเจ้าหน้าที่กลับไปก็มาถางป่าต่อ ก็เลยแก้ปัญหากันไม่จบ คือชาวบ้านเขาก็ต้องทำกิน เจ้าหน้าที่เองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งพอเราเข้าไปทำงานก็เข้าใจทั้งสองฝ่าย แต่ก็คิดว่าจะหาทางแก้ปัญหาร่วมกันยังไง”
“ช่วงแรกๆ ต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ กว่าที่ชาวบ้านจะเข้าใจว่าเราเข้ามาเป็นคนกลางจริงๆ และเจ้าหน้าที่รู้ว่าเรามาช่วยเสริมช่วยหนุน ช่วงแรกๆ ใช้เวลาเฉพาะทำความรู้จักและเข้าใจกันเบื้องต้นก็ประมาณปีกว่าๆ” ยุทธชัยกล่าว
“วิธีการแก้ปัญหาก็คือต้องทำให้เขายอมรับเราได้ อย่างเช่นต้องเข้าไปก็เรียนรู้ชุมชน ต้องเรียนรู้วิถีชีวิตเขา เข้าไปพูดคุยดูว่าเขามีปัญหาอะไร จนเขาค่อยๆ เปิดปัญหาออกมาว่าจริงๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งคนในชุมชนเองไม่ได้อยากมีปัญหา ชาวบ้านบอกเราว่า ถ้าตรงไหนที่ให้เราทำกินได้ให้บอกมา ตรงไหนที่ไม่ให้ทำก็บอกให้ชัด ส่วนเจ้าหน้าที่เองด้วยนโยบายด้วยกฎหมายเขาก็เลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน ถามว่าอยากมีเจตนาทะเลาะไหมก็ไม่มี แต่โดยหน้าที่มันต่างกันทำให้ทะเลาะกัน”
ด้าน สุชาติ จันทร์หอมหวล ประธานคณะกรรมการภูมินิเวศผืนป่าตะวันตก พื้นที่อุ้มผาง คณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และที่ปรึกษาชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์อุ้มผาง ก็เล่าให้ฟังถึงความขัดแย้งในช่วงแรกๆ โดยยกตัวอย่างการลาดตระเวนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านว่า “แต่ก่อนเจ้าหน้าที่บางคนจะรู้สึกว่า ถ้าให้ชาวบ้านมาร่วมลาดตระเวนด้วยเขาจะรู้ว่าสัตว์ป่าอยู่ตรงไหน พื้นที่เป็นยังไง แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านรู้มากกว่าเจ้าหน้าที่อีก เพราะฉะนั้นถ้าร่วมกันลาดตระเวนก็จะมีความรู้สึกว่าต่างคนต่างรู้ เพราะฉะนั้นก็ต้องร่วมกันรักษา ถ้าไปดูไปเห็นด้วยกัน เวลาที่อะไรมันหายไปจะเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ไม่สามารถจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้”
ส่วนยุทธชัยมีความเห็นว่า แม้ชาวบ้านจะไม่รู้กฎหมาย แต่ก็มีจารีตมีกติกาหมู่บ้านที่ใช้ปกครองกันมานาน ซึ่งบางอย่างก็ตรงกับกฎหมาย เช่น การรักษาป่าต้นน้ำ วิถีความเชื่อว่าไม้ตะเคียนห้ามตัด พื้นที่ที่เป็นต้นน้ำ ตาน้ำก็ห้ามไปฟันไร่ตรงนั้นเพราะมีเจ้าที่เจ้าทางรักษาอยู่ เป็นต้น จึงเอาประเด็นเหล่านี้ที่ดีกับทั้งสองฝ่ายมาตั้งเวทีแลกเปลี่ยนให้ทุกฝ่ายได้คุยกัน แต่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเข้าใจกัน
ความเชื่อเดิมๆ ที่หลายคนมองว่าชาวกะเหรี่ยงทำลายป่า แท้จริงแล้วความผูกพันของคนกะเหรี่ยงกับป่ามีมาอย่างยาวนาน ยุทธชัยเล่าว่า “ชาวกะเหรี่ยงอยู่กับป่าตลอด เมื่อก่อนนี้ไม่ใช้เงินก็อยู่ได้ ที่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ ก็คือสิ่งที่เขาผลิตไม่ได้ เช่น เกลือ หรือยารักษาโรค นอกนั้นไม่มีอะไร เพราะฉะนั้นการอยู่กินกับป่าที่อุดมสมบูรณ์ก็จะทำให้เกิดการรักษาโดยอัตโนมัติ กลายเป็นภูมิปัญญาต่างๆ ถ้าในปัจจุบันก็ต้องเรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้าไม่มีป่าเขาอยู่ไม่ได้แน่นอน ดังนั้นการรักษาป่านั้นเป็นความเชื่อที่บรรพบุรุษของเขาสั่งสอนมาอยู่แล้ว ช่วงแรกๆ จึงมีคำถามจากชุมชนในป่าว่า จะมาสอนให้ชาวบ้านรักษาป่า เราอยู่กับป่ามาสองสามร้อยปีแล้วตามวิถีของกะเหรี่ยง ยังต้องมาสอนให้เรารักษาป่าอีกหรือ ถามว่าวันนี้จะมาสอนให้เรารักษาป่า มีความรู้มากกว่าเราแค่ไหน”
แต่ทุกวันนี้ที่ความเจริญเริ่มรุกคืบเข้าไป เงินเริ่มมีส่วนสำคัญมากขึ้นกับชุมชน การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงไม่ได้ทำให้ป่าถูกทำลายมากไปกว่าการหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ ซึ่งสร้างรายได้ให้มากกว่า นอกจากนั้นการลักลอบตัดไม้จากคนข้างนอก ก็เป็นปัญหาที่ทั้งเจ้าหน้าที่และชุมชนต้องร่วมกันแก้ โดยทางเจ้าหน้าที่และชุมชนได้ร่วมกันหมายแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนเพื่อไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม มีการตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาดูแลพื้นที่ป่า ตั้งกฎกติกาการใช้ประโยชน์ กระทั่งการเข้าไปฟื้นฟูวัฒนธรรมเดิมของชาติพันธุ์ที่มีคำสอนเกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าให้กลับมาอีกครั้ง ก็ถือเป็นการทำงานร่วมกันที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งที่เคยมีมากลับคลี่คลายไปในทางที่ดีในที่สุด
“ตอนนี้ถ้าดูตามแผนงานก็ถือว่าได้ผลแล้ว เราจำกัดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เรามีกติกา มีคณะกรรมการชุมชน มีแนวเขตชัดเจน ตรงไหนเป็นที่ทำกิน ตรงไหนเป็นนา ตรงไหนเป็นหมู่บ้าน มีแผนข้อมูลชุมชน เรามีเป้าว่าในแผนระยะยาว ถ้าทุกคนใช้ฐานข้อมูลเดียวกันปัญหามันก็น่าจะลดลง จากเคยเป็นศัตรูตอนนี้ก็เป็นเพื่อนกัน เมื่อก่อนกินข้าวด้วยกันไม่ได้ ตอนนี้กินได้ มาช่วยกันหาแนวทางว่าจะรักษาป่ากันยังไง เป็นการมีส่วนร่วมที่ทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันในระยะยาว ความขัดแย้งมันก็จางไป แต่ถามว่าหมดไหมก็ยังไม่หมดเพราะบางครัวเรือนก็ยังมีปัญหาหนี้สิน หรือบางครั้งก็มีนโยบายต่างๆ ที่ไม่สอดคล้อง” ยุทธชัยกล่าว
นอกจากการร่วมกันเดินแนวเขตที่ทำกินของชุมชนแล้ว ทางมูลนิธิสืบฯ และหน่วยงานต่างๆ ยังเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวกะเหรี่ยงด้วย เช่น โครงการผ้าทอ ที่ได้นำผ้าทอจากแม่บ้านกะเหรี่ยงไปขายให้แก่ผู้คนภายนอก โครงการพริกแลกเกลือ ที่ให้เอาสิ่งที่เขามีอยู่ไปแลกกับสิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องใช้เงินก็ได้ และยังมีโรงตีมีด เพราะมีดคือสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของคนกะเหรี่ยง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการออกจากป่ามาซื้อมีด จึงได้สร้างโรงตีมีดพร้อมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย โครงการเหล่านี้ยังทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพของคนกะเหรี่ยงที่เหมาะสมกับพื้นที่ เหมาะกับวิถีชีวิต โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าหรือสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น สุชาติ ยังเล่าให้ฟังถึง “กลุ่มต้นทะเล” อันหมายถึงชุมชนกะเหรี่ยงที่อุ้มผางเพราะเป็นต้นน้ำแม่กลองที่ไหลออกสู่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีโครงการพริกแลกเกลือ นำโดยตัวแทนชุมชนจากป่าอุ้มผางกับคนปลายน้ำที่แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม มาทำกิจกรรมร่วมกัน ทางปลายน้ำส่งเกลือมาให้ ทางต้นน้ำส่งพริกไปแลก นำคนในชุมชนมาแลกเปลี่ยนกัน คนสมุทรสงครามขึ้นมาดูคนต้นน้ำว่าเขาดูแลผืนป่าอย่างไร ไม่ใช้สารเคมีอย่างไร คนปลายน้ำช่วยหากองทุนมาเพื่อให้เราทำงานต่อไป เป็นความร่วมมือที่เชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี
กว่า 10 ปีที่ทำงานอย่างทุ่มเทในการเป็นคนกลางสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชนในป่าและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นับเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งที่ยุทธชัยมีโอกาสช่วยเหลือ สืบ นาคะเสถียร ที่เปรียบเสมือนต้นแบบในการทำงานของเขา
“เมื่อก่อนก็ไม่รู้จักว่าคุณสืบเป็นใครทำอะไร แต่พอคุณสืบเสียชีวิตในปี 2533 ตอนนั้นเป็นช่วงวัยรุ่นที่พยายามจะทำประโยชน์ให้สังคม เลยเกิดความคิดว่ายังมีนักอนุรักษ์ที่เสียสละขนาดนี้ ก็เริ่มศรัทธาคุณสืบตั้งแต่นั้นมา เหมือนว่าคุณสืบเป็นต้นแบบที่ทำให้เราเป็นเราวันนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามาทำงานมูลนิธิสืบฯ ด้วยซ้ำไป พอเข้ามาทำงานที่นี่ก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจว่าเราได้ช่วยเหลือคุณสืบจริงๆ ได้ทำงานตามแนวทางที่คุณสืบตั้งใจจะรักษาผืนป่าตะวันตกไว้ มีแนวทางมีกระบวนการมีรูปแบบที่เห็นเด่นชัด เราก็จะสามารถรักษาป่าทั้งประเทศได้” ยุทธชัยกล่าวปิดท้าย
แม้ สืบ นาคะเสถียร จะจากโลกนี้ไปนานถึง 24 ปีแล้วก็ตาม น่าดีใจว่าแนวทางการอนุรักษ์และดูแลผืนป่าตะวันตกก็ยังคงมีคนตั้งใจสืบทอดและทำงานตามแนวคิด “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสือก็อยู่ได้” ตามที่ สืบ นาคะเสถียร เคยกล่าวไว้ว่า
“ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนต้องอยู่ได้ก่อน เพราะคนที่ด้อยโอกาสในสังคมเขาไม่สามารถจะไปเรียกร้องอะไร เขาไม่มีอำนาจ ไม่มีอิทธิพลอะไร คนพวกนี้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับป่าไม้ เขาควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากป่า ผมคิดว่าป่าจะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับคนเหล่านี้ด้วย หากคนของรัฐเข้าใจปัญหานี้ แล้วกำหนดนโยบายออกมาเพื่อคนกลุ่มนี้บ้าง ปัญหาก็จะหมดไป”
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com